คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2067/2548

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยชักชวนโจทก์เข้าร่วมลงทุนในบริษัทของจำเลย โดยให้โจทก์ซื้อหุ้นในบริษัทของจำเลย 3,000 หุ้น เป็นเงิน 300,000 บาท และโจทก์ได้ชำระเงินให้จำเลยรับไปแล้วโดยจำเลยสัญญาว่า เมื่อชำระแล้วจะโอนหุ้นในบริษัทของจำเลยให้แก่โจทก์ ต่อมาจำเลยมาขอเงินจากโจทก์อีก 58,000 บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในบริษัทและจะชำระเงินคืนเป็นหุ้นให้ โจทก์จึงจ่ายเงินให้จำเลยไป ซึ่งรวมทั้งสิ้นเป็นเงิน 358,000 บาท การที่จำเลยชักชวนโจทก์ให้ซื้อหุ้นในบริษัทของจำเลย เป็นเพียงคำรับรองที่จำเลยจะปฏิบัติในอนาคตขณะให้คำรับรองดังกล่าวยังไม่ถึงกำหนดเวลาที่จำเลยจะปฏิบัติตามคำรับรอง จึงไม่ใช่ความเท็จ นอกจากนั้นตามบัญชีผู้ถือหุ้น ก็ปรากฏว่าจำเลยมีหุ้นอยู่ในบริษัทดังกล่าวจำนวนถึง 9,940 หุ้น แสดงว่ามีหุ้นอยู่จริง มิได้หลอกลวงโจทก์ การที่จำเลยไม่โอนหุ้นให้แก่โจทก์จึงเป็นการผิดสัญญาในทางแพ่งเท่านั้น ไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อประมาณปลายเดือนเมษายน 2539 จำเลยซึ่งเป็นเพื่อนกับโจทก์และเป็นกรรมการผู้จัดการของบริษัทบิ๊ก อินเตอร์เชน จำกัด ได้บอกแก่โจทก์ว่า บริษัทดังกล่าวประกอบกิจการรับจ้างโฆษณา มีบริษัทต่างๆ มาว่าจ้างให้ทำการโฆษณาจำนวนมาก มีกำไรเดือนละหลายล้านบาท โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทของภรรยาจำเลยกำลังว่าจ้างให้ทำการโฆษณารถยนต์ยี่ห้อวอลโว่ จำเลยเสนอให้โจทก์ซื้อหุ้นของบริษัท หุ้นละ 100 บาท โจทก์เชื่อคำพูดของจำเลยจึงตกลงซื้อหุ้น จำนวน 3,000 หุ้น โดยมอบเงินให้แก่จำเลยรวม 4 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2539 จำนวนเงิน 50,000 บาท ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2539 จำนวนเงิน 100,000 บาท ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2539 จำนวนเงิน 100,000 บาท ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2539 จำนวนเงิน 50,000 บาท ครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2539 จำนวนเงิน 100,000 บาท รวมเป็นเงิน 300,000 บาท หลังจากจำเลยรับเงินโจทก์ครบถ้วนแล้ว จำเลยบอกว่าจะโอนหุ้นให้โจทก์ภายใน 2 เดือน ต่อมาเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2539 จำเลยให้โจทก์ซื้อหุ้นเพิ่มโดยโจทก์จ่ายเงินให้แก่พนักงานของจำเลยเป็นเงิน 8,000 บาท และเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2539 จำเลยให้โจทก์ซื้อหุ้นเพิ่มอีก 50,000 บาท โดยจำเลยนำเงินดังกล่าวไปจ่ายค่าเช่าบริษัทของจำเลย รวมเงินที่โจทก์ซื้อหุ้นไปทั้งสิ้นจำนวน 358,000 บาท โจทก์ขอดูหลักฐานการถือหุ้นของโจทก์ จำเลยก็ผัดผ่อนเรื่อยมากจนกระทั่งวันที่ 7 สิงหาคม 2540 โจทก์จึงทราบว่าจำเลยมิได้ทำการโอนหุ้นให้แก่โจทก์แต่อย่างใด การกระทำของจำเลยเป็นการหลอกลวงโจทก์ และยักยอกเงินของโจทก์ไปเพื่อประโยชน์ของตนหรือผู้อื่นโดยทุจริต ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 341, 352, 353
