คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2073/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขอแบ่งกรรมสิทธิ์รวมจากจำเลยทั้งสอง จำเลยร่วมยื่นคำให้การและฟ้องแย้งโดยยื่นรวมมาในฉบับเดียวกันกับจำเลยทั้งสองแล้ว ในวันเดียวกันจำเลยร่วมยังได้ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นจำเลยร่วม (จำเลยที่ 3) ด้วยและศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตแล้ว ทั้งตามคำร้องขอเข้าเป็นจำเลยร่วมประกอบคำให้การและฟ้องแย้งของจำเลยร่วม (จำเลยที่ 3) ที่ว่าที่พิพาทจำเลยร่วมเป็นเจ้าของรวมกับจำเลยทั้งสองเพราะได้แย่งการครอบครองจากโจทก์ทั้งสองแล้ว ขอให้ยกฟ้องและพิพากษาว่าที่พิพาทเป็นของจำเลยร่วมและจำเลยทั้งสอง คำฟ้องโจทก์ทั้งสองที่ขอแบ่งกรรมสิทธิ์รวมเช่นนี้มีผลกระทบต่อจำเลยร่วม แม้คำร้องขอจะกล่าวว่าขอเข้าเป็นจำเลยร่วมตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (2) ก็ตาม แต่เมื่อเป็นที่เห็นได้ว่าเป็นคำร้องขอเพื่อยังให้ได้รับความรับรองคุ้มครองหรือบังคับตามสิทธิของจำเลยร่วมที่มีอยู่ตาม มาตรา 57 (1) การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า จำเลยที่ 3 (จำเลยร่วม) ไม่ได้เข้ามาเป็นคู่ความด้วยการร้องสอดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 กับให้เพิกถอนและมีคำสั่งไม่รับคำให้การและฟ้องแย้งจำเลยที่ 3 (จำเลยร่วม) ย่อมเป็นการไม่ชอบ จึงให้เพิกถอนคำสั่งศาลชั้นต้นและคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ในส่วนนี้เป็นให้รับคำให้การและฟ้องแย้งจำเลยที่ 3 (จำเลยร่วม)
เหตุที่จำเลยทั้งสองและจำเลยร่วมอ้างถึงการแย่งการครอบครองที่พิพาทโจทก์ทั้งสองสืบเนื่องมาจากจำเลยที่ 2 จำเลยร่วมเคยฟ้องโจทก์ทั้งสองคดีนี้กับพวกคดีถึงที่สุดในคดีก่อนโดยศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่พิพาทเป็นของจำเลยที่ 2 และ ม. บิดาโจทก์ทั้งสองคดีนี้คนละ 1 ใน 3 ส่วน ต่อมาโจทก์ทั้งสองในฐานะทายาทของ ม. ได้ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองนำหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่พิพาทส่งศาลเพื่อให้โจทก์ทั้งสองนำไปจดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์ทั้งสองคดีนี้แทน คดีหลังถึงที่สุดโดยศาลฎีกาพิพากษาให้จำเลยทั้งสองคดีนี้นำหนังสือรับรองการทำประโยชน์ดังกล่าวส่งศาลเพื่อให้โจทก์ทั้งสองคดีนี้นำไปจดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์ทั้งสองคดีนี้ และโจทก์ทั้งสองคดีนี้ได้จดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์ทั้งสองแทนนายโม่งแล้ว ผลของคดีตามคำพิพากษาศาลฎีกาทั้งสองสำนวนดังกล่าวยังคงผูกพันจำเลยทั้งสองและจำเลยร่วมกับโจทก์ทั้งสองคดีนี้ซึ่งเป็นผู้สืบสิทธิของ ม. ฉะนั้นในการครอบครองของจำเลยทั้งสองคดีนี้และจำเลยร่วมนับแต่วันที่ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษามาจึงเป็นการครอบครองที่ดินพิพาทแทนโจทก์ทั้งสอง จำเลยทั้งสองและจำเลยร่วมจะเปลี่ยนแปลงอ้างเหตุว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยทั้งสองและจำเลยร่วม