แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมพรัพย์ในท้องที่แขวงหัวหมากเพื่อสร้างทางหลวงแผ่นดินหมายเลข343 สายคลองตัน-ลาดกระบังพ.ศ.2532กำหนดให้อธิบดีกรมทางหลวงเป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติดังกล่าวและพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวงทบวงกรมพ.ศ.2534มาตรา15บัญญัติว่า”กระทรวงคมนาคมมีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการคมนาคมการขนส่ง”มาตรา16กำหนดให้กรมทางหลวงจำเลยที่2เป็นส่วนราชการของกระทรวงคมนาคมจำเลยที่1และตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดินพ.ศ.2534มาตรา20กระทรวงมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเป็นผู้บังคับบัญชามาตรา32กรมมีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับราชการส่วนใดส่วนหนึ่งของกระทรวงหรือทบวงตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการของกรมโดยกรมมีอธิบดีเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการและตามพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการกรมทางหลวงกระทรวงคมนาคม พ.ศ.2537มาตรา3ให้กรมทางหลวงกระทรวงคมนาคมมีอำนาจหน้าที่ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยทางหลวงเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับทางหลวงพิเศษทางหลวงแผ่นดินและทางหลวงสัมปทานรวมทั้งกฎหมายและระเบียบอื่นที่เกี่ยวข้องดังนั้นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมในฐานะผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวมีอำนาจหน้าที่ดูแลให้การดำเนินการเวนคืนเพื่อสร้างทางหลวงแผ่นดินหมายเลข343เป็นไปโดยถูกต้องตามกฎหมายและการดำเนินการเวนคืนเพื่อสร้างทางหลวงนี้อยู่ในอำนาจหน้าที่และวัตถุประสงค์ของจำเลยที่1ซึ่งดำเนินการโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นั้นเองและอธิบดีกรมทางหลวงในฐานะเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ตามพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวก็ดำเนินการในฐานะอธิบดีของจำเลยที่2ตามอำนาจและหน้าที่ของจำเลยที่2ฉะนั้นเมื่อโจทก์ทั้งสามเห็นว่าการกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์ทั้งสามสำหรับที่ดินของโจทก์ทั้งสามที่ถูกเวนคืนตามพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวซึ่งเป็นขั้นตอนหนึ่งของการดำเนินการเวนคืนเพื่อสร้างทางหลวงแผ่นดินหมายเลข343ยังไม่เป็นธรรมโจทก์ทั้งสามมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองซึ่งมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายในเรื่องค่าทดแทนที่ดินโจทก์ทั้งสามถูกเวนคืนได้ การเวนคืนที่ดินของโจทก์เป็นการดำเนินการตามพระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงที่จะสร้างทางหลวงแผ่นดินสายคลองตัน-หนองงูเห่าและทางแยกเข้าหนองงูเห่า (ฉบับที่2)พ.ศ.2524ซึ่งมีผลใช้บังคับวันที่20มีนาคม2524และพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่แขวงหัวหมาก พ.ศ.2532ขณะที่พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ.2530มีผลใช้บังคับนั้นจำเลยทั้งสองยังไม่ได้กำหนดค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์และก่อนการฟ้องคดีของโจทก์เพื่อเรียกค่าทดแทนเพิ่มขึ้นนั้นได้มีประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติฉบับที่44เรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ออกบังคับใช้แล้วดังนั้นการดำเนินการต่อไปในเรื่องนี้จึงต้องดำเนินการตอบบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ.2530ทั้งนี้ตามมาตรา36วรรคสองและประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติฉบับที่44วรรคหนึ่งและเนื่องจากพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่แขวงหัวหมาก พ.