คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 20657/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำฟ้องของโจทก์ทั้งหมดบรรยายว่า โจทก์ทั้งหมดมีสิทธิได้รับการปรับอัตราค่าจ้างและได้รับบำเหน็จในส่วนที่ขาดตามมติคณะรัฐมนตรีและบันทึกข้อตกลงซึ่งเป็นสภาพแห่งข้อหา โดยมีข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่าจำเลยไม่ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีและบันทึกข้อตกลงนั้น ส่วนที่โจทก์แต่ละคนได้รับเงินเดือนในแต่ละปีจำนวนเท่าใด ถ้ามีการปรับค่าจ้างจะต้องใช้อัตราเงินเดือนใดในการคำนวณ และโจทก์แต่ละคนจะได้รับเงินตามฟ้องจำนวนเท่าใดนั้น เมื่อโจทก์ทั้งหมดเป็นเจ้าหน้าที่ของจำเลย จำเลยย่อมมีข้อมูลเรื่องดังกล่าวเป็นอย่างดี ทั้งเป็นรายละเอียดที่สามารถนำสืบพิสูจน์กันในชั้นพิจารณาของศาลแรงงานกลางได้ คำฟ้องของโจทก์ทั้งหมดได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 172 วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 แล้ว ไม่เป็นฟ้องเคลือบคลุม
โจทก์ทั้งหมดฟ้องขอให้จำเลยปฏิบัติตามบันทึกข้อตกลงโดยการปรับอัตราค่าจ้างตามมติคณะรัฐมนตรีซึ่งจำเลยได้ปฏิบัติมาโดยตลอด เป็นการกล่าวอ้างว่าจำเลยผิดข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง เมื่อจำเลยยังไม่ได้ปรับอัตราค่าจ้างของโจทก์ทั้งหมดตามมติคณะรัฐมนตรี เงินที่โจทก์ทั้งหมดฟ้องให้จำเลยปรับอัตราค่าจ้างจึงยังไม่มีสภาพเป็นค่าจ้าง สิทธิเรียกร้องให้จำเลยดำเนินการดังกล่าวไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้เป็นการเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30
องค์การค้าของคุรุสภาโอนไปเป็นองค์การค้าของจำเลยตาม พ.ร.บ.สภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2546 มาตรา 83 (1) องค์การค้าจึงเป็นหน่วยงานภายในส่วนหนึ่งของจำเลย มาตรา 82 วรรคสอง บัญญัติให้เจ้าหน้าที่และพนักงานที่โอนไปเป็นของจำเลยได้รับตำแหน่ง เงินเดือน ค่าจ้าง และสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ไม่น้อยกว่าที่ได้รับอยู่ในวันที่พระราชบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับ ทั้งข้อบังคับคณะกรรมการของจำเลยว่าด้วยการบริหารสำนักงาน พ.ศ.2547 ข้อ 31 (9) กำหนดให้โอนบรรดาส่วนงาน กิจการ เงิน ทรัพย์สิน หนี้ อัตรากำลังพนักงานเจ้าหน้าที่และลูกจ้างของศึกษาภัณฑ์พาณิชย์ (องค์การค้าของคุรุสภา) ให้ไปเป็นขององค์การค้าของจำเลย ข้อ 32 กำหนดว่าบทบัญญัติของกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง หนังสือสัญญา หรือสิ่งอื่นใดที่อ้างถึงองค์การค้าของคุรุสภาหรือศึกษาภัณฑ์พาณิชย์ก่อนการใช้ข้อบังคับนี้ให้ถือว่าอ้างถึงองค์การค้าของจำเลย เมื่อองค์การค้าของคุรุสภาได้ให้สิทธิประโยชน์แก่เจ้าหน้าที่ของตนด้วยการปฏิบัติตามมติคณะกรรมการอำนวยการคุรุสภาครั้งที่ 15/2537 โดยปรับขึ้นค่าจ้างตามมติคณะรัฐมนตรีให้แก่เจ้าหน้าที่ขององค์การค้าของคุรุสภาตลอดมา การปฏิบัติดังกล่าวจึงเป็นสภาพการจ้างโดยปริยาย จำเลยย่อมจะต้องรับมาซึ่งสิทธิและหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติตามข้อตกลงดังกล่าว