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ลงโทษจำคุก 1 ปี 6 เดือน ข้อหาอื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังได้ว่า จำเลยเป็นกรรมการผู้จัดการของบริษัทบิ๊ก อินเตอร์-เชน จำกัด และมีหุ้นอยู่ในบริษัทดังกล่าวจำนวนหนึ่ง เมื่อ พ.ศ.2539 จำเลยได้ชักชวนโจทก์มาร่วมทำงานในบริษัทดังกล่าว มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยได้กระทำผิดฐานฉ้อโกงตามที่โจทก์ฟ้องหรือไม่ โจทก์มีตัวโจทก์เป็นพยานเบิกความว่า เดิมโจทก์จำเลยเป็นเพื่อนกัน โจทก์ไปทำงานที่ประเทศสหรัฐอเมริกากลับมาประเทศไทยเมื่อ พ.ศ.2536 ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.2539 จำเลยได้ชักชวนโจทก์ให้มาร่วมลงทุนในบริษัทบิ๊ก อินเตอร์-เชน จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทของจำเลยโดยจำเลยเสนอขายหุ้นของบริษัทให้แก่โจทก์ 3,000 หุ้น ในราคาหุ้นละ 100 บาท รวมเป็นเงิน 300,000 บาท โจทก์ตกลงและจ่ายเงินค่าซื้อหุ้นให้แก่จำเลยแล้ว โดยแบ่งชำระเป็นงวด 4 งวด กล่าวคือ งวดแรก เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2539 จำนวนเงิน 50,000 บาท งวดที่ 2 เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2539 จำนวนเงิน 100,000 บาท งวดที่ 3 เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2539 จำนวนเงิน 50,000 บาท และงวดที่ 4 เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2539 จำนวนเงิน 10,000 บาท จำเลยบอกว่าเมื่อชำระเงินเรียบร้อยแล้วจะไปจดทะเบียนแบ่งหุ้นให้แก่โจทก์ ต่อมาจำเลยขอให้โจทก์หาเงินให้จำเลยอีก 2 ครั้ง ครั้งแรก 8,000 บาท ครั้งที่สอง 50,000 บาท โดยจำเลยแจ้งว่าจะคืนเงินเป็นหุ้นของบริษัทให้แก่โจทก์รวมเป็นเงินที่โจทก์จ่ายให้จำเลยรับไป 358,000 บาท หลังจากจ่ายเงินไปแล้ว จำเลยไม่ติดต่อกับโจทก์อีก โจทก์ไปตรวจสอบหนังสือรับรองบริษัทของจำเลยแล้วปรากฏว่าไม่มีการจดทะเบียนโอนหุ้นเป็นเชื่อโจทก์แต่อย่างใดโดยจำเลยมีเจตนาหลอกลวงโจทก์นอกจากตัวโจทก์แล้วโจทก์ยังมีนางสาวสุภัทรา วรรณทิวานนท์ กับนางสาวลัดดา โสหา มาเป็นพยานอีก 2 ปาก นางสาวสุภัทรา เบิกความได้ความแต่เพียงว่า จำเลยมาชักชวนโจทก์ร่วมลงทุนในบริษัทของจำเลยแล้วชำชวนพยานเข้าร่วมทำงานด้วย แต่พยานไม่ได้ทำงานตามที่ได้รับการชักชวน ส่วนนางสาวลัดดาเบิกความได้ความแต่เพียงว่า เคยเห็นจำเลยมารับเงินจากโจทก์เป็นเงิน 100,000 บาท เท่านั้น ดังนั้น เมื่อพิเคราะห์ข้อนำสืบของโจทก์จากคำเบิกความของพยานโจทก์ดังกล่าวแล้ว ข้อเท็จจริงได้ความแต่เพียงว่า จำเลยได้มาชักชวนโจทก์เข้าร่วมลงทุนในบริษัทของจำเลยโดยจำเลยชักชวนให้โจทก์ซื้อหุ้นของบริษัทของจำเลย 3,000 หุ้น เป็นเงิน 300,000 บาท และโจทก์ได้ชำระเงินให้จำเลยรับไปแล้วโดยจำเลยสัญญาว่าเมื่อชำระแล้วจะโอนหุ้นในบริษัทของจำเลยให้แก่โจทก์ ต่อมาจำเลยมาขอเงินจากโจทก์อีก 58,000 บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในบริษัท แล้วจำชำระเงินคืนเป็นหุ้นให้ โจทก์จึงจ่ายเงินให้จำเลยไป ซึ่งรวมทั้งสิ้นเป็นเงิน 358,000 บาท หลังจากนั้นโจทก์ไปตรวจดูหนังสือรับรองของบริษัทปรากฏว่าไม่มีการโอนหุ้นให้แก่โจทก์เลย เห็นว่า หากแม้ข้อเท็จจริงได้ความตามที่โจทก์นำมาสืบก็ตาม การที่จำเลยชักชวนโจทก์ให้ซื้อหุ้นของบริษัทของจำเลย ก็ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยได้หลอกลวงโจทก์อย่างไรในการชักชวนโจทก์ให้ซื้อหุ้นของบริษัทจำเลย คงได้ความแต่เพียงว่าจำเลยสัญญาว่าหากชำระเงินหมด จำเลยจะโอนหุ้นให้แก่โจทก์ คำสัญญาดังกล่าวเป็นเพียงคำรับรองที่จำเลยจะปฏิบัติในอนาคตขณะให้คำรับรองดังกล่าวยังไม่ถึงกำหนดเวลาที่จำเลยจะปฏิบัติตามคำรับรอง จึงไม่ใช่ความเท็จ นอกจากนั้นตามบัญชีผู้ถือหุ้นเอกสารหมาย จ.3 ก็ปรากฏว่าจำเลยมีหุ้นอยู่ในบริษัทดังกล่าวจำนวนถึง 9,940 หุ้น แสดงว่ามีหุ้นอยู่จริง มิได้หลอกลวงโจทก์การที่จำเลยไม่โอนหุ้นให้แก่โจทก์จึงเป็นการผิดสัญญาในทางแพ่งเท่านั้น ไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกงตามฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share