ศ.2532มิได้กำหนดเรื่องเงินค่าทดแทนไว้เป็นการเฉพาะการกำหนดเงินค่าทดแทนจึงต้องบังคับตามบทบัญญัติมาตรา21(1)ถึง(5)แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ.2530ทั้งนี้ก็เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืนและสังคมซึ่งเป็นหลักการสำคัญของการกำหนดเงินค่าทดแทนให้แก่ผู้ถูกเวนคืนในกรณีปกติแล้วการกำหนดเงินค่าทดแทนโดยคำนึงถึง(1)ถึง(5)นั้นย่อมเป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืนและสังคม สำหรับคดีนี้พระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงที่จะสร้างทางหลวงแผ่นดินสายคลองตัน-หนองงูเห่า และทางแยกเข้าหนองงูเห่า (ฉบับที่2)พ.ศ.2524มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่20มีนาคม2524และมีประกาศกระทรวงคมนาคม กำหนดให้ทางหลวงแผ่นดินสายคลองตัน-หนองงูเห่า เป็นทางหลวงที่มีความจำเป็นต้องสร้างโดยเร่งด่วนมาตั้งแต่วันที่29พฤษภาคม2524แล้วแต่กลับปรากฎว่าจำเลยที่2เพิ่งมีหนังสือลงวันที่24กุมภาพันธ์2535กับลงวันที่28เมษายน2535แจ้งให้โจทก์ไปรับเงินค่าทดแทนการที่ฝ่ายจำเลยไม่ดำเนินการชดใช้ค่าทดแทนภายในเวลาอันควรแก่โจทก์ปล่อยระยะเวลามาเนิ่นนานกว่า10ปีเป็นการดำเนินการที่มิได้เป็นไปตามครรลองของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช2521มาตรา33วรรคสามซึ่งใช้บังคับในขณะที่ที่ดินของโจทก์ถูกกำหนดเป็นเขตแนวทางหลวงตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวและทำให้โจทก์ขาดโอกาสที่จะนำเอาเงินค่าทดแทนของโจทก์ทั้งสามไปซื้อที่ดินแปลงใหม่ที่มีราคาใกล้เคียงหรือสูงกว่าที่ดินของโจทก์ทั้งสามที่ถูกเวนคืนไม่มากนักได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ทั้งสามดังนั้นการที่กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ทั้งสามโดยคำนึงถึงมาตรา21(1)ถึง(5)คือราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดของอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนตามที่เป็นอยู่ในวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาฯคือวันที่20มีนาคม2524อย่างกรณีปกติย่อมไม่เป็นธรรมแก่โจทก์และที่คณะกรรมการเพื่อทำหน้าที่กำหนดราคาเบื้องต้นฯกำหนดค่าทดแทนโดยใช้ราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมของกรมที่ดิน ระหว่างปี2522ถึง2524แล้วเพิ่มราคาแล้วเพิ่มราคาให้อีกตารางวาละร้อยละ25กับที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เงินค่าทดแทนกำหนดค่าทดแทนเท่ากับราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมของกรมที่ดิน ที่ใช้อยู่ในขณะที่คณะกรรมการเพื่อทำหน้าที่กำหนดราคาเบื้องต้นฯมีมติกำหนดค่าทดแทนคือในปี2533เพียงอย่างเดียวไม่ถูกต้องตามกฎหมายมาตราดังกล่าวคดีนี้คณะกรรมการเพื่อทำหน้าที่กำหนดราคาเบื้องต้นฯซึ่งเป็นชุดที่กำหนดราคาเบื้องต้นของโจทก์ที่ถูกเวนคืนนั้นได้รับการแต่งตั้งเมื่อวันที่3มีนาคม2532หลังจากนั้นคณะกรรมการชุดนี้จึงได้ประชุมกันเพื่อกำหนดค่าทดแทนให้แก่ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนอันเนื่องจากอสังหาริมทรัพย์ถูกเวนคืนตามพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่แขวงหัวหมาก พ.ศ.2532การดำเนินการเพื่อจ่ายเงินค่าทดแทนในกรณีนี้เพิ่งเริ่มต้นใหม่ในปี2532ดังนั้นการกำหนดเงินค่าทดแทนคดีนี้ที่จะเป็นธรรมแก่โจทก์ผู้ถูกเวนคืนและสังคมต้องกำหนดโดยคำนึงถึงมาตรา21(1)ถึง(5)แต่วันที่เป็นฐานที่ตั้งสำหรับราคาอสังหาริมทรัพย์เปลี่ยนจากวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาฯเป็นปี2532อันเป็นปีที่มีการเริ่มดำเนินการใหม่เพื่อจ่ายค่าทดแทน เมื่อจำเลยทั้งสองต้องชำระเงินค่าทดแทนให้แก่โจทก์โจทก์จึงมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสิน ในจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้นตามมาตรา26วรรคสามส่วนจะได้รับอัตราเท่าใดต้องเป็นไปตามประกาศของธนาคารออมสิน ที่ประกาศอัตราดอกเบี้ยขึ้นลงแต่ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ8ต่อปีเพราะโจทก์ทั้งสามมิได้อุทธรณ์ฎีกาขอให้เพิ่มอัตราดอกเบี้ยจากที่ศาลชั้นต้นกำหนดที่ศาลล่างทั้งสองให้จำเลยทั้งสองชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ8ต่อปีคงที่ตลอดเวลาจึงไม่ชอบด้วยมาตรา26วรรคสามซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนศาลฎีกาเห็นควรแก้ไขในส่วนนี้ให้ถูกต้อง