และโจทก์ทั้งหมดยังคงมีสิทธิในข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างโดยปริยายตามมาตรา 82 วรรคสอง เจ้าหน้าที่ขององค์การค้าของจำเลยเป็นเจ้าหน้าที่ของจำเลย การที่จำเลยปรับขึ้นค่าจ้างให้แก่เจ้าหน้าที่ประจำสำนักงานของจำเลยโดยไม่ปรับขึ้นค่าจ้างให้แก่เจ้าหน้าที่ขององค์การค้าของจำเลยตามที่เคยปฏิบัติสืบเนื่องกันมาย่อมไม่เป็นธรรมและไม่เป็นไปตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างโดยปริยาย
มติคณะรัฐมนตรีที่อนุมัติให้รัฐวิสาหกิจปรับค่าจ้างแก่ลูกจ้างมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการเพิ่มรายได้ให้แก่ผู้ที่ยังมีสภาพเป็นลูกจ้างอยู่ในวันที่คณะรัฐมนตรีลงอนุมัติ หาใช่ให้ปรับค่าจ้างแก่ลูกจ้างที่พ้นสภาพจากการเป็นลูกจ้างไปแล้วในวันที่มติคณะรัฐมนตรีมีผลใช้บังคับไม่ การปรับค่าจ้างให้เจ้าหน้าที่ขององค์การค้าของจำเลยซึ่งนำหลักการของมติคณะรัฐมนตรีมาปรับใช้ย่อมต้องเป็นไปตามหลักการนั้นด้วย ดังนั้นโจทก์ที่พ้นจากสภาพการเป็นลูกจ้างของจำเลยไปก่อนวันที่คณะรัฐมนตรีมีมติจึงไม่มีสิทธิได้รับการปรับอัตราค่าจ้างตามมติคณะรัฐมนตรี
คำพิพากษาศาลแรงงานกลางที่เพียงแต่พิพากษาให้จำเลยปรับขึ้นค่าจ้างและจ่ายบำเหน็จส่วนที่ขาดให้แก่โจทก์แต่ละคนในแต่ละช่วงเวลาตามสิทธิ โดยให้เป็นไปตามหลักการตามมติคณะรัฐมนตรีแต่ละครั้ง และให้จำเลยชำระดอกเบี้ยนับแต่วันเกิดสิทธิ จำเลยสามารถนำหลักการตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลางไปเป็นหลักในการคิดคำนวณและดำเนินการให้เป็นไปตามคำพิพากษาได้ เมื่อคำพิพากษาศาลแรงงานกลางได้กล่าวและแสดงข้อเท็จจริงที่ฟังได้โดยสรุปและวินิจฉัยในประเด็นแห่งคดีพร้อมด้วยเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยครบถ้วนจึงเป็นคำพิพากษาที่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 51 วรรคหนึ่ง แล้ว
การที่จำเลยทราบถึงความมรณะของโจทก์ที่ 119 แล้วยื่นคำคัดค้านแต่เพียงว่าทนายความโจทก์ไม่มีอำนาจยื่นคำร้องและไม่รับรองความเป็นทนายของ อ. บุตรของโจทก์ที่ 119 โดยไม่ได้คัดค้านการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบของศาลแรงงานกลาง ทั้งยังคงเข้าทำหน้าที่ของตนในวันนัดสืบพยานจำเลยและพยานโจทก์ต่อเนื่องกันมา จนกระทั่งศาลแรงงานกลางมีคำสั่งอนุญาตให้ อ. เข้าเป็นคู่ความแทนโจทก์ที่ 119 ได้ จำเลยจึงยื่นคำร้องคัดค้านว่าศาลแรงงานกลางดำเนินกระบวนพิจารณาไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 42 เป็นกรณีที่จำเลยทราบถึงกระบวนการพิจารณาที่ผิดระเบียบ แล้วยังคงดำเนินการในหน้าที่ของตนต่อไป เท่ากับจำเลยได้ให้สัตยาบันแก่การผิดระเบียบนั้นแล้ว จึงไม่อาจยกกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบดังกล่าวมาเป็นเหตุอ้างว่าคำพิพากษาของศาลแรงงานกลางในส่วนของโจทก์ที่ 119 ไม่ชอบด้วยกฎหมายได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31
