คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2070/2562

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 212 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ในการที่ศาลจะใช้บทบัญญัติแห่งกฎหมายบังคับแก่คดีใด ถ้าศาลเห็นเองหรือคู่ความโต้แย้งพร้อมด้วยเหตุผลว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้นต้องด้วยมาตรา 5 และยังไม่มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับบทบัญญัตินั้น ให้ศาลส่งความเห็นเช่นว่านั้นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย ในระหว่างนั้น ให้ศาลดำเนินการพิจารณาต่อไปได้แต่ให้รอการพิพากษาคดีไว้ชั่วคราวจนกว่าจะมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ” และมาตรา 5 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับ หรือการกระทำใด ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ บทบัญญัติหรือการกระทำนั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้” หากโจทก์เห็นว่าบทบัญญัติตามมาตรา 125 วรรคสาม แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ โจทก์จะต้องโต้แย้งพร้อมด้วยเหตุผลและขอให้ศาลส่งความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย แต่โจทก์อุทธรณ์ทำนองว่า บทบัญญัติตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 125 วรรคสาม เป็นบทบัญญัติกฎหมายที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 5 ประกอบมาตรา 26 วรรคหนึ่ง วรรคสอง และมาตรา 27 ไม่อาจบังคับได้ และขอให้ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษมีคำสั่งกลับหรือแก้คำสั่งของศาลแรงงานกลาง จึงเป็นเรื่องที่โจทก์ประสงค์ที่จะให้ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ โดยขอให้ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษมีคำสั่งกลับหรือแก้คำสั่งของศาลแรงงานกลาง มิได้ประสงค์ให้ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษส่งความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย
พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 125 วรรคสาม บัญญัติว่า “ในกรณีที่นายจ้างเป็นฝ่ายนำคดีไปสู่ศาล นายจ้างต้องวางเงินต่อศาลตามจำนวนที่ถึงกำหนดจ่ายตามคำสั่งนั้น จึงจะฟ้องคดีได้” และมาตรา 125 วรรคสี่ บัญญัติต่อไปว่า “เมื่อคดีถึงที่สุดและนายจ้างมีหน้าที่ต้องจ่ายเงินจำนวนใดให้แก่ลูกจ้าง… ให้ศาลมีอำนาจจ่ายเงินที่นายจ้างวางไว้ต่อศาลให้แก่ลูกจ้าง… แล้วแต่กรณี” ที่บทบัญญัติมาตรา 125 วรรคสามและวรรคสี่ ได้กำหนดไว้ดังกล่าวก็มีเจตนารมณ์มุ่งหมายที่จะคุ้มครองลูกจ้างให้ได้รับเงินตามจำนวนที่พนักงานตรวจแรงงานสั่งให้นายจ้างจ่ายแก่ลูกจ้างเมื่อคดีถึงที่สุดทันที โดยลูกจ้างไม่ต้องเสียเวลาไปฟ้องคดีบังคับให้นายจ้างจ่ายเงินจำนวนดังกล่าวอีก ทั้งยังเป็นการป้องกันมิให้นายจ้างประวิงเวลาในการจ่ายเงินอันเป็นการสร้างภาระแก่ลูกจ้างซึ่งมีสิทธิได้รับเงินตามกฎหมายจากนายจ้าง และในกรณีที่นายจ้างฟ้องเพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน หากศาลพิพากษาเพิกถอนคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานแล้ว นายจ้างก็สามารถรับเงินจำนวนที่วางศาลไว้คืนไปได้โดยไม่เกิดความเสียหายแต่อย่างใด บทบัญญัติกฎหมายดังกล่าวนี้จึงไม่เป็นการจำกัดสิทธินายจ้างในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ทั้งเป็นธรรมแก่นายจ้างและลูกจ้างทั้งสองฝ่าย สำหรับที่ดินที่โจทก์ขอวางต่อศาลแทนเงินนั้น หากภายหลังคดีถึงที่สุดและโจทก์มีหน้าที่ต้องจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้าง