ก็ต่อเมื่อได้เปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือโดยต้องแสดงเจตนาแห่งการยึดถือโดยบอกกล่าวไปยังโจทก์ทั้งสองคดีนี้ผู้มีสิทธิครอบครองว่าจำเลยทั้งสองคดีนี้และจำเลยร่วมไม่มีเจตนาจะยึดถือแทนโจทก์ทั้งสองคดีนี้ผู้มีสิทธิครอบครองต่อไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 1381 แต่ตามคำให้การและฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสองคดีนี้และจำเลยร่วมไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองและจำเลยร่วมได้มีการแสดงเจตนาดังกล่าวข้างต้นให้โจทก์ทั้งสองคดีนี้ทราบ จำเลยทั้งสองคดีนี้และจำเลยร่วมจึงไม่อาจอ้างเหตุแย่งการครอบครองเกิน 1 ปี ตามที่จำเลยทั้งสองคดีนี้และจำเลยร่วมให้การและฟ้องแย้งมายันโจทก์ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองไปขอแบ่งแยกที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓) เลขที่ ๓ ตำบลสำราญ อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น ต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดขอนแก่นภายในเวลาที่ศาลกำหนด หากจำเลยทั้งสองไม่ไปดำเนินการ ขอให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง โดยขอให้ศาลมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดขอนแก่นรังวัดแบ่งแยกที่ดินเฉพาะส่วนของโจทก์ทั้งสองออกเป็นเอกสารสิทธิแก่โจทก์ทั้งสอง โดยให้โจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งสองเสียค่าธรรมเนียมการรังวัดและแบ่งแยกตามส่วน
ระหว่างพิจารณานางกองยื่นคำร้องว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองขอแบ่งกรรมสิทธิ์รวม เนื่องจากผู้ร้องเป็นผู้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่พิพาทร่วมกับจำเลยทั้งสอง เป็นผู้มีส่วนได้เสียตามกฎหมายในผลแห่งคดีนี้ เพราะผู้ร้องเป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทตามกฎหมายแล้ว จึงขอเข้าเป็นจำเลยร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาตและในวันเดียวกันนั้น นางกองได้ยื่นคำให้การและฟ้องแย้งมาในฉบับเดียวกับคำให้การและฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสองโดยระบุว่านางกองเป็นจำเลยที่ ๓
จำเลยทั้งสาม (จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ กับจำเลยร่วม) ให้การและฟ้องแย้งว่า ที่พิพาทตกเป็นสิทธิของจำเลยทั้งสามแล้ว ขอให้ยกฟ้องและพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีสิทธิครอบครองในที่พิพาทห้ามโจทก์ทั้งสองและบริวารเข้าเกี่ยวข้องต่อไป
โจทก์ทั้งสองให้การแก้ฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องแย้ง
วันนัดสืบพยานโจทก์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า จำเลยที่ ๓ (หมายถึง จำเลยร่วม) ไม่ได้ถูกโจทก์ฟ้องได้ยื่นคำให้การและฟ้องแย้งด้วยจึงไม่ใช่คู่ความ ทั้งจำเลยที่ ๓ (จำเลยร่วม) ก็ไม่ได้เข้ามาเป็นคู่ความด้วยการร้องสอดตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๕๗ ดังนั้น การที่ศาลรับคำให้การและฟ้องแย้งของจำเลยที่ ๓ จึงเป็นการผิดหลง ให้เพิกถอนและมีคำสั่งไม่รับคำให้การและฟ้องแย้งของจำเลยที่ ๓ และเห็นว่า คดีพอวินิจฉัยได้แล้วจึงมีคำสั่งให้งดสืบพยานโจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งสอง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยทั้งสองแบ่งแยกที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ ๓ ตำบลสำราญ อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น ให้แก่โจทก์ทั้งสองตามส่วนภายในเวลา ๓๐ วัน นับแต่วันที่ศาลอ่านคำพิพากษา หากจำเลยทั้งสองไม่ไปให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาโดยให้โจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งสองเสียค่าธรรมเนียมการรังวัดและแบ่งแยกตามส่วน ให้ยกฟ้องแย้ง คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งสองและจำเลยร่วมอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองและจำเลยร่วมฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติโดยคู่ความไม่โต้แย้งในชั้นนี้ว่า โจทก์ทั้งสองเป็นบุตรนายโม่ง ต่อมานายโม่งถูกศาลสั่งเป็นคนสาบสูญ เดิมคดีแรกจำเลยที่ ๒ นายสอนและจำเลยร่วม ได้ฟ้องโจทก์ทั้งสองกับพวกขอให้พิพากษาว่าที่พิพาทเป็นของจำเลยที่ ๒ นายสอนและจำเลยร่วม ห้ามมิให้โจทก์ทั้งสองกับพวกเข้าเกี่ยวข้องกับที่พิพาท ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค ๑ พิพากษายกฟ้อง ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า นายโม่งเป็นเจ้าของ ที่พิพาทร่วมกับจำเลยที่ ๒ และนายสอน พิพากษาแก้เป็นว่า ที่พิพาทเป็นของนายสอนและจำเลยที่ ๒ คนละ ๑ ใน ๓ ส่วน คดีถึงที่สุด ตามคำพิพากษาของศาลฎีกาที่ ๓๗๘๑/๒๕๓๓ หลังจากนั้นโจทก์ทั้งสองคดีนี้ฟ้องจำเลยทั้งสองคดีนี้เป็นคดีที่สองให้ส่งหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓) ของที่พิพาทให้แก่โจทก์ทั้งสองเพื่อใส่ชื่อโจทก์ทั้งสองลงใน น.ส. ๓ ดังกล่าวแทนนายโม่งผู้เป็นบิดา คดีถึงที่สุดโดยศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลล่างทั้งสองให้จำเลยทั้งสองส่งมอบ น.ส. ๓ ที่พิพาทให้โจทก์ทั้งสองตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๓๕๕/๒๕๓๙ ซึ่งโจทก์ทั้งสองได้ไปดำเนินการใส่ชื่อโจทก์ทั้งสองแทนชื่อนายโม่งแล้ว ต่อมาวันที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๔๐ โจทก์ทั้งสองฟ้องขอแบ่งที่ดินพิพาทตามส่วนเป็นคดีนี้ วันที่ ๙ เมษายน ๒๕๔๐ นางกอง ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นจำเลยร่วมตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๕๗ (๒) ศาลชั้นต้นอนุญาตและในวันเดียวกันนั้น (วันที่ ๙ เมษายน ๒๕๔๐) จำเลยทั้งสองและจำเลยร่วมได้ยื่นคำให้การและฟ้องแย้งมาในฉบับเดียวกันโดยระบุว่านางกอง (จำเลยร่วม) เป็นจำเลยที่ ๓ วันที่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๔๐ โจทก์ยื่นคำให้การแก้ฟ้องแย้ง ครั้นวันที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๕๔๐ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งเดิมที่ให้รับคำให้การและฟ้องแย้งของจำเลยที่ ๓ (จำเลยร่วม) เป็นไม่รับคำให้การและฟ้องแย้งจำเลยที่ ๓ (จำเลยร่วม) และเห็นว่า คดีพอวินิจฉัยได้แล้วจึงให้งดสืบพยานโจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งสอง
