แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 26 บัญญัติให้สิทธิและหน้าที่ระหว่างผู้ขนส่งกับผู้รับตราส่งในเรื่องทั้งหลายเกี่ยวกับการขนส่งของที่ระบุไว้ในใบตราส่งนั้น ให้เป็นไปตามข้อกำหนดในใบตราส่ง จำเลยยอมรับเอาหน้าที่ที่จะต้องรับมอบตู้สินค้าจากโจทก์ตามข้อกำหนดในใบตราส่ง โดยเงื่อนไขการขนส่งของซีวาย ตัวหลัง และโจทก์ได้ขนส่งตู้สินค้าพิพาทถึงท่าปลายทางทั้งได้แจ้งให้จำเลยทราบแล้ว แต่จำเลยมิได้ดำเนินการใดๆ ปล่อยให้สินค้าตกค้างอยู่ในตู้จนกระทั่งตู้สินค้าถูกอายัดไว้ดำเนินคดีเป็นเหตุให้โจทก์ไม่สามารถใช้ประโยชน์จากตู้สินค้าได้ จำเลยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ชำระค่าหน่วงเหนี่ยวตู้สินค้าจนกว่าจะส่งมอบตู้สินค้าดังกล่าวคืนโจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อประมาณเดือนพฤษภาคม 2548 จำเลยสั่งนำเข้าสินค้าจำพวกใบเลื่อย ดินสอช่างไม้ เลื่อย รวมจำนวน 491 ห่อ จากผู้ขายที่สาธารณรัฐประชาชนจีน ผู้ขายบรรจุสินค้าในตู้สินค้าของโจทก์จำนวน 1 ตู้ และมอบให้โจทก์ขนส่งจากสาธารณรัฐประชาชนจีนมาส่งมอบให้แก่จำเลยซึ่งเป็นผู้รับตราส่งในประเทศไทย โจทก์ขนส่งสินค้ามาถึงประเทศไทยวันที่ 11 พฤษภาคม 2548 ซึ่งจำเลยในฐานะผู้รับตราส่งมีหน้าที่ต้องดำเนินพิธีการศุลกากรนำสินค้าออกและส่งคืนตู้สินค้าเปล่าแก่โจทก์ภายใน 7 วัน แต่จำเลยมิได้ดำเนินการ ปล่อยให้ตู้สินค้าตกค้างอยู่ในคลังสินค้าจนถึงปัจจุบัน เป็นเหตุให้โจทก์ไม่สามารถนำตู้สินค้าไปใช้ประโยชน์ในการบรรจุสินค้าอื่นได้ จำเลยจึงต้องชำระค่าหน่วงเหนี่ยวตู้แก่โจทก์ คิดถึงวันฟ้องเป็นเงิน 323,460 บาท จำเลยชำระแล้วบางส่วนเป็นเงิน 27,756 บาท คงเหลือหนี้จำนวน 295,704 บาท โจทก์ทวงถามแล้วแต่จำเลยเพิกเฉย จำเลยจึงต้องรับผิดชำระหนี้ที่ค้างพร้อมค่าหน่วงเหนี่ยวตู้ในอัตราวันละ 540 บาท นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะส่งคืนตู้สินค้าเปล่าแก่โจทก์เรียบร้อย ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 295,704 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยชำระค่าหน่วงเหนี่ยวตู้ในอัตราวันละ 540 บาท นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะส่งมอบตู้สินค้าเปล่าคืนแก่โจทก์
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งให้รับฟ้องและดำเนินคดีอย่างคดีมโนสาเร่
จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง พิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า จำเลยต้องรับผิดชำระค่าหน่วงเหนี่ยวตู้สินค้าแก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 26 บัญญัติให้สิทธิและหน้าที่ระหว่างผู้ขนส่งกับผู้รับตราส่งในเรื่องทั้งหลายเกี่ยวกับการขนส่งของที่ระบุไว้ในใบตราส่งนั้น ให้เป็นไปตามข้อกำหนดในใบตราส่ง ซึ่งแม้ใบตราส่งเอกสารหมาย จ.5 ไม่ปรากฏข้อกำหนดหน้าที่ให้จำเลยต้องดำเนินพิธีการศุลกากรขนถ่ายสินค้าออกจากตู้และส่งมอบตู้สินค้าคืนแก่โจทก์ภายใน 7 วันก็ตาม แต่ใบตราส่งดังกล่าวระบุว่าจำเลยเป็นผู้รับตราส่ง และเป็นผู้ที่ต้องได้รับแจ้งการมาถึงของสินค้า ทั้งมีเงื่อนไขการขนส่งแบบ เอฟซีแอล ซีวาย/ซีวาย ข้อความดังกล่าวเป็นการกำหนดหน้าที่ให้โจทก์ต้องแจ้งการมาถึงของสินค้าให้จำเลยทราบและส่งมอบสินค้าให้แก่จำเลย