ก็ต้องมีการบังคับคดีนำที่ดินออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระให้แก่ลูกจ้างต่อไป ซึ่งอาจขายทอดตลาดไม่ได้ราคาไปชำระหนี้ครบตามคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานก็ได้ ที่ดินดังกล่าวจึงมิใช่วัตถุที่ใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมายทำนองเดียวกับเงินซึ่งศาลสามารถนำมาจ่ายให้ลูกจ้างได้ทันที นอกจากนี้เงินจำนวนที่โจทก์ต้องนำมาวางศาลนั้นมิใช่เงินค่าฤชาธรรมเนียมที่ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 27 กำหนดให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องชำระเมื่อฟ้องคดีต่อศาลแรงงานแต่อย่างใด จึงมิอาจนำบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับยกเว้นการวางเงินให้แก่โจทก์ได้
พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 125 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “เมื่อพนักงานตรวจแรงงานได้มีคำสั่งตามมาตรา 124 แล้ว ถ้านายจ้าง ลูกจ้าง หรือทายาทโดยธรรมของลูกจ้างซึ่งถึงแก่ความตายไม่พอใจคำสั่งนั้น ให้นำคดีไปสู่ศาลได้ภายในสามสิบวันนับแต่วันทราบคำสั่ง” และวรรคสามบัญญัติว่า “ในกรณีที่นายจ้างเป็นฝ่ายนำคดีไปสู่ศาล นายจ้างต้องวางเงินต่อศาลตามจำนวนที่ถึงกำหนดจ่ายตามคำสั่งนั้น จึงจะฟ้องคดีได้” บทบัญญัติดังกล่าวมานี้ได้กำหนดอย่างชัดแจ้งว่า ในกรณีที่นายจ้างไม่พอใจคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานที่สั่งให้นายจ้างจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้าง และนายจ้างประสงค์จะนำคดีไปสู่ศาลแรงงานเพื่อขอให้เพิกถอนคำสั่งนั้น นายจ้างจะต้องวางเงินตามจำนวนที่นายจ้างประสงค์จะโต้แย้งต่อศาล ซึ่งอาจเป็นจำนวนทั้งหมดตามคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานหรือเพียงบางส่วนก็ได้ หากนายจ้างไม่ประสงค์จะโต้แย้งเงินจำนวนใดตามคำสั่งก็ไม่ต้องวางเงินจำนวนนั้น ซึ่งหมายความว่านายจ้างพอใจที่จะจ่ายเงินจำนวนที่ไม่โต้แย้งนี้ให้แก่ลูกจ้างโดยไม่ประสงค์ให้ศาลเพิกถอนคำสั่งในส่วนของเงินจำนวนที่ไม่โต้แย้งนี้นั่นเอง หากโจทก์ประสงค์จะขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานตามคำสั่งที่สั่งให้โจทก์จ่ายเงินแก่ผู้ร้องทั้ง 82 ราย โจทก์ก็ต้องวางเงินจำนวนตามคำสั่งทั้งหมดทุกราย จะขอวางเพียง 2 รายแล้วขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานที่สั่งให้โจทก์จ่ายเงินให้แก่ผู้ร้องทุกรายไม่ได้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากจำเลยในฐานะพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสมุทรปราการ ได้ออกคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานที่ 5/2560 เรื่อง ค่าตอบแทน และค่าทำงานในวันหยุด สั่งให้โจทก์จ่ายค่าตอบแทน และค่าทำงานในวันหยุด ให้แก่นางสาวแสงเดือน กับพวกรวม 82 คน รวมเป็นเงิน 9,743,015 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละสิบห้าต่อปีในระหว่างผิดนัด ต่อมาโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยต่อศาลแรงงานกลางขอให้เพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานดังกล่าว โดยโจทก์ยื่นคำร้องขอวางที่ดินเป็นหลักประกันแทนการวางเงินตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน
ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งว่า ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 125 วรรคสาม บัญญัติให้นายจ้างต้องวางเงินต่อศาล ซึ่งกฎหมายมิได้อนุญาตให้นำหลักประกันมาวางแต่อย่างใด จึงให้โจทก์นำเงินมาวางศาลภายใน 15 วัน นับแต่วันทราบคำสั่ง จึงจะพิจารณาสั่งคำฟ้องต่อไป