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยร่วมว่า ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งเดิมที่ให้รับคำให้การและฟ้องแย้งของจำเลยร่วมเป็นไม่รับคำให้การและฟ้องแย้งและศาลอุทธรณ์ภาค ๑ พิพากษายืนนั้น เป็นการชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้นอกจากจำเลยร่วมจะยื่นคำให้การและฟ้องแย้งโดยยื่นรวมมาในฉบับเดียวกันกับจำเลยทั้งสองแล้ว ในวันเดียวกัน (วันที่ ๙ เมษายน ๒๕๔๐) จำเลยร่วมยังได้ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นจำเลยร่วมด้วยและศาลชั้นต้นก็มีคำสั่งอนุญาตแล้ว ทั้งเมื่อพิเคราะห์คำร้องขอเข้าเป็นจำเลยร่วมประกอบคำให้การและฟ้องแย้งของจำเลยที่ ๓ ที่ว่าที่พิพาทจำเลยร่วมเป็นเจ้าของรวมกับจำเลยทั้งสองเพราะได้แย่งการครอบครองจากโจทก์ทั้งสองแล้ว ขอให้ยกฟ้องและพิพากษาว่าที่พิพาทเป็นของจำเลยร่วมและจำเลยทั้งสอง คำฟ้องโจทก์ทั้งสองที่ขอแบ่งกรรมสิทธิ์รวมเช่นนี้มีผลกระทบต่อจำเลยร่วม แม้คำร้องขอจะกล่าวว่าขอเข้าเป็นจำเลยร่วมตาม ป.พ.พ. มาตรา ๕๗ (๒) ก็ตามแต่เมื่ออ่านโดยรวมเป็นที่เห็นได้ว่าเป็นคำร้องขอเพื่อยังให้ได้รับความรับรองคุ้มครองหรือบังคับตามสิทธิของจำเลยร่วมที่มีอยู่ตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๕๗ (๑) ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า จำเลยที่ ๓ (จำเลยร่วม) ไม่ได้เข้ามาเป็นคู่ความด้วยการร้องสอดตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๕๗ กับให้เพิกถอนและมีคำสั่งไม่รับคำให้การและฟ้องแย้งจำเลยที่ ๓ (จำเลยร่วม) ย่อมเป็นการไม่ชอบ ฎีกาจำเลยร่วมฟังขึ้น จึงให้เพิกถอนคำสั่งศาลชั้นต้นและคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๑ ในส่วนนี้เป็นให้รับคำให้การและฟ้องแย้งจำเลยที่ ๓ (จำเลยร่วม) แต่เมื่อพิเคราะห์คำฟ้อง คำร้องขอเข้าเป็นจำเลยร่วม คำให้การและฟ้องแย้งกับคำให้การแก้ฟ้องแย้งแล้วเห็นว่า คดีระหว่างโจทก์ทั้งสองและจำเลยร่วมพอวินิจฉัยได้แล้วจึงไม่จำต้องย้อนสำนวนโดยเห็นสมควรวินิจฉัยรวมไปกับปัญหาที่ว่า ศาลล่างพิพากษาให้จำเลยทั้งสองแบ่งที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ทั้งสองชอบหรือไม่ เห็นว่า เหตุที่จำเลยทั้งสองและจำเลยร่วมอ้างถึงการแย่งการครอบครองที่พิพาทโจทก์ทั้งสองสืบเนื่องมาจากนายสอน จำเลยที่ ๒ คดีนี้และจำเลยร่วมคดีนี้ เป็นโจทก์ฟ้องโจทก์ทั้งสองคดีนี้กับพวกรวม ๔ คน คดีดังกล่าวถึงที่สุดโดยศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่พิพาทเป็นของนายสอน จำเลยที่ ๒ และนายโม่งบิดาโจทก์ทั้งสองคดีนี้คนละ ๑ ใน ๓ ส่วน แล้วพิพากษาแก้เป็นว่า ที่ดินพิพาทเป็นของนายสอนและจำเลยที่ ๒ คนละ ๑ ใน ๓ ส่วน ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๓๗๘๐/๒๕๓๓ ต่อมาโจทก์ทั้งสองคดีนี้ในฐานะทายาทของนายโม่งได้ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองคดีนี้เป็นจำเลยขอให้นำหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่พิพาทส่งศาลเพื่อให้โจทก์ทั้งสองคดีนี้นำไปจดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์ทั้งสองคดีนี้แทนชื่อนายโม่ง