ย่อยาว
คดีทั้งสามสำนวนศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกัน โดยเรียกโจทก์สำนวนแรกว่า โจทก์ที่ 1 โจทก์สำนวนที่สองว่า โจทก์ที่ 2 และโจทก์สำนวนที่สามว่า โจทก์ที่ 3 เรียกจำเลยทั้งสามสำนวนว่าจำเลยที่1 และที่ 2
โจทก์ทั้งสามฟ้องในทำนองเดียวกันว่า โจทก์ที่ 1 เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 38823 เนื้อที่ 1 ไร่ โจทก์ที่ 2 เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 38824 เนื้อที่ 1 ไร่ 1 ตารางวา โจทก์ที่ 3 เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 38822 เนื้อที่ 1 ไร่ ที่ดินทั้งสามแปลงดังกล่าวอยู่ติดต่อกัน ตั้งอยู่ตำบลหัวหมาก (หัวหมากใต้)อำเภอบางกะปิ กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2532 ได้มีพระราชบัญญัติบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่แขวงหัวหมากเขตบางกะปิ แขวงสวนหลวง แขวงประเวศ เขตพระโขนง และแขวงคลองสองต้นนุ่น แขวงคลองสามประเวศ แขวงลำปลาทิว เขตลาดกระบังกรุงเทพมหานคร เพื่อสร้างทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 343สายคลองตัน – ลาดกระบัง พ.ศ. 2532 โดยอธิบดีกรมทางหลวงเป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติดังกล่าวเมื่อต้นปี 2535 จำเลยที่ 2 แจ้งว่าโจทก์ที่ 1 ถูกเวนคืนที่ดินจำนวน162 ตารางวา กำหนดค่าทดแทน 163,000 บาท โจทก์ที่ 2 ถูกเวนคืนที่ดินจำนวน 152 ตารางวา กำหนดค่าทดแทน 228,000 บาทโจทก์ที่ 3 ถูกเวนคืนที่ดินจำนวน 172 ตารางวา กำหนดค่าทดแทน174,000 บาท โจทก์ทั้งสามต่างยื่นคำอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้รับคำวินิจฉัยเพิ่มค่าทดแทนที่ดินให้เป็นตารางวาละ 2,500 บาท ค่าทดแทนดังกล่าวกำหนดอย่างไม่เหมาะสมและไม่เป็นธรรม เนื่องจากที่ดินของโจทก์ทั้งสามอยู่ในเขตที่มีความเจริญไม่ห่างจากถนนใหญ่ เป็นที่ดินจัดสรรติดถนนซอยรถยนต์เข้าถึงผ่านเข้าออก สะดวก ที่ดินบริเวณใกล้เคียงมีราคาซื้อขายกันในท้องตลาดตารางวาละตั้งแต่ 22,000 บาท ถึง 40,000 บาท ขอค่าทดแทนที่ดินในราคาตารางวาละ 22,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประจำของธนาคารออมสิน อัตราร้อยละ 8 ต่อปีถึงวันฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระเงินให้โจทก์ที่ 1 จำนวน3,532,194.73 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 8 ต่อปี ในต้นเงิน 3,401,000 บาท ให้โจทก์ที่ 2จำนวน 3,236,200.76 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 8 ต่อปีในต้นเงิน 3,116,000 บาท และให้โจทก์ที่ 3 จำนวน 3,934,115.94 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 8 ต่อปี ในต้นเงิน 3,784,000 บาทโดยดอกเบี้ยนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองให้การทั้งสามสำนวนในทำนองเดียวกันว่าโจทก์ทั้งสามไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสอง เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจได้กำหนดค่าทดแทนที่ดินถูกต้องด้วยกฎหมายและเป็นธรรมแล้วเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2524 รัฐบาลได้ตราพระราชกฤษฎีกากำหนดแนวที่จะสร้างทางหลวงแผ่นดินสายคลองตัน – หนองงูเห่า และทางแยกเข้าหนองงูเห่า (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2524 และวันที่ 29 พฤษภาคม 2524รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้มีประกาศกระทรวงคมนาคมให้เป็นทางหลวงที่มีความจำเป็นต้องสร้างโดยเร่งด่วน เพื่อให้เจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์เข้าครอบครองอสังหาริมทรัพย์ต่อมาวันที่ 3 มีนาคม 2532 