แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์มีส่วนเกี่ยวข้องหรือมีส่วนรู้เห็นกับจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ผู้ซึ่งรับทำการจัดซื้อที่ดินผืนใหญ่ สนับสนุนให้เจ้าหน้าที่ที่ดินกระทำโดยทุจริตในการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์แปลงพิพาท ดังนั้นเมื่อโจทก์มีส่วนก่อให้เกิดการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) โดยไม่ชอบ โจทก์ไม่อาจอ้างสิทธิใด ๆ ตามกฎหมายได้ ที่โจทก์ฟ้องคดีนี้จึงเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 5 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งยี่สิบสี่ให้ร่วมกันรับผิดชำระค่าสินไหมทดแทนในผลแห่งละเมิด กรณีจึงเป็นเรื่องเกี่ยวด้วยการชำระหนี้อันมิอาจแบ่งแยกได้ ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาให้มีผลถึงจำเลยที่มิได้ฎีกาด้วย ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 245 (1) ประกอบมาตรา 247 (เดิม) ซึ่งใช้บังคับขณะยื่นฟ้อง
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยร่วม และให้ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยร่วมทั้งสองศาลเป็นพับ แต่มิได้พิพากษาในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่อุทธรณ์ เป็นการไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ร่วมกันชำระเงิน 17,532,881.25 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 16,357,207 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 6 มีนาคม 2544) เป็นต้นไป ให้จำเลยที่ 6 ร่วมรับผิดชำระเงิน 222,092.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 207,200 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป ให้จำเลยที่ 7 ร่วมรับผิดชำระเงิน 53,593.75 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 50,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป ให้จำเลยที่ 8 ร่วมรับผิดชำระเงิน 160,781.25 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 150,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป ให้จำเลยที่ 9 ร่วมรับผิดชำระเงิน 214,375 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 200,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป ให้จำเลยที่ 10 ร่วมรับผิดชำระเงิน 321,526.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 300,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป ให้จำเลยที่ 11 ร่วมรับผิดชำระเงิน 214,375 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 200,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป ให้จำเลยที่ 12 ร่วมรับผิดชำระเงิน 32,156.25 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 30,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป ให้จำเลยที่ 13 ร่วมรับผิดชำระเงิน 109,331.25 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 102,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป ให้จำเลยที่ 14 ร่วมรับผิดชำระเงิน 375,156.25 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 350,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป ให้จำเลยที่ 15 ร่วมรับผิดชำระเงิน 214,375 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 200,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป ให้จำเลยที่ 16 ร่วมรับผิดชำระเงิน 428,750 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 400,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป ให้จำเลยที่ 17 ร่วมรับผิดชำระเงิน 267,968.75 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 250,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป ให้จำเลยที่ 18 ร่วมรับผิดชำระเงิน 21,437.