โจทก์ยื่นคำร้องขอยกเว้นการวางเงินต่อศาลและยื่นคำร้องขอวางเงินตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานแก่ลูกจ้างที่ได้รับเงินตามคำสั่งดังกล่าวเพียงบางราย
ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งยกคำร้องทั้งสองฉบับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ พิพากษายืน
โจทก์ฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรก โดยโจทก์ฎีกาว่า โจทก์อุทธรณ์คัดค้านคำสั่งศาลแรงงานกลางว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 125 วรรคสาม เป็นบทบัญญัติที่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 5 ประกอบมาตรา 26 วรรคหนึ่ง วรรคสอง และมาตรา 27 ดังนั้น ศาลที่มีอำนาจวินิจฉัยว่าข้อโต้แย้งดังกล่าวขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่คือศาลรัฐธรรมนูญ การที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษวินิจฉัยว่าข้อโต้แย้งดังกล่าวของโจทก์ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญจึงเป็นการวินิจฉัยที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 212 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ในการที่ศาลจะใช้บทบัญญัติแห่งกฎหมายบังคับแก่คดีใด ถ้าศาลเห็นเองหรือคู่ความโต้แย้งพร้อมด้วยเหตุผลว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้นต้องด้วยมาตรา 5 และยังไม่มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับบทบัญญัตินั้น ให้ศาลส่งความเห็นเช่นว่านั้นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย ในระหว่างนั้น ให้ศาลดำเนินการพิจารณาต่อไปได้แต่ให้รอการพิพากษาคดีไว้ชั่วคราวจนกว่าจะมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ” และมาตรา 5 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับ หรือการกระทำใด ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ บทบัญญัติหรือการกระทำนั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้” ดังนั้น หากโจทก์เห็นว่าบทบัญญัติตามมาตรา 125 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ โจทก์จะต้องโต้แย้งพร้อมด้วยเหตุผลและขอให้ศาลส่งความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย แต่เมื่อพิจารณาอุทธรณ์ของโจทก์แล้วโจทก์กล่าวอ้างทำนองว่า บทบัญญัติตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 125 วรรคสาม เป็นบทบัญญัติกฎหมายที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 5 ประกอบมาตรา 26 วรรคหนึ่ง วรรคสอง และมาตรา 27 ไม่อาจบังคับได้ และขอให้ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษมีคำสั่งกลับหรือแก้คำสั่งของศาลแรงงานกลาง จึงเห็นได้ว่า อุทธรณ์ของโจทก์ดังกล่าวนั้นเป็นเรื่องที่โจทก์ประสงค์ที่จะให้ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ โดยขอให้ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษมีคำสั่งกลับหรือแก้คำสั่งของศาลแรงงานกลาง โดยอนุญาตให้โจทก์วางที่ดินแทนการวางเงินต่อศาลเพื่อใช้สิทธิฟ้องคดีเพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานได้เท่านั้น มิได้ประสงค์ให้ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษส่งความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 212 วรรคหนึ่ง บัญญัติไว้ ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษไม่ส่งความเห็นของโจทก์ต่อศาลรัฐธรรมนูญและวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ไปจึงเป็นการดำเนินการกระบวนพิจารณาที่ชอบแล้ว ส่วนที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษวินิจฉัยว่า บัญญัติตามมาตรา 125 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญนั้น