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้ออกคำสั่งกระทรวงคมนาคม ที่ 57/2532 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อทำหน้าที่กำหนดราคาเบื้องต้นของอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนและจำนวนเงินค่าทดแทนที่จะให้แก่เจ้าของทรัพย์สินเนื่องจากในการสร้างหรือขยายทางหลวงหมายเลข 343สายคลองตัน – หนองงูเห่า เฉพาะในท้องที่ เขตบางกะปิกรุงเทพมหานคร ตามมาตรา 27(2) แทนคณะกรรมการฯชุดเดิมตามคำสั่งกระทรวงคมนาคม ที่ 74/2531 ลงวันที่ 7 มีนาคม2531 คณะกรรมการเพื่อทำหน้าที่กำหนดราคาเบื้องต้นของอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนและจำนวนเงินค่าทดแทนที่จะให้แก่เจ้าของทรัพย์สินได้ประชุมครั้งที่ 1/2534 เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2533 ใช้ราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมที่ใช้บังคับระหว่างปี 2522 ถึง 2524 และเพิ่มขึ้นอีกตารางวาละร้อยละ 25 แล้ว เจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ได้มีหนังสือแจ้งให้โจทก์ทั้งสามไปตกลงราคาค่าทดแทนที่ถูกเขตทางหลวงเมื่อโจทก์ทั้งสามยื่นคำอุทธรณ์แล้วรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เห็นว่ายังไม่เหมาะสม เห็นสมควรกำหนดค่าทดแทนที่ดินให้เพิ่มขึ้นเป็นตารางวาละ 2,500 บาท แต่โจทก์ทั้งสามนำคดีมาฟ้องเสียก่อนราคาซื้อขายตามที่โจทก์ทั้งสามกล่าวอ้างไม่มีหลักฐานสนับสนุนและไม่ปรากฎราคาดังกล่าว คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เงินค่าทดแทนจึงได้เสนอให้นำราคาจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมที่ใช้บังคับระหว่างปี 2531 ถึง 2534 เป็นเกณฑ์กำหนดให้ซึ่งนับว่าเป็นธรรมแล้ว ดอกเบี้ยที่ขอคิดไม่มีกฎหมายใดบัญญัติให้เรียกร้องให้ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระเงินให้โจทก์ที่ 1จำนวน 647,000 บาท ให้โจทก์ที่ 2 จำนวน 532,000 บาท และให้โจทก์ที่ 3 จำนวน 686,000 บาท ให้โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ได้รับพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 8 ต่อปี นับแต่วันที่ 4 มีนาคม 2535จนกว่าจะชำระเสร็จ และให้โจทก์ที่ 3 ได้รับพร้อมดอกเบี้ยดังกล่าวนับแต่วันที่ 28 พฤษภาคม 2535 จนกว่าจะชำระเสร็จคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์ทั้งสามสำนวนและจำเลยทั้งสองทั้งสามสำนวนอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองทั้งสามสำนวนฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2524 ได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงที่จะสร้างทางหลวงแผ่นดินสายคลองตัน – หนองงูเห่า และทางแยกเข้าหนองงูเห่า (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2524 ซึ่งมีผลใช้บังคับวันที่ 20มีนาคม 2524 เป็นต้นไป โดยให้อธิบดีกรมทางหลวง เป็นเจ้าหน้าที่ผู้ดำเนินการตามพระราชกฤษฎีกานี้ และให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมรักษาการตามพระราชกฤษฎีกานี้ วันที่ 29 พฤษภาคม 2524 มีประกาศกระทรวงคมนาคม กำหนดให้ทางหลวงแผ่นดินสายคลองตัน – หนองงูเห่า และทางแยกเข้าหนองงูเห่าในท้องที่เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร เป็นทางหลวงที่มีความจำเป็นต้องสร้างโดยเร่งด่วน ต่อมาวันที่ 3 มีนาคม 2532 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ออกคำสั่งกระทรวงคมนาคม ที่ 57/2532เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อทำหน้าที่กำหนดราคาเบื้องต้นของอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนและจำนวนเงินค่าทดแทนที่จะให้แก่เจ้าของทรัพย์สิน เนื่องในการสร้างหรือขยายทางหลวงหมายเลข 343สายคลองตัน – หนองงูเห่า เฉพาะในท้องที่เขตบางกะปิกรุงเทพมหานคร ตามมาตรา 27(2) แทนคณะกรรมการฯ ชุดเดิมตามคำสั่งกระทรวงคมนาคม ที่ 74/2531 ลงวันที่ 7 มีนาคม 2531 ต่อมาวันที่ 13 สิงหาคม 2532 มีพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในในท้องที่แขวงหัวหมาก เขตบางกะปี แขวงสองหลวง แขวงประเวศเขตพระโขนง และแขวงคลองสองต้นนุ่น แขวงคลองสามประเวศแขวงลำปลาทิว เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร เพื่อสร้างทางหลวงแผ่นดินหลายเลข 343 สายคลองตัน – ลาดกระบัง พ.