คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1167/2562

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เช็คพิพาททั้งสามฉบับจำเลยเป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายมีชื่อโจทก์หรือผู้ถือเป็นผู้รับเงิน ดังนี้ จำเลยต้องรับผิดตามเนื้อความในเช็คพิพาททั้งสามฉบับตาม ป.พ.พ. มาตรา 900 วรรคหนึ่ง และมาตรา 914 ประกอบมาตรา 989 วรรคหนึ่ง โจทก์เป็นผู้มีเช็คพิพาททั้งสามฉบับไว้ในครอบครองจึงเป็นผู้ทรงเช็คพิพาททั้งสามฉบับตามมาตรา 904 จำเลยกล่าวอ้างว่าโจทก์ไม่ใช่ผู้ทรงเช็คพิพาททั้งสามฉบับโดยชอบย่อมมีภาระการพิสูจน์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 84/1
จำเลยออกเช็คพิพาททั้งสามฉบับมอบให้ ว. โดยมีข้อตกลงว่าจะไม่มีการนำไปเรียกเก็บเงินโดยโจทก์ทราบและโจทก์เอาเช็คพิพาททั้งสามฉบับไปจากตู้นิรภัยของ ว. แล้ว ลงวันที่และเรียกเก็บเงินจากธนาคารโดยจำเลยไม่ยินยอมและธนาคารก็ปฏิเสธการจ่ายเงินเนื่องจากจำเลยมีคำสั่งห้ามธนาคารจ่ายเงิน โจทก์จึงไม่ใช่ผู้ทรงเช็คพิพาททั้งสามฉบับโดยชอบอันมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระเงินตามเช็ค

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 120,468,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 120,000,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างการพิจารณาจำเลยยื่นคำร้องขอให้เรียกนายศาวิกรณ์ เข้าเป็นคู่ความร่วมและนายศาวิกรณ์ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความฝ่ายที่สาม โจทก์คัดค้าน ศาลชั้นต้นยกคำร้องขอของจำเลยและนายศาวิกรณ์
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 120,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 30 กันยายน 2558 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ดอกเบี้ยคำนวณถึงวันฟ้อง (วันที่ 19 ตุลาคม 2558) ต้องไม่เกิน 468,000 บาท ตามที่โจทก์ขอ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 150,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 100,000 บาท แทนจำเลย
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติในชั้นนี้โดยคู่ความไม่โต้แย้งคัดค้านว่า จำเลยประกอบธุรกิจจัดสรรที่ดินและบ้านขายโดยเป็นประธานกรรมการบริษัทซื่อตรงคอนสตรั๊คชั่น จำกัด บริษัทซื่อตรงพร็อพเพอร์ตี้ จำกัด และบริษัทซื่อตรงกรุ๊ป จำกัด จำเลยรู้จักกับนายวีระ และนายศาวิกรณ์ ซึ่งเป็นบุตรของนายวีระ เนื่องจากมีธุรกิจเกี่ยวกับการกู้ยืมเงินกันโดยรู้จักกับนายศาวิกรณ์ก่อน นายวีระและจำเลยทำงานสมาคมร่วมกันด้วย เช่นสมาคมสงเคราะห์เด็กกำพร้าแห่งประเทศไทย นายวีระเป็นคนจีนพูดภาษาไทยได้น้อย การสื่อสารกับบุคคลอื่นและจำเลยใช้ภาษาจีน โจทก์มีความสามารถในการพูดภาษาจีนเคยประกอบอาชีพนำสินค้าหนีภาษีจากทางภาคใต้มาขายที่ตลาดเยาวราชได้มาอยู่อาศัยและดูแลนายวีระเมื่อปี 2550 ขณะนั้นโจทก์อายุ 54 ปี นายวีระอายุ 79 ปีเศษป่วยเป็นโรคมะเร็งปอด ประมาณต้นปี 2558 จำเลยลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คพิพาททั้งสามฉบับที่พิพาทกันในคดีนี้ เป็นเช็คธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขารัตนาธิเบศร์ บางใหญ่ ประทับตรา A/C PAYEE ONLY หรือเช็คขีดคร่อม ระบุชื่อโจทก์หรือผู้ถือเป็นผู้รับเงิน สั่งจ่ายเงินฉบับละ 50,000,000 บาท 50,000,000 บาท และ 20,000,000 บาท ไม่ลงวันที่สั่งจ่าย ต่อมาเช็คพิพาททั้งสามฉบับตกอยู่ในความครอบครองของโจทก์ วันที่ 21 กรกฎาคม 2558 จำเลยแจ้งธนาคารห้ามจ่ายเงินตามเช็คพิพาททั้งสามฉบับ วันที่ 20 กันยายน 2558 นายวีระถึงแก่ความตาย วันที่ 23 กันยายน 2558 จำเลยมีหนังสือแจ้งโจทก์ให้คืนเช็คพิพาททั้งสามฉบับโดยส่งทางไปรษณีย์ด่วนพิเศษ วันที่ 30 กันยายน 2558 โจทก์ลงวันที่ในเช็คพิพาททั้งสามฉบับแล้วนำไปเรียกเก็บเงินจากธนาคาร แต่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินได้คืนเช็คพิพาททั้งสามฉบับ อนึ่ง ก่อนนายวีระถึงแก่ความตาย เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2558 นายศาวิกรณ์ได้ไปร้องทุกข์ต่อร้อยตำรวจเอกธิติ พนักงานสอบสวนกองกำกับการ 1 กองบังคับการปราบปราม ให้ดำเนินคดีแก่โจทก์เรื่องยักยอกทรัพย์หรือความผิดอื่นที่เกี่ยวข้องโดยอ้างว่าได้รับมอบอำนาจจากนายวีระ คดีอยู่ระหว่างการสอบสวนขณะที่ร้อยตำรวจเอกธิติมาเป็นพยานคดีนี้
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า โจทก์อยู่กินเป็นสามีภริยากับนายวีระ หรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์และนายวีระไม่ได้อยู่กินเป็นสามีภริยากัน แต่โจทก์มาอยู่ดูแลนายวีระโดยบุตรของนายวีระว่าจ้างฎีกาของจำเลยประการนี้ฟังขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า โจทก์เป็นผู้ทรงเช็คพิพาททั้งสามฉบับโดยชอบอันมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระเงินตามเช็คหรือไม่ เช็คพิพาททั้งสามฉบับจำเลยเป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายมีชื่อโจทก์หรือผู้ถือเป็นผู้รับเงิน ดังนี้ จำเลยต้องรับผิดตามเนื้อความในเช็คพิพาททั้งสามฉบับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 900 วรรคหนึ่ง และมาตรา 914 ประกอบมาตรา 989 วรรคหนึ่ง โจทก์เป็นผู้มีเช็คพิพาททั้งสามฉบับไว้ในครอบครองจึงเป็นผู้ทรงเช็คพิพาททั้งสามฉบับตามมาตรา 904 จำเลยกล่าวอ้างว่าโจทก์ไม่ใช่ผู้ทรงเช็คพิพาททั้งสามฉบับโดยชอบย่อมมีภาระการพิสูจน์ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 84/1 จำเลยมีตัวจำเลยและนายศาวิกรณ์เบิกความยืนยันทำนองเดียวกัน คำเบิกความของจำเลยและนายศาวิกรณ์สอดคล้องต้องกันเป็นลำดับขั้นตอนถึงความเป็นไปในการออกเช็คพิพาททั้งสามฉบับโดยการกู้เงินของจำเลยกับนายศาวิกรณ์เริ่มตั้งแต่ปี 2550 มิใช่ตั้งแต่ปี 2553 ดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย มีการทำสัญญากู้ทั้งสี่ครั้งและมีเช็คที่นายศาวิกรณ์สั่งจ่ายให้แก่จำเลยตรงตามจำนวนในสัญญากู้ มีการนำเงินเข้าบัญชีของจำเลย อันเป็นข้อสนับสนุนว่าจำเลยกู้เงินจากนายศาวิกรณ์จริง และเมื่อนายศาวิกรณ์ให้นายวีระมาดูแลเงินกู้แทนก็มีการเปลี่ยนวิธีการสั่งจ่ายเช็คขีดคร่อมไม่ลงวันที่มอบให้นายวีระเป็นหลักฐานแทนการออกตั๋วสัญญาใช้เงินที่นายวีระไม่มีความเข้าใจและมีข้อตกลงไม่มีการนำเช็คขีดคร่อมที่ไม่ลงวันที่ไปเรียกเก็บเงินเลย