คดีหลังถึงที่สุดโดยศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลล่างทั้งสองให้จำเลยทั้งสองคดีนี้นำหนังสือรับรองการทำประโยชน์ดังกล่าวส่งศาลเพื่อให้โจทก์ทั้งสองคดีนี้นำไปจดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์ทั้งสองคดีนี้แทนนายโม่งปรากฏตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๓๕๕/๒๕๓๙ และโจทก์ทั้งสองคดีนี้ได้จดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์ทั้งสองคดีนี้แทนนายโม่งแล้ว แม้จำเลยทั้งสองคดีนี้และจำเลยร่วมยังคงครอบครองที่พิพาทต่อมาจนถึงวันที่โจทก์ทั้งสองคดีนี้ได้ฟ้องจำเลยทั้งสองแล้ว จำเลยทั้งสองและจำเลยร่วมได้ฟ้องแย้งโจทก์ทั้งสองคดีนี้ก็ตาม แต่ผลของคดีตามคำพิพากษาศาลฎีกาทั้งสองสำนวนดังกล่าวยังคงผูกพันจำเลยทั้งสองคดีนี้และจำเลยร่วมกับโจทก์ทั้งสองคดีนี้ซึ่งเป็นผู้สืบสิทธิของนายโม่งตามคำพิพากษาศาลฎีกาทั้งสองสำนวน ซึ่งฟังว่าที่พิพาทเป็นของนายโม่งและโจทก์ทั้งสองคดีนี้เป็นผู้สืบสิทธินายโม่ง ฉะนั้นในการครอบครองของจำเลยทั้งสองคดีนี้และจำเลยร่วมนับแต่วันที่ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษามาจึงฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองคดีนี้และจำเลยร่วมได้ครอบครองที่ดินพิพาทแทนโจทก์ทั้งสองนั่นเอง เหตุที่ว่าจำเลยทั้งสองคดีนี้และจำเลยร่วมจะเปลี่ยนแปลงอ้างเหตุได้ ก็โดยจำเลยจะต้องเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือการครอบครองแทนโจทก์ทั้งสองได้ก็โดยจำเลยทั้งสองคดีนี้และจำเลยร่วมจะต้องแสดงเจตนาแห่งการยึดถือโดยบอกกล่าวไปยังโจทก์ทั้งสองคดีนี้ผู้มีสิทธิครอบครองว่าจำเลยทั้งสองคดีนี้และจำเลยร่วมไม่มีเจตนาจะยึดถือแทนโจทก์ทั้งสองคดีนี้ผู้มีสิทธิครอบครองต่อไปตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๓๘๑ แต่ตามคำให้การและฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสองคดีนี้และจำเลยร่วมไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองและจำเลยร่วมได้มีการแสดงเจตนาดังกล่าวข้างต้นให้โจทก์ทั้งสองคดีนี้ทราบ จำเลยทั้งสองคดีนี้และจำเลยร่วมจึงไม่อาจอ้างเหตุแย่งการครอบครองเกิน ๑ ปี ตามที่จำเลยทั้งสองคดีนี้และจำเลยร่วมให้การและฟ้องแย้งมายันโจทก์ได้
อนึ่งที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้นเป็นเรื่องแบ่งกรรมสิทธิ์รวม ดังนี้ การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยทั้งสองไปจดทะเบียนแบ่งแยกที่พิพาทหากไม่ปฏิบัติให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนานั้นเป็นการไม่ถูกต้อง เพราะไม่เป็นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๓๖๔ ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอในส่วนที่ว่า หากจำเลยทั้งสองไม่ไปให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนานั้นเสีย โดยการแบ่งกรรมสิทธิ์รวมให้เป็นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๓๖๔ ยกฟ้องแย้งจำเลยร่วม นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๑.

Share