ศ. 2532ซึ่งมีผลใช้บังคับวันที่ 7 กันยายน 2532 เป็นผลให้ที่ดินของโจทก์ที่ 1 โฉนดเลขที่ 38823 ถูกเวนคืนเนื้อที่ 162 ตารางวา ที่ดินของโจทก์ที่ 2 โฉนดเลขที่ 38824 ถูกเวนคืนเนื้อที่ 152 ตารางวาที่ดินของโจทก์ที่ 3 โฉนดเลขที่ 38822 ถูกเวนคืนเนื้อที่ 172ตารางวา คณะกรรมการเพื่อทำหน้าที่กำหนดราคาเบื้องต้นฯ กำหนดค่าทดแทนที่ดินโดยใช้ราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมของกรมที่ดินระหว่างปี 2522 ถึง 2524 และเพิ่มขึ้นอีกตารางวาละร้อยละ 25แล้วกำหนดค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนของโจทก์ทั้งสามดังกล่าวให้แก่โจทก์ที่ 1 รวม 163,000 บาท ให้แก่โจทก์ที่ 2 รวม 228,000 บาทให้แก่โจทก์ที่ 3 รวม 174,000 บาท โจทก์ทั้งสามอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เงินค่าทดแทนได้กำหนดค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์ทั้งสามตามราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมของกรมที่ดินปี 2531 ถึง 2534 โดยกำหนดให้ตารางวาละ 2,500 บาททั้งหมด และมีหนังสือแจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์เงินค่าทดแทนให้แก่โจทก์ทั้งสามทราบ และแจ้งว่าจะได้ติดต่อให้โจทก์ทั้งสามมารับเงินค่าทดแทนส่วนที่เพิ่มขึ้นพร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมายต่อไป
จำเลยทั้งสองในสำนวนที่ 2 ฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์ไม่วินิจฉัยประเด็นเรื่องอำนาจฟ้องไม่ชอบ เห็นว่า จำเลยทั้งสองได้อุทธรณ์ในปัญหาดังกล่าวแต่ศาลอุทธรณ์มิได้วินิจฉัยให้ จึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งว่าด้วยคำพิพากษาและคำสั่งแต่ศาลฎีกาเห็นควรวินิจฉัยโดยไม่ส่งสำนวนคืนให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยเห็นว่า พระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่แขวงหัวหมากเพื่อสร้างทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 343 สายคลองตัน – ลาดกระบังพ.ศ. 2532 กำหนดให้อธิบดีกรมทางหลวง เป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติดังกล่าว และพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2534มาตรา 15 บัญญัติว่า “กระทรวงคมนาคม มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการคมนาคมการขนส่ง” มาตรา 16 กำหนดให้กรมทางหลวง จำเลยที่ 2เป็นส่วนราชการของกระทรวงคมนาคม จำเลยที่ 1 และตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 มาตรา 20 กระทรวงมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเป็นผู้บังคับบัญชา มาตรา 32 กรมมีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับราชการส่วนใดส่วนหนึ่งของกระทรวงหรือทบวงตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการของกรม โดยกรมมีอธิบดีเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการ และตามพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการกรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม พ.ศ. 2537 มาตรา 3 ให้กรมทางหลวงกระทรวงคมนาคม มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยทางหลวงเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับทางหลวงพิเศษ ทางหลวงแผ่นดิน และทางหลวงสัมปทาน รวมทั้งกฎหมายและระเบียบอื่นที่เกี่ยวข้อง ดังนั้นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมในฐานะผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวมีอำนาจหน้าที่ดูแลให้การดำเนินการเวนคืนเพื่อสร้างทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 343 