และเมื่อตู้สินค้าถูกขนส่งถึงท่าปลายทาง โจทก์ในฐานะผู้ขนส่งจะต้องส่งมอบตู้สินค้าทั้งตู้แก่จำเลยในฐานะผู้รับตราส่งเพื่อนำไปเปิดที่โกดังของตนเอง ซึ่งข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์ได้แจ้งให้จำเลยทราบว่าสินค้ามาถึงประเทศไทยแล้ว โดยก่อนหน้านั้นจำเลยได้มีหนังสือแจ้งโจทก์ลงวันที่ 10 พฤษภาคม 2548 ขอเปลี่ยนสถานที่ส่งมอบจากเดิมที่ระบุไว้ในใบตราส่งจากแหลมฉบัง เป็น สยาม คอนเทนเนอร์ เทอร์มินอล (เอสซีที) โดยตกลงที่จะชำระค่าบริการที่เกี่ยวข้องสำหรับการดังกล่าวจำนวน 50 ดอลลาร์สหรัฐ เพื่อเป็นประกันในการดำเนินการ อีกทั้งจำเลยยังตกลงจะรับผิดในความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นแก่โจทก์ ตามเอกสารหมาย จ.6 พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่า จำเลยยอมรับเอาหน้าที่ที่จะต้องรับมอบตู้สินค้าจากโจทก์ตามข้อกำหนดของใบตราส่ง โดยเงื่อนไขการขนส่งของซีวาย ตัวหลังแล้ว และต่อมาเมื่อจำเลยไม่ได้ดำเนินการเพื่อรับมอบสินค้าในเวลาอันควร โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวและทวงถาม จำเลยก็ได้ชำระค่าหน่วงเหนี่ยวตู้บางส่วนแก่โจทก์ถึง 2 ครั้ง ตามเอกสารหมาย จ.7 และ จ.8 การกระทำของจำเลยแสดงให้เห็นว่า จำเลยมีเจตนาที่จะปฏิบัติตามข้อกำหนดในใบตราส่งเพื่อที่จะเข้าครอบครองถือประโยชน์ในสินค้า และรับผิดชอบในความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นแก่โจทก์ เมื่อโจทก์ขนส่งตู้สินค้าพิพาทถึงท่าปลายทางและพร้อมที่จะส่งมอบ โดยยกตู้สินค้าลงจากเรือนำเข้าเก็บในโรงพักสินค้า ทั้งได้แจ้งให้จำเลยทราบแล้ว แต่จำเลยมิได้ดำเนินการใดๆปล่อยให้สินค้าตกค้างอยู่ในตู้จนกระทั่งตู้สินค้าถูกอายัดไว้ดำเนินคดีเป็นเหตุให้โจทก์ไม่สามารถใช้ประโยชน์จากตู้สินค้าได้ จำเลยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ชำระค่าหน่วงเหนี่ยวตู้สินค้าจนกว่าจะส่งมอบตู้สินค้าดังกล่าวคืนโจทก์ และโจทก์นำสืบว่า อัตราค่าหน่วงเหนี่ยวตู้สินค้าวันละ 540 บาท เป็นอัตราปกติที่ใช้กันทั่วไปในธุรกิจ รับขนส่งสินค้าทางทะเล ซึ่งจำเลยก็ยอมรับและจ่ายค่าหน่วงเหนี่ยวตู้สินค้าบางส่วนแก่โจทก์ ฟังได้ว่าจำเลยค้างชำระค่าหน่วงเหนี่ยวตู้สินค้าจนถึงวันฟ้องเป็นเงิน 295,704 บาท ตามที่โจทก์นำสืบ ส่วนปัญหาตามอุทธรณ์ของโจทก์ที่ว่า การที่โจทก์นำสืบว่าจำเลยเป็นผู้ว่าจ้างโจทก์ขนสินค้ารายนี้ด้วย เป็นการนำสืบนอกคำฟ้องหรือไม่นั้น เห็นว่า การวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวย่อมไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลงไป ถือว่าปัญหาดังกล่าวไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย จึงไม่รับวินิจฉัยให้ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์นั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงิน 295,704 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 12 มกราคม 2550) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และชำระค่าหน่วงเหนี่ยวตู้สินค้าอัตราวันละ 540 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะส่งมอบตู้สินค้าเปล่าคืนแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 6,000 บาท