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 20,000 บาท นับถัดจากวันวันฟ้องเป็นต้นไปให้จำเลยที่ 19 ร่วมรับผิดชำระเงิน 375,156.25 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 350,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป ให้จำเลยที่ 20 ร่วมรับผิดชำระเงิน 96,468.75 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 90,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป ให้จำเลยที่ 21 ร่วมรับผิดชำระเงิน 42,875 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 40,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป ให้จำเลยที่ 22 ร่วมรับผิดชำระเงิน 53,593.75 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 50,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป ให้จำเลยที่ 23 ร่วมรับผิดชำระเงิน 482,343.75 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 450,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป ให้จำเลยที่ 24 ร่วมรับผิดชำระเงิน 32,156.25 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 30,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 19 และที่ 21 ถึง 24 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา จำเลยที่ 1 และที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้เรียกนายสลับเข้ามาเป็นจำเลยร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยร่วมให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 20 ขาดนัดยื่นคำให้การ
ระหว่างพิจารณา จำเลยที่ 18 ถึงแก่ความตาย โจทก์ยื่นคำร้องขอให้หมายเรียกนายชนะชัย นายพันธุ์และนายบุญเทียบ ทายาทของจำเลยที่ 18 เข้าเป็นคู่ความแทน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งบุคคลผู้ถูกเรียกเป็นคู่ความแทน
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ร่วมกันชำระเงิน 17,532,881.25 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 16,357,207 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 6 มีนาคม 2544) เป็นต้นไป ให้จำเลยที่ 6 ร่วมรับผิดชำระเงิน 226,092.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 207,200 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป ให้จำเลยที่ 7 ร่วมรับผิดชำระเงิน 53,593.75 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 50,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป ให้จำเลยที่ 8 ร่วมรับผิดชำระเงิน 160,781.25 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 150,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป ให้จำเลยที่ 9 ร่วมรับผิดชำระเงิน 214,375 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 200,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป ให้จำเลยที่ 10 ร่วมรับผิดชำระเงิน 321,562.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 300,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป ให้จำเลยที่ 11 ร่วมรับผิดชำระเงิน 214,375 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 200,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป ให้จำเลยที่ 12 ร่วมรับผิดชำระเงิน 32,156.25 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 30,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป ให้จำเลยที่ 13 ร่วมรับผิดชำระเงิน 109,331.25 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 102,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป ให้จำเลยที่ 14 ร่วมรับผิดชำระเงิน 375,156.25 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 350,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป ให้จำเลยที่ 15 ร่วมรับผิดชำระเงิน 214,375 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 200,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป ให้จำเลยที่ 16 ร่วมรับผิดชำระเงิน 428,750 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 400,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป ให้จำเลยที่ 17 ร่วมรับผิดชำระเงิน 267,968.75 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 250,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป ให้จำเลยที่ 18 ร่วมรับผิดชำระเงิน 21,437.