เป็นไปโดยถูกต้องตามกฎหมายและการดำเนินการเวนคืนเพื่อสร้างทางหลวงนี้อยู่ในอำนาจหน้าที่และวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 1 ซึ่งดำเนินการโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมนั่นเอง และอธิบดีกรมทางหลวงในฐานะเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ตามพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ตามพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวก็ก็ดำเนินการในฐานะอธิบดีของจำเลยที่ 2 ตามอำนาจและหน้าที่ของจำเลยที่ 2 ฉะนั้นเมื่อโจทก์ทั้งสามเห็นว่าการกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์ทั้งสาม สำหรับที่ดินของโจทก์ทั้งสามที่ถูกเวนคืนตามพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวซึ่งเป็นขั้นตอนหนึ่งของการดำเนินการเวนคืนเพื่อสร้างทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 343ยังไม่เป็นธรรม โจทก์ทั้งสามมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองซึ่งมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายในเรื่องค่าทดแทนที่ดินที่โจทก์ทั้งสามถูกเวนคืนได้
ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า จำเลยทั้งสองกำหนดค่าทดแทนถูกต้องเป็นธรรมแล้ว เห็นว่า การเวนคืนของโจทก์ทั้งสามเป็นการดำเนินการตามพระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงที่จะสร้างทางหลวงแผ่นดินสายคลองตัน – หนองงูเห่า และทางแยกเข้าหนองงูเห่า (ฉบับที่ 2)พ.ศ. 2524 ซึ่งมีผลใช้บังคับ วันที่ 20 มีนาคม 2524 และพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่แขวงหัวหมากพ.ศ. 2532 ขณะที่พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ. 2530 มีผลใช้บังคับนั้น จำเลยทั้งสองยังไม่ได้กำหนดค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์ทั้งสาม และก่อนการฟ้องคดีของโจทก์ทั้งสามเพื่อเรียกค่าทดแทนเพิ่มขึ้นนั้นได้มีประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 44 เรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ออกบังคับใช้แล้ว ดังนั้นการดำเนินการต่อไปในเรื่องนี้จึงต้องดำเนินการตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530ทั้งนี้ตามมาตรา 36 วรรคสองและประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 44 ข้อ 4 วรรคหนึ่งและเนื่องจากพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่แขวงหัวหมาก พ.ศ. 2532 มิได้กำหนดเรื่องเงินค่าทดแทนไว้เป็นการเฉพาะ การกำหนดเงินค่าทดแทนจึงต้องบังคับตามบทบัญญัติมาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 ที่บัญญัติว่าให้กำหนดโดยคำนึงถึง
(1) ราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดของอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนตามที่เป็นอยู่ในวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามมาตรา 6
(2) ราคาของอสังหาริมทรัพย์ที่มีการตีราคาไว้เพื่อประโยชน์แก่การเสียภาษีบำรุงท้องที่
(3) ราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม
(4) สภาพและที่ตั้งของอสังหาริมทรัพย์นั้น และ
(5) เหตุและวัตถุประสงค์ของการเวนคืนทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืนและสังคม มาตรา 21นี้ ให้กำหนดเงินค่าทดแทนที่จะให้แก่ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนโดยคำนึงถึง (1) ถึง (5) ก็เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืนและสังคมซึ่งเป็นหลักการสำคัญของการกำหนดเงินค่าทดแทนให้แก่ผู้ถูกเวนคืนในกรณีปกติแล้วการกำหนดเงินค่าทดแทนโดยคำนึงถึง (1) ถึง (5)นั้นย่อมเป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืนและสังคม สำหรับคดีนี้พระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงที่จะสร้างทางหลวงแผ่นดินสายคลองตัน – หนองงูเห่าและทางแยกเข้าหนองงูเห่า (ฉบับที่ 2 ) พ.