คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 20741/2556

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตาม พ.ร.บ.เลื่อยโซ่ยนต์ พ.ศ.2545 มาตรา 3 บัญญัติว่า ในพระราชบัญญัตินี้ เลื่อยโซ่ยนต์หมายความว่า เครื่องมือสำหรับใช้ตัดไม้หรือแปรรูปไม้ที่มีฟันเลื่อยติดกับโซ่ซึ่งขับเคลื่อนด้วยกำลังเครื่องจักรกล และให้หมายความรวมถึงส่วนหนึ่งส่วนใดที่เป็นส่วนประกอบของเครื่องมือดังกล่าวด้วย ทั้งนี้ ตามที่รัฐมนตรีกำหนดในกฎกระทรวง บทบัญญัติดังกล่าว ให้ความหมายของเลื่อยโซ่ยนต์ไว้ชัดเจนแล้วว่า เลื่อยโซ่ยนต์ หมายถึง เครื่องมือใช้สำหรับตัดไม้ หรือแปรรูปไม้ที่มีฟันเลื่อยติดกับโซ่ซึ่งขับเคลื่อนด้วยกำลังเครื่องจักรกล และมาตรา 2 ของพระราชบัญญัตินี้ยังบัญญัติให้กฎหมายมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ซึ่งมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2545 และสอดคล้องกับความในมาตรา 14 ที่บัญญัติให้ผู้ที่มีเลื่อยโซ่ยนต์อยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ถ้ามาขอรับใบอนุญาตภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ผู้นั้นไม่มีความผิดตามมาตรา 4 เมื่อขณะที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ที่ 3 ถึงที่ 6 ในความผิดฐานร่วมกันมีเลื่อยโซ่ยนต์ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตยังไม่มีกฎกระทรวงที่ออกตามมาตรา 3 ดังกล่าวออกมา ไม่ว่ากฎกระทรวงจะมีผลใช้บังคับได้ตามกฎหมายหรือไม่ กรณีไม่มีเหตุที่โจทก์ต้องบรรยายฟ้องถึงลักษณะของเลื่อยโซ่ยนต์ให้เป็นไปตามกฎกระทรวงตามที่จำเลยที่ 1 ที่ 3 ถึงที่ 6 ยกขึ้นอ้างในฎีกา คำฟ้องโจทก์จึงชอบด้วยกฎหมาย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งหกตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 4, 7, 48, 69, 73, 74, 74 ทวิ, 74 จัตวา พระราชบัญญัติเลื่อยโซ่ยนต์ พ.ศ.2545 มาตรา 3, 4, 13, 17 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 83, 91 ริบของกลางทั้งหมด จ่ายสินบนนำจับตามกฎหมาย และนับโทษจำเลยที่ 2 ต่อจากโทษของจำเลยที่ 2 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 968/2551 และ 545/2551 ของศาลชั้นต้นและนับโทษจำเลยที่ 5 ต่อจากโทษของจำเลยที่ 3 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1314/2550 ของศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งหกให้การปฏิเสธ แต่จำเลยที่ 2 และที่ 5 รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งหกมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 48 วรรคหนึ่ง, 69 วรรคหนึ่ง, 73 วรรคหนึ่ง พระราชบัญญัติเลื่อยโซ่ยนต์ พ.ศ.2545 มาตรา 4 วรรคหนึ่ง, 17 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันแปรรูปไม้ จำคุกคนละ 1 ปี ฐานมีไม้แปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุกคนละ 1 ปี ฐานมีไม้หวงห้ามอันยังมิได้แปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุกคนละ 6 เดือน ฐานร่วมกันมีเลื่อยโซ่ยนต์ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุกคนละ 6 เดือน ชั้นจับกุม จำเลยทั้งหกให้การรับสารภาพ และทางนำสืบของจำเลยทั้งหกเป็นประโยชน์ในการพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ลดโทษให้คละกระทงละหนึ่งในสาม คงจำคุกคนละ 24 เดือน นับโทษจำเลยที่ 2 คดีนี้ต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 968/2551 และคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 545/2551 ของศาลชั้นต้นส่วนที่โจทก์ขอให้นับโทษจำเลยที่ 5 คดีนี้ต่อจากโทษจำเลยที่ 3 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1314/2550 ของศาลชั้นต้น นั้น คดีดังกล่าวศาลยกฟ้องจำเลยที่ 3 โจทก์อุทธรณ์ ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 3 ยังมิได้มีคำพิพากษา จึงให้ยกคำขอในส่วนนี้ ริบไม้ประดู่แปรรูปและยังมิได้แปรรูป เลื่อยโซ่ยนต์ เลื่อยวงเดือน รถไถนาเดินตามพร้อมกระบะของกลาง เนื่องจากศาลมิได้ปรับจำเลยทั้งหก จึงไม่อาจจ่ายสินบนนำจับตามกฎหมาย ยกคำขอในส่วนนี้