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 20,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป ให้จำเลยที่ 19 ร่วมรับผิดชำระเงิน 375,156.25 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 350,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป ให้จำเลยที่ 20 ร่วมรับผิดชำระเงิน 36,468.75 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 90,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป ให้จำเลยที่ 21 ร่วมรับผิดชำระเงิน 42,875 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 40,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป ให้จำเลยที่ 22 ร่วมรับผิดชำระเงิน 53,593.75 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 50,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป ให้จำเลยที่ 23 ร่วมรับผิดชำระเงิน 482,343.75 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 450,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป ให้จำเลยที่ 24 ร่วมรับผิดชำระเงิน 32,156.25 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 30,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป ให้จำเลยร่วมร่วมรับผิดชำระเงิน 327,200 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งยี่สิบสี่และจำเลยร่วมร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนด ค่าทนายความ 60,000 บาท
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 17 ที่ 19 ที่ 21 ที่ 23 และที่ 24 อุทธรณ์ โดยจำเลยที่ 3 ถึงที่ 17 ที่ 19 ที่ 21 ที่ 23 และที่ 24 ได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา และจำเลยที่ 12 ที่ 21 และที่ 24 อุทธรณ์โดยผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุอันควรอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงได้
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยร่วมค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยร่วมทั้งสองศาลให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 6 ที่ 7 ที่ 9 ถึงที่ 11 ที่ 13 ที่ 15 ถึงที่ 17 ที่ 19 และที่ 23 ฎีกา โดยจำเลยที่ 6 ที่ 7 ที่ 9 ถึงที่ 11 ที่ 13 ที่ 15 ถึงที่ 17 ที่ 19 และที่ 23 ได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา และจำเลยที่ 7 และที่ 13 ฎีกาโดยผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุอันควรฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 6 ที่ 7 ที่ 9 ถึงที่ 11 ที่ 13 ที่ 15 ถึงที่ 17 ที่ 19 และที่ 23 ว่า โจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริตหรือไม่ เห็นว่า ในปี 2521 ทางราชการได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดให้เขตที่ดินในท้องที่อำเภอโพนพิสัย (ขณะนั้นอำเภอปากคาดยังอยู่ในเขต) เป็นเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในเขตท้องที่อำเภอโพนพิสัย และอำเภอเมืองหนองคาย จังหวัดหนองคาย ให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดิน พ.ศ.2521 สำหรับที่ดินซึ่งอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจึงถือว่าเป็นที่ดินของรัฐ รัฐจะจัดให้ราษฎรเข้าครอบครองและทำประโยชน์ได้ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินกำหนดหรือจะสามารถออกเอกสารสิทธิได้ต้องมีหลักฐานทางที่ดินเท่านั้น เช่น หนังสือแสดงสิทธิครอบครอบ (ส.ค.1) หลักฐานการแจ้งความประสงค์จะได้สิทธิในที่ดิน (ส.ค.2) หนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 หรือ น.ส.3 ก.) หรือใบจอง ถ้าไม่มีเอกสารหลักฐานที่ดินดังกล่าวมาข้างต้นจะไม่สามารถออกเอกสารสิทธิในที่ดินได้ คณะกรรมการกฤษฎีกามีความเห็นว่า ถ้าผู้ครอบครองที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมไม่มีหลักฐานทางที่ดิน ก็ไม่สามารถออกเอกสารสิทธิในที่ดินได้ จำเลยที่ 2 ได้แจ้งความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาดังกล่าวให้สำนักงานที่ดินอำเภอและกิ่งอำเภอทราบและถือปฏิบัติ ได้ความจากคำเบิกความของนายสำรวย ผู้รับมอบอำนาจโจทก์และนายสุรชัยว่า โจทก์เป็นบริษัทในเครือบริษัทสุราทิพย์ จำกัด บริษัทดังกล่าวมีการซื้อที่ดินแปลงใหญ่หลายแปลงในหลายจังหวัด แต่ละแปลงมีเนื้อที่นับพันไร่ โดยมีบริษัทที.ซี.ซี.โฮลดิ้ง จำกัด ซึ่งมีนักกฎหมายเป็นพนักงานเป็นที่ปรึกษาเกี่ยวกับการซื้อที่ดิน มีหน้าที่ดูแลด้านกฎหมาย การทำนิติกรรมและสัญญาต่าง ๆ ของบริษัทในเครือบริษัทสุราทิพย์ จำกัด ก่อนที่จะมีการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) ที่ดินพิพาททั้งหมด เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2537 โจทก์ได้ทำสัญญากับจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 โดยสัญญาดังกล่าวระบุให้จำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 เป็นผู้ดำเนินการรวบรวมที่ดินจากเจ้าของหรือผู้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินผืนใหญ่ในตำบลปากคาดและตำบลนากั้ง อำเภอปากคาด จังหวัดหนองคาย เนื้อที่ประมาณ 5,700 ไร่ ตามภาพถ่าย น.