ซึ่งทางนำสืบของโจทก์ก็ไม่ปรากฏว่านายวีระนำเช็คขีดคร่อมที่ไม่ลงวันที่ไปเรียกเก็บเงิน หากมีการชำระเงินก็จะออกแคชเชียร์เช็คแล้วรับเช็คขีดคร่อมที่ไม่ลงวันที่คืนมา บ่งชี้ให้เห็นว่ามีข้อตกลงระหว่างนายศาวิกรณ์และจำเลยว่าจะไม่มีการนำเช็คที่ไม่ลงวันที่ไปเรียกเก็บเงินโดยนายวีระทราบข้อตกลงดังกล่าวซึ่งโจทก์ย่อมทราบดีดังที่โจทก์เบิกความว่านายวีระไว้วางใจโจทก์โดยพาไปที่ธนาคาร โจทก์แนะนำให้พนักงานธนาคารรู้จักและเคยให้โจทก์ไปทำธุรกรรมแทน แม้แต่ตู้นิรภัยที่บ้านเลขที่ 335 ที่โจทก์และนายวีระเคยอาศัยโจทก์ก็เบิกความทำนองว่าทราบหมายเลขรหัสที่เปิดแต่บ่ายเบี่ยงว่าจำไม่ได้แล้วขณะเบิกความเป็นพยาน อันเป็นข้อสนับสนุนว่า โจทก์ทราบข้อตกลงว่าจะไม่นำเช็คที่จำเลยสั่งจ่ายขีดคร่อมโดยไม่ลงวันที่ไปเรียกเก็บเงิน ในส่วนสำเนาแคชเชียร์เช็ค 100,000,000 บาท ก็ได้ความว่ามีการคืนธนาคารและออกแคชเชียร์เช็คใหม่ 2 ฉบับ นายวีระได้คืนเช็คไม่ลงวันที่คืนมา ทำให้เห็นว่าการออกเช็คไม่ลงวันที่มีข้อตกลงว่าจะไม่นำไปเรียกเก็บเงินหาเป็นข้อพิรุธดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย นอกจากนี้ยังปรากฏว่าหลังจากที่นายวีระถึงแก่ความตายจำเลยยังชำระหนี้ให้แก่นายศาวิกรณ์เป็นแคชเชียร์เช็คลงวันที่ 22 มกราคม 2559 และวันที่ 31 มีนาคม 2559 ยิ่งเป็นข้อบ่งชี้ว่านายศาวิกรณ์ให้นายวีระดูแลเงินกู้แทน เมื่อฟังประกอบข้อเท็จจริงว่าโจทก์ไม่ใช้ภริยาของนายวีระแต่เป็นเพียงผู้มาดูแลนายวีระ จึงไม่มีเหตุผลเพียงพอที่นายวีระจะให้เงินแก่โจทก์โดยให้จำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาททั้งสามเป็นเงินถึง 120,000,000 บาท แทนการชำระหนี้เงินกู้ที่กู้จากนายศาวิกรณ์มิได้กู้เงินจากนายวีระ ที่ให้นายวีระดูแลแทน พยานหลักฐานที่จำเลยนำสืบมีน้ำหนักให้รับฟัง โจทก์มีตัวโจทก์เพียงคนเดียวเบิกความ คำเบิกความของโจทก์ไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง พยานหลักฐานที่จำเลยนำสืบมีน้ำหนักกว่าพยานหลักฐานโจทก์ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยออกเช็คพิพาททั้งสามฉบับมอบให้นายวีระโดยมีข้อตกลงว่าจะไม่มีการนำไปเรียกเก็บเงินโดยโจทก์ทราบและโจทก์เอาเช็คพิพาททั้งสามฉบับไปจากตู้นิรภัยของนายวีระแล้ว ลงวันที่และเรียกเก็บเงินจากธนาคารโดยจำเลยไม่ยินยอมและธนาคารก็ปฏิเสธการจ่ายเงินเนื่องจากจำเลยมีคำสั่งห้ามธนาคารจ่ายเงิน โจทก์จึงไม่ใช่ผู้ทรงเช็คพิพาททั้งสามฉบับโดยชอบอันมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระเงินตามเช็ค ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยชำระหนี้ตามเช็คพิพาททั้งสามฉบับมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยปัญหานี้ฟังขึ้น เมื่อวินิจฉัยดังนี้แล้ว ปัญหาตามฎีกาของจำเลยนอกจากนี้ไม่จำต้องวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไป
พิพากษากลับให้ยกฟ้อง ให้โจทก์ชำระค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนจำเลยโดยกำหนด ค่าทนายความทั้งสามศาลรวม 80,000 บาท แต่ค่าใช้จ่ายดำเนินคดีทั้งสามศาลให้เป็นพับ

Share