ศ. 2524 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม 2524 และมีประกาศกระทรวงคมนาคมกำหนดให้ทางหลวงแผ่นดินสายคลองตัน – หนองงูเห่า เป็นทางหลวงที่มีความจำเป็นต้องสร้างโดยเร่งด่วน มาตั้งแต่วันที่ 29 พฤษภาคม 2524แล้ว แต่กลับปรากฎว่าจำเลยที่ 2 เพิ่มมีหนังสือลงวันที่ 24กุมภาพันธ์ 2535 กับลงวันที่ 28 เมษายน 2535 แจ้งให้โจทก์ที่ 1และที่ 2 กับโจทก์ที่ 3 ไปรับเงินค่าทดแทนตามเอกสารหมาย จ.7 และจ.14 กับ จ.23 ตามลำดับ การที่ฝ่ายจำเลยไม่ดำเนินการชดใช้ค่าทดแทนภายในเวลาอันควรแก่โจทก์ทั้งสาม ปล่อยระยะเวลามาเนิ่นนานกว่า10 ปี เป็นการดำเนินการที่มิได้เป็นไปตามครรลองของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2521 มาตรา 33 วรรคสาม ซึ่งใช้บังคับในขณะที่ที่ดินของโจทก์ทั้งสามถูกกำหนดเป็นเขตแนวทางหลวงตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว และทำให้โจทก์ขาดโอกาสที่จะนำเอาเงินค่าทดแทนของโจทก์ทั้งสามไปซื้อที่ดินแปลงใหม่ที่มีราคาใกล้เคียงหรือสูงกว่าที่ดินของโจทก์ทั้งสามที่ถูกเวนคืนไม่มากนัก ได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ทั้งสาม ดังนั้นการที่กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ทั้งสามโดยคำนึงถึงมาตรา 21(1) ถึง (5) คือราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดของอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนตามที่เป็นอยู่ในวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาฯ คือ วันที่ 20 มีนาคม 2524อย่างกรณีปกติย่อมไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ทั้งสาม และที่คณะกรรมการเพื่อทำหน้าที่กำหนดราคาเบื้องต้นฯ กำหนดค่าทดแทนโดยใช้ราคาประเมินทุนทรัพย์เพิ่มเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมของกรมที่ดินระหว่างปี 2522 ถึง 2524 แล้วเพิ่มราคาให้อีกตารางวาละร้อยละ 25 กับที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เงินค่าทดแทนกำหนดค่าทดแทนเท่ากับราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมของกรมที่ดินที่ใช้อยู่ในขณะที่คณะกรรมการเพื่อทำหน้าที่กำหนดราคาเบื้องต้นฯ มีมติกำหนดค่าทดแทนคือในปี 2533 เพียงอย่างเดียว ไม่ถูกต้องตามกฎหมายมาตราดังกล่าว สำหรับทั้งสามคดีนี้ศาลฎีกาเห็นว่า คณะกรรมการเพื่อทำหน้าที่กำหนดราคาเบื้องต้นฯ ซึ่งเป็นชุดที่ทำหน้าที่กำหนดราคาเบื้องต้นของโจทก์ทั้งสามที่ถูกเวนคืนนั้นได้รับการแต่งตั้งเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2532 หลังจากนั้นคณะกรรมการชุดนี้จึงได้ประชุมกันเพื่อกำหนดค่าทดแทนให้แก่ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนอันเนื่องจากอสังหาริมทรัพย์ถูกเวนคืนตามพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่แขวงหัวหมาก พ.ศ. 2532 การดำเนินการเพื่อจ่ายเงินค่าทดแทนในกรณีนี้เพิ่งเริ่มต้นใหม่ในปี 2532 ดังนั้นศาลฎีกาเห็นว่าการกำหนดเงินค่าทดแทนสำหรับทั้งสามคดีนี้ที่จะเป็นธรรมแก่โจทก์ทั้งสามผู้ถูกเวนคืนและสังคมต้องกำหนดโดยคำนึงถึงมาตรา 21(1) ถึง (5) แต่วันที่เป็นฐานที่ตั้งสำหรับราคาอสังหาริมทรัพย์เปลี่ยนจากวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาฯ เป็นปี 2532 อันเป็นปีที่มีการเริ่มดำเนินการใหม่เพื่อจ่ายค่าทดแทน โจทก์ทั้งสามนำสืบว่าที่ดินของโจทก์ทั้งสามอยู่ติดถนนกรุงเทพกรีฑา และติดกับสนามกอล์ฟกรุงเทพกรีฑาเป็นที่ดินจัดสรรแบ่งเป็นแปลง มีทางเข้าออกหลายทาง ที่ดินในหมู่บ้านเมืองทองศรีนครินทร์ ซึ่งอยู่ไกลจากใจกลางกรุงเทพมหานครกว่าที่ดินของโจทก์ทั้งสามขายตารางวาละ31,200 บาท และในปี 2535 ที่ดินของบริษัทแลนด์แอนด์เฮ้าส์ จำกัดซึ่งอยู่ไกลจากใจกลางกรุงเทพมหานครกว่าที่ดินของโจทก์ทั้งสามเช่นกันขายราคาตารางวาละ 26,000 บาท ถึง 28,500 บาทตามเอกสารหมาย จ.2 และ จ.3 และข้อเท็จจริงฟังยุติว่า ราคาซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดของที่ดินที่จะต้องเวนคืนท้องที่เขตบางกะปิในปี 2530 และ 2531 มีราคาซื้อขายกันสูง