จำเลยทั้งหกอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 แผนกคดีสิ่งแวดล้อมพิพากษาแก้เป็นว่า ฐานมีไม้แปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตและฐานมีไม้หวงห้ามอันยังมิได้แปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุกคนละกระทงละ 3 เดือน ลดโทษให้กระทงละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุกคนละกระทงละ 2 เดือน รวมกับโทษฐานอื่นตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นเป็นจำคุกคนละ 16 เดือน นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งหกฎีกา
ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา จำเลยที่ 2 ขอถอนฎีกา ศาลฎีกาอนุญาต
ศาลฎีกาแผนกคดีสิ่งแวดล้อมวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 6 เพียงประการเดียวว่า ฟ้องโจทก์ในความผิดฐานมีเลื่อยโซ่ยนต์ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต เป็นคำฟ้องที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ จำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 6 ฎีกาว่า เลื่อยโซ่ยนต์ตามความหมายในมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติเลื่อยโซ่ยนต์ พ.ศ.2545 หมายความว่า เครื่องมือสำหรับใช้ตัดไม้หรือแปรรูปไม้ ที่มีฟันเลื่อยติดกับโซ่ ซึ่งขับเคลื่อนด้วยกำลังเครื่องจักรกล และให้หมายความรวมถึงส่วนหนึ่งส่วนใดที่เป็นส่วนประกอบของเครื่องมือดังกล่าวด้วย ทั้งนี้ตามที่รัฐมนตรีกำหนดในกฎกระทรวง ซึ่งต่อมารัฐมนตรีได้ออกกฎกระทรวง กำหนดลักษณะเลื่อยโซ่ยนต์และส่วนประกอบของเลื่อยโซ่ยนต์ พ.ศ.2551 ว่า เลื่อยโซ่ยนต์ หมายความว่า (1) เครื่องมือสำหรับใช้ตัดไม้หรือแปรรูปไม้ที่มีฟันเลื่อยติดกับโซ่ซึ่งขับเคลื่อนด้วยกำลังเครื่องจักรกลที่ผลิตและประกอบสำเร็จรูปเพื่อการใช้งาน ที่มีต้นกำลังเกินกว่า 2 แรงม้า โดยมีแผ่นบังคับโซ่ ที่มีขนาดความยาวเกินกว่า 12 นิ้ว แต่โจทก์ไม่ได้บรรยายในคำฟ้องและกล่าวถึงคุณลักษณะของเลื่อยโซ่ยนต์ที่จะเป็นความผิดดังที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงดังกล่าวแต่อย่างใด ฟ้องโจทก์จึงไม่ชอบนั้น เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติเลื่อยโซ่ยนต์พ.ศ.2545 มาตรา 3 บัญญัติว่า ในพระราชบัญญัตินี้เลื่อยโซ่ยนต์หมายความว่า เครื่องมือสำหรับใช้ตัดไม้หรือแปรรูปไม้ที่มีฟันเลื่อยติดกับโซ่ ซึ่งขับเคลื่อนด้วยกำลังเครื่องจักรกล และให้หมายความรวมถึงส่วนหนึ่งส่วนใดที่เป็นส่วนประกอบของเครื่องมือดังกล่าวด้วย ทั้งนี้ ตามที่รัฐมนตรีกำหนดในกฎกระทรวงบทบัญญัติดังกล่าว ให้ความหมายของเลื่อยโซ่ยนต์ไว้ชัดเจนแล้วว่า เลื่อยโซ่ยนต์ หมายถึง เครื่องมือใช้สำหรับตัดไม้หรือแปรรูปไม้ที่มีฟันเลื่อยติดกับโซ่ ซึ่งขับเคลื่อนด้วยกำลังเครื่องจักรกล และมาตรา 2 ของพระราชบัญญัตินี้ยังบัญญัติให้กฎหมายมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ซึ่งมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2545 และสอดคล้องกับความในมาตรา 14 ที่บัญญัติให้ผู้ที่มีเลื่อยโซ่ยนต์อยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ถ้ามาขอรับใบอนุญาตภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ผู้นั้นไม่มีความผิดตาม มาตรา 4 เมื่อขณะที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 6 ในความผิดฐานร่วมกันมีเลื่อยโซ่ยนต์ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตยังไม่มีกฎกระทรวงที่ออกตามมาตรา 3 ดังกล่าวออกมา ไม่ว่ากฎกระทรวงจะมีผลใช้บังคับได้ตามกฎหมายหรือไม่ กรณีไม่มีเหตุที่โจทก์ต้องบรรยายฟ้องถึงลักษณะของเลื่อยโซ่ยนต์ให้เป็นไปตามกฎกระทรวงตามที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 6 ยกขึ้นอ้างในฎีกาแต่อย่างใด คำฟ้องของโจทก์จึงชอบด้วยกฎหมาย ฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 6 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share