ส.3 น.ส.3 ก. ภ.บ.ท.5 และ ภ.บ.ท.6 จำนวน 210 ฉบับ โดยที่ดินที่เป็น ภ.บ.ท.5 หรือ ภ.บ.ท.6 จำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 จะต้องดำเนินการให้ทางราชการออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินเสียก่อนจึงจะจดทะเบียนโอนขายที่ดินให้แก่โจทก์ โดยสัญญาในข้อ 2.5 ระบุว่า สำหรับที่ดินที่เป็น ภ.บ.ท.5 หรือ ภ.บ.ท.6 หรือเอกสารแสดงการครอบครองอื่นใด จำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ต้องดำเนินการให้ทางราชการออกเป็นเอกสารสิทธิ น.ส.3 หรือ น.ส.3 ก. หรือโฉนดที่ดินให้เสร็จสิ้นภายในเวลาก่อนจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์โอนขายให้แก่โจทก์ ซึ่งตามแผนที่ท้ายสัญญาได้ระบุตำแหน่งบริเวณที่ต้องการจะซื้อมีความชัดเจนตรงกันกับบริเวณที่ดินที่ระบุในแผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในท้องที่อำเภอโพนพิสัย และอำเภอเมืองหนองคาย จังหวัดหนองคาย ให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดิน พ.ศ.2521 ซึ่งเมื่อนำมาเปรียบเทียบจะเห็นได้ว่าแผนที่ตามสัญญารับทำการจัดซื้อที่ดินดังกล่าวอยู่ในเขตพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว ในการที่โจทก์จะตัดสินใจซื้อที่ดินบริเวณดังกล่าว ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีจำนวนเนื้อที่มากหลายพันไร่ และต้องใช้เงินเป็นจำนวนมากเพื่อจัดซื้อที่ดินในราคาไร่ละ 40,000 บาท ก่อนที่จะตัดสินใจซื้อที่ดินจะต้องออกไปตรวจสอบยังบริเวณพื้นที่ที่จะซื้อที่ดินก่อนว่ามีสภาพอย่างไร เป็นพื้นที่เป็นป่า ที่รกร้างว่างเปล่า หรือได้ทำประโยชน์อย่างไร เป็นที่ดินของรัฐหรือไม่ ซึ่งโจทก์ได้ส่งนายสุรชัยไปสำรวจที่ดินที่จะซื้อก่อนทำสัญญากับจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 โดยได้ความจากคำเบิกความของนายสุรชัยตอบทนายจำเลยที่ 1 และที่ 2 ถามค้านว่า ในการไปสำรวจที่ดินพิพาทในคดีนี้นั้น นายสุรชัยได้ตรวจสอบว่าที่ดินตั้งอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมหรือไม่ด้วย ในเมื่อที่ดินที่เสนอขายซึ่งถูกเพิกถอนดังกล่าวทั้งหมดขณะทำสัญญายังเป็นที่ดินมือเปล่าและไม่ได้มีหลักฐานแสดงว่าได้มีการครอบครองทำประโยชน์มาก่อนวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับแม้แต่แปลงเดียวซึ่งโจทก์ทราบดี แต่ต้องการที่จะซื้อทั้งที่โจทก์ทราบมาแต่ต้นว่าที่ดินที่ได้ทำสัญญาไม่มีหลักฐานหนังสือสำคัญสำหรับที่ดิน มีเพียงหลักฐาน ภ.บ.ท.5 หรือ ภ.บ.ท.6 ซึ่งไม่ใช่เป็นหลักฐานที่แสดงว่าผู้แจ้งเป็นผู้มีสิทธิในที่ดินแต่อย่างใด แต่โจทก์ยังมีความต้องการจะซื้อและที่ดินที่ประสงค์จะซื้อทั้งหมดเป็นที่ดินแปลงใหญ่ มีเนื้อที่เป็นจำนวนมากหลายพันไร่ โจทก์ควรจะพินิจพิเคราะห์ตรวจสอบโดยถี่ถ้วนว่าเป็นที่สงวนหวงห้ามหรือไม่ แต่โจทก์ไม่คำนึงถึงที่ดินที่จะซื้อว่าเป็นที่ดินที่มีเอกสารสิทธิในที่ดินมาก่อนหรือไม่ โดยกำหนดตำแหน่งบริเวณที่จะซื้อว่าติดกับแม่น้ำโขง โจทก์มีบริษัทที.ซี.ซี.โฮลดิ้ง จำกัด ซึ่งมีนักกฎหมายเป็นผู้ดูแลเกี่ยวกับการซื้อที่ดิน เป็นผู้มีความชำนาญการเกี่ยวกับที่ดิน ข้อกำหนด กฎเกณฑ์ ข้อห้ามตามกฎหมาย ย่อมต้องรู้กฎหมายและระเบียบปฏิบัติเกี่ยวกับการออกเอกสารสิทธิของที่ดิน ดังจะเห็นได้จากสัญญารับทำการจัดซื้อที่ดินผืนใหญ่ ข้อ 5 ระบุว่า ส่วนที่ดินที่อยู่ในกำหนดระยะเวลาต้องห้ามโอน จำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ต้องดำเนินการจัดให้โจทก์ได้เช่าและทำประโยชน์ได้ทุกแปลงภายใน 210 วัน นับแต่วันทำสัญญานี้ โดยจัดให้เจ้าของที่ดินทุกแปลงดังกล่าวทำสัญญาและจดทะเบียนการเช่าแก่ผู้รับซื้อเป็นเวลา 30 ปี ในอัตราค่าเช่าไร่ละ 25 บาท ต่อปี เมื่อครบกำหนดระยะเช่าครั้งแรกให้จดทะเบียนการเช่าต่ออีก 30 ปี ในอัตราและเงื่อนไขการเช่าเช่นเดิม ค่าใช้จ่ายและค่าธรรมเนียมและภาษีในการจดทะเบียนเช่า 30 ปี แรกจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ตกลงรับเป็นผู้ชำระทั้งสิ้น และข้อ 6 ระบุว่า จำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 รับรองและผูกพันว่าจะทำการจดทะเบียนโอนขายที่ดินส่วนที่อยู่ในระยะห้ามโอนดังกล่าวให้แก่โจทก์ภายในเงื่อนไขที่ระบุตามสัญญานี้ โดยกำหนดทำการจดทะเบียนโอนแต่ละแปลงให้แก่โจทก์ภายใน 