และที่ดินของโจทก์ทั้งสามที่ถูกเวนคืนมีสภาพและที่ตั้งเป็นที่อยู่อาศัยติดถนนเอกชนกว้างเกินกว่า 4 เมตร ซึ่งเป็นที่ดินจัดสรรของสโมสรกรุงเทพกรีฑามีบ้านจัดสรรปลูกสร้างหลายแห่ง ทางเข้าที่ดินเป็นทางลูกรังแยกจากซอยกรุงเทพกรีฑาที่เชื่อมระหว่างถนนสุขาภิบาล 4 กับถนนพัฒนาการเห็นว่า แม้ราคาที่ดินในหมู่บ้านจัดสรรที่โจทก์ทั้งสามนำสืบเป็นราคาในปี 2535 และสภาพที่ดินในหมู่บ้านดังกล่าวมีการจัดสาธารณูปโภคไว้ครบถ้วนแล้ว ต่างกับที่ดินของโจทก์ทั้งสามที่ถูกเวนคืน ซึ่งสภาพเป็นทุ่งนา ไม่อาจนำมาใช้เป็นราคาซื้อขายที่ดินของโจทก์ทั้งสามที่ถูกเวนคืนก็ตาม แต่ก็ชี้ให้เห็นได้ว่าราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดของที่ดินของโจทก์ทั้งสามที่ถูกเวนคืนตามที่เป็นอยู่ในปี2532 มีราคาสูงกว่าตารางวาละ 2,500 บาท ซึ่งเป็นราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมของกรมที่ดิน ปี 2531 ถึง 2534 ที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เงินค่าทดแทนใช้ในกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์ทั้งสามทั้งคณะกรรมการเพื่อทำหน้าที่กำหนดราคาเบื้องต้นฯ ของฝ่ายจำเลยก็รับว่า ราคาซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดของที่ดินที่จะต้องเวนคืนท้องที่เขตบางกระปิในปี 2530 และ 2531 มีราคาซื้อขายกันสูงเมื่อคำนึงถึงสภาพและที่ตั้งของที่ดินของโจทก์ทั้งสามที่ถูกเวนคืนดังกล่าวข้างต้นประกอบด้วยแล้วเชื่อว่าราคาซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดของที่ดินดังกล่าวที่ราคาสูงกว่า ตารางวาละ 2,500 บาทมากที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์ทั้งสามตารางวาละ5,000 บาท เป็นธรรมแก่โจทก์ทั้งสามผู้ถูกเวนคืนและสังคม ชอบด้วยหลักการสำคัญของการกำหนดเงินค่าทดแทนตามมาตรา 21แล้ว แต่ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระเงินค่าทดแทนเพิ่มขึ้นจากที่คณะกรรมการเพื่อทำหน้าที่กำหนดราคาเบื้องต้นฯ โดยไม่ได้หักเงินค่าทดแทนในส่วนที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เงินค่าทดแทนกำหนดซึ่งโจทก์ทั้งสามมีสิทธิรับค่าทดแทนจำนวนนี้จากจำเลยทั้งสองพร้อมดอกเบี้ยตามที่กฎหมายกำหนดได้อยู่แล้วออก จึงยังไม่ถูกต้องเงินค่าทดแทนที่ศาลวินิจฉัยให้จำเลยทั้งสองชำระเพิ่มขึ้นจากที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เงินค่าทดแทนกำหนดนั้นเพิ่มขึ้นอีกตารางวาละ 2,500 บาท โจทก์ทั้งสองจึงได้รับเงินค่าทดแทนที่ดินตามที่ศาลวินิจฉัยให้จำเลยทั้งสองชำระเพิ่มขึ้น ดังนี้ โจทก์ที่ 1จำนวน 405,000 บาท โจทก์ที่ 2 จำนวน 380,000 บาท โจทก์ที่ 3จำนวน 430,000 บาท
อนึ่ง เมื่อจำเลยทั้งสองต้องชำระเงินค่าทดแทนให้แก่โจทก์ทั้งสามตามคำวินิจฉัยของศาลดังกล่าวข้างต้น โจทก์ทั้งสามจึงมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินในจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้นตามมาตรา 26 วรรคสาม ส่วนจะได้รับอัตราเท่าใดต้องเป็นไปตามประกาศของธนาคารออมสินที่ประกาศอัตราดอกเบี้ยขึ้นลงแต่ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 8 ต่อปี เพราะโจทก์ทั้งสามมิได้อุทธรณ์ฎีกาขอให้เพิ่มอัตราดอกเบี้ยจากที่ศาลชั้นต้นกำหนด ที่ศาลล่างทั้งสองให้จำเลยทั้งสองชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 8 ต่อปีคงที่ตลอดเวลา จึงไม่ชอบด้วยมาตรา 26 วรรคสาม ซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขในส่วนนี้ให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองชำระเงินแก่โจทก์ที่ 1จำนวน 405,000 บาท แก่โจทก์ที่ 2 จำนวน 405,000 บาท แก่โจทก์ที่ 2 จำนวน 380,000 บาท แก่โจทก์ที่ 3 จำนวน 430,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินในจำนวนเงินค่าทดแทนที่ศาลให้จำเลยทั้งสองชำระเพิ่มขึ้นดังกล่าวแก่โจทก์แต่ละคน แต่ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 8 ต่อปีนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์