ก็เป็นเพียงการให้เหตุผลประกอบการวินิจฉัยคดีเท่านั้น ไม่ทำให้คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่อย่างใด ฎีกาของโจทก์ในปัญหาข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการต่อไปมีว่า ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 125 วรรคสาม ที่กำหนดให้นายจ้างเพียงฝ่ายเดียวต้องนำเงินตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานมาวางต่อศาลแรงงาน เป็นการจำกัดสิทธินายจ้างในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมย่อมไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ และโจทก์มีสิทธิเลือกวิธีการที่ให้โจทก์เสียหายน้อยที่สุดโดยนำที่ดินมาวางประกันต่อศาลได้ และศาลแรงงานอาจนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 155 และมาตรา 156 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 อันเป็นกฎหมายใกล้เคียงอย่างยิ่งเกี่ยวกับการยกเว้นเงินวางศาลมาใช้บังคับได้นั้น พิเคราะห์แล้ว พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 125 วรรคสาม บัญญัติว่า “ในกรณีที่นายจ้างเป็นฝ่ายนำคดีไปสู่ศาล นายจ้างต้องวางเงินต่อศาลตามจำนวนที่ถึงกำหนดจ่ายตามคำสั่งนั้น จึงจะฟ้องคดีได้” และมาตรา 125 วรรคสี่ บัญญัติต่อไปว่า “เมื่อคดีถึงที่สุดและนายจ้างมีหน้าที่ต้องจ่ายเงินจำนวนใดให้แก่ลูกจ้าง… ให้ศาลมีอำนาจจ่ายเงินที่นายจ้างวางไว้ต่อศาลให้แก่ลูกจ้าง… แล้วแต่กรณี” ที่บทบัญญัติมาตรา 125 วรรคสามและวรรคสี่ ได้กำหนดไว้ดังกล่าวก็มีเจตนารมณ์มุ่งหมายที่จะคุ้มครองลูกจ้างให้ได้รับเงินตามจำนวนที่พนักงานตรวจแรงงานสั่งให้นายจ้างจ่ายแก่ลูกจ้างเมื่อคดีถึงที่สุดทันที โดยลูกจ้างไม่ต้องเสียเวลาไปฟ้องคดีบังคับให้นายจ้างจ่ายเงินจำนวนดังกล่าวอีก ทั้งยังเป็นการป้องกันมิให้นายจ้างประวิงเวลาในการจ่ายเงินอันเป็นการสร้างภาระแก่ลูกจ้างซึ่งมีสิทธิได้รับเงินตามกฎหมายจากนายจ้าง และในกรณีที่นายจ้างฟ้องเพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน หากศาลพิพากษาเพิกถอนคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานแล้ว นายจ้างก็สามารถรับเงินจำนวนที่วางศาลไว้คืนไปได้โดยไม่เกิดความเสียหายแต่อย่างใด บทบัญญัติกฎหมายดังกล่าวนี้จึงไม่เป็นการจำกัดสิทธินายจ้างในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ทั้งเป็นธรรมแก่นายจ้างและลูกจ้างทั้งสองฝ่าย สำหรับที่ดินที่โจทก์ขอวางต่อศาลแทนเงินนั้น หากภายหลังคดีถึงที่สุดและโจทก์มีหน้าที่ต้องจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้าง ก็ต้องมีการบังคับคดีนำที่ดินออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระให้แก่ลูกจ้างต่อไป ซึ่งอาจขายทอดตลาดไม่ได้ราคาไปชำระหนี้ครบตามคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานก็ได้ ที่ดินดังกล่าวจึงมิใช่วัตถุที่ใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมายทำนองเดียวกับเงินซึ่งศาลสามารถนำมาจ่ายให้ลูกจ้างได้ทันที นอกจากนี้เงินจำนวนที่โจทก์ต้องนำมาวางศาลนั้นมิใช่เงินค่าฤชาธรรมเนียมที่พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 27 กำหนดให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องชำระเมื่อฟ้องคดีต่อศาลแรงงานแต่อย่างใด จึงมิอาจนำบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งที่โจทก์กล่าวอ้างมาใช้บังคับยกเว้นการวางเงินให้แก่โจทก์ได้ ที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งไม่อนุญาตและยกคำร้องของโจทก์ และศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิพากษายืนมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ในปัญหาข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการสุดท้ายมีว่า โจทก์มีสิทธิวางเงินตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานในส่วนของลูกจ้างบางคน คือ ผู้ร้องที่ 2 และที่ 28 เพื่อเพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานได้หรือไม่นั้น ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 125 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “เมื่อพนักงานตรวจแรงงานได้มีคำสั่งตามมาตรา 124 แล้ว ถ้านายจ้าง ลูกจ้าง หรือทายาทโดยธรรมของลูกจ้างซึ่งถึงแก่ความตายไม่พอใจคำสั่งนั้น ให้นำคดีไปสู่ศาลได้ภายในสามสิบวันนับแต่วันทราบคำสั่ง” และวรรคสามบัญญัติว่า “ในกรณีที่นายจ้างเป็นฝ่ายนำคดีไปสู่ศาล นายจ้างต้องวางเงินต่อศาลตามจำนวนที่ถึงกำหนดจ่ายตามคำสั่งนั้น จึงจะฟ้องคดีได้” บทบัญญัติดังกล่าวมานี้ได้กำหนดอย่างชัดแจ้งว่า ในกรณีที่นายจ้างไม่พอใจคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานที่สั่งให้นายจ้างจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้าง และนายจ้างประสงค์จะนำคดีไปสู่ศาลแรงงานเพื่อขอให้เพิกถอนคำสั่งนั้น นายจ้างจะต้องวางเงินตามจำนวนที่นายจ้างประสงค์จะโต้แย้งต่อศาล ซึ่งอาจเป็นจำนวนทั้งหมดตามคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานหรือเพียงบางส่วนก็ได้ หากนายจ้างไม่ประสงค์จะโต้แย้งเงินจำนวนใดตามคำสั่งก็ไม่ต้องวางเงินจำนวนนั้น ซึ่งหมายความว่านายจ้างพอใจที่จะจ่ายเงินจำนวนที่ไม่โต้แย้งนี้ให้แก่ลูกจ้างโดยไม่ประสงค์ให้ศาลเพิกถอนคำสั่งในส่วนของเงินจำนวนที่ไม่โต้แย้งนี้นั่นเอง เมื่อโจทก์ประสงค์จะขอวางเงินตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานเฉพาะส่วนของผู้ร้องที่ 2 และผู้ร้องที่ 28 เพียงสองราย แสดงว่าโจทก์ประสงค์จะโต้แย้งคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานเฉพาะที่สั่งให้โจทก์จ่ายเงินแก่ผู้ร้องที่ 2 และที่ 28 เท่านั้น ส่วนคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานที่สั่งให้โจทก์จ่ายเงินแก่ผู้ร้องอีก 80 ราย นั้น โจทก์ไม่ติดใจโต้แย้งจึงไม่ขอวางเงินต่อศาล ซึ่งโจทก์อาจทำได้โดยยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องเพื่อขอให้ศาลสั่งเพิกถอนคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานเฉพาะรายผู้ร้องที่ 2 และที่ 28 เพียงสองรายเท่านั้น ส่วนผู้ร้องอีก 80 ราย โจทก์จะต้องปฏิบัติตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานโดยจ่ายเงินตามจำนวนที่พนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งให้แก่ผู้ร้องทั้ง 80 ราย ที่โจทก์ไม่ติดใจโต้แย้งคำสั่ง หากโจทก์ยังประสงค์จะขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานตามคำสั่งที่สั่งให้โจทก์จ่ายเงินแก่ผู้ร้องทั้ง 82 ราย โจทก์ก็ต้องวางเงินจำนวนตามคำสั่งทั้งหมดทุกราย จะขอวางเพียง 2 รายแล้วขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานที่สั่งให้โจทก์จ่ายเงินให้แก่ผู้ร้องทุกรายไม่ได้ ที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งไม่อนุญาตและยกคำร้องของโจทก์ และศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิพากษายืนมานั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ในปัญหาข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน แต่หากโจทก์ประสงค์จะดำเนินคดีต่อไป ให้นำเงินตามจำนวนที่ถึงกำหนดจ่ายตามคำสั่งของจำเลยมาวางศาลภายในสามสิบวัน นับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกา เมื่อโจทก์วางเงินครบถ้วนภายในกำหนดระยะเวลาแล้ว ให้ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งเกี่ยวกับคำฟ้องของโจทก์ต่อไป

Share