30 วัน นับแต่วันพ้นกำหนดต้องห้ามโอนของแต่ละแปลง ทั้งนี้การจดทะเบียนโอนแปลงสุดท้ายต้องไม่เกินวันที่ 16 มกราคม 2547 ดังมีรายละเอียดที่ดินที่อยู่ในระยะต้องห้ามโอนแนบท้ายและถือเป็นส่วนหนึ่งแห่งสัญญานี้ ซึ่งข้อสัญญาดังกล่าวนี้มีวัตถุประสงค์โดยชัดแจ้งว่าเพื่อหลีกเลี่ยงกฎหมายที่มีการกำหนดห้ามทำการจดทะเบียนโอนที่ดินบางแปลงภายในกำหนด 10 ปี เพื่อให้โจทก์สามารถครอบครองและใช้ประโยชน์ที่ดินผืนใหญ่ ดังนั้น โจทก์ย่อมทราบว่าพื้นที่ใดที่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินให้ได้และพื้นที่ใดที่ไม่อาจออกเอกสารสิทธิให้ได้ และย่อมจะต้องทราบว่าที่ดินพิพาทดังกล่าวอยู่ในเขตปฏิรูปไม่อยู่ในวิสัยที่จะออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ได้ เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวได้ประกาศเป็นเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในท้องที่อำเภอโพนพิสัย และอำเภอเมืองหนองคาย จังหวัดหนองคาย ให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดิน พ.ศ.2521 โดยมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 95 ตอนที่ 107 เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2521 การที่มีประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้บุคคลทั่วไปได้รับรู้ถึงบริเวณพื้นที่ตามแผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวเป็นเขตพื้นที่ปฏิรูปที่ดิน ก่อนที่โจทก์จะทำสัญญาว่าจ้างให้จำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 จัดหาที่ดินผืนใหญ่ให้แก่โจทก์ในปี 2537 กว่า 10 ปี การที่โจทก์กับจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ทำสัญญารับทำการจัดซื้อที่ดินผืนใหญ่ โดยให้จำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ดำเนินการให้ทางราชการออกเอกสารสิทธิสำหรับที่ดินที่มีหลักฐานเป็น ภ.บ.ท.5 หรือ ภ.บ.ท.6 นั้น ก็มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นข้ออ้างอำพรางว่าโจทก์ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการออกเอกสารสิทธิอันไม่ชอบ หากจำเลยที่ 2 เพิกถอนเอกสารสิทธิ โจทก์จะได้ฟ้องจำเลยที่ 2 ให้รับผิดชอบ อันเป็นวิธีการที่จะทำให้โจทก์ไม่ได้รับความเสียหายเลย เมื่อพิจารณาพฤติการณ์แวดล้อมประกอบแล้วเชื่อว่าโจทก์มีส่วนเกี่ยวข้องหรือมีส่วนรู้เห็นกับจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ผู้ซึ่งรับทำการจัดซื้อที่ดินผืนใหญ่สนับสนุนให้เจ้าหน้าที่ที่ดินกระทำโดยทุจริตในการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์แปลงพิพาท ดังนั้นเมื่อโจทก์มีส่วนก่อให้เกิดการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) โดยไม่ชอบ โจทก์ไม่อาจอ้างสิทธิใด ๆ ตามกฎหมายได้ ที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ จึงเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 5 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยร่วม ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล แต่ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาในส่วนของจำเลยทั้งยี่สิบสี่มานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย จึงไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของฝ่ายจำเลยในประเด็นอื่นอีก เพราะไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลงไป
อนึ่ง โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งยี่สิบสี่ให้ร่วมกันรับผิดชำระค่าสินไหมทดแทนในผลแห่งละเมิด กรณีจึงเป็นเรื่องเกี่ยวด้วยการชำระหนี้อันมิอาจแบ่งแยกได้ ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาให้มีผลถึงจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ที่ 8 ที่ 12 ที่ 14 ที่ 18 ที่ 20 ถึงที่ 22 และที่ 24 ที่มิได้ฎีกาด้วย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 245 (1) ประกอบด้วยมาตรา 247 (เดิม) ซึ่งใช้บังคับขณะยื่นฟ้อง และที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยร่วม และให้ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยร่วมทั้งสองศาลให้เป็นพับ แต่มิได้พิพากษาในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่อุทธรณ์ เป็นการไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยทั้งยี่สิบสี่เสียด้วย ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์