เงินที่โจทก์แต่ละคนมีสิทธิที่จะได้รับอันเนื่องมาจากการปรับอัตราค่าจ้างตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างโดยปริยาย เงินนั้นยังไม่มีสภาพเป็นค่าจ้าง มิใช่ค่าจ้างที่จะมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดร้อยละ 15 ต่อปี ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง แต่เป็นหนี้เงินที่คิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดได้ร้อยละ 7.5 ต่อปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง เท่านั้น
เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ทวงถามให้จำเลยชำระเงินที่ได้จากการปรับอัตราค่าจ้างและเงินบำเหน็จส่วนที่ขาดในวันใด จึงต้องถือว่าจำเลยผิดนัดนับแต่วันฟ้องของโจทก์แต่ละคน ปัญหาข้อนี้เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ศาลฎีกาก็มีอำนาจแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5), 246 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31

ย่อยาว

คดีทั้งหนึ่งร้อยสี่สิบห้าสำนวนนี้ศาลแรงงานกลางสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกัน โดยให้เรียกโจทก์เรียงตามลำดับสำนวนว่าโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 145 และเรียกจำเลยทุกสำนวนว่าจำเลย
โจทก์ทั้งหนึ่งร้อยสี่สิบห้าฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยปรับค่าจ้างและจ่ายค่าจ้างตามมติคณะรัฐมนตรีทั้งสองครั้งดังกล่าว พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันเกิดสิทธิเป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จ และจ่ายบำเหน็จที่ขาดไปแก่โจทก์แต่ละคนที่เกษียณอายุและลาออก พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันเกิดสิทธิเป็นต้นไป ทั้งนี้รายละเอียดต่าง ๆ รวมทั้งเงินเดือนค่าจ้างที่โจทก์แต่ละคนได้รับ ค่าจ้างอัตราสุดท้ายวันที่เกษียณอายุ วันที่ลาออก จำนวนปีที่ทำงาน บำเหน็จที่ได้รับ และจำนวนเงินที่ขอให้จำเลยชำระปรากฏตามคำฟ้อง คำร้องขอแก้ไขคำฟ้อง เอกสารท้ายคำฟ้อง และคำขอท้ายฟ้องของโจทก์แต่ละคน
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา นายแพร้ว โจทก์ที่ 119 ถึงแก่ความตาย ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งอนุญาตให้นางสาวอภิรดี เข้าเป็นคู่ความแทนนายแพร้ว โจทก์ที่ 119
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยปรับอัตราค่าจ้างและจ่ายค่าจ้างให้โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 53 (โดยคิดคำนวณปรับอัตราค่าจ้างจากค่าจ้างอัตราสุดท้ายที่โจทก์แต่ละคนได้รับในวันที่ 1 เมษายน 2547 ซึ่งเป็นวันที่มติคณะรัฐมนตรีครั้งที่ 1 มีผลบังคับ) ตามมติคณะรัฐมนตรีครั้งที่ 1 ที่มีผลบังคับวันที่ 1 เมษายน 2547 จนถึงวันที่โจทก์แต่ละคนเกษียณอายุ สำหรับโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 22 จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2547 ส่วนโจทก์ที่ 23 ถึงที่ 53 จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2548 ให้จำเลยจ่ายค่าจ้างที่ค้างแก่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 53 พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันเกิดสิทธิเป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จ และให้จำเลยปรับอัตราค่าจ้างและจ่ายค่าจ้างให้โจทก์ที่ 54 ถึงที่ 128 (โดยคิดคำนวณปรับอัตราค่าจ้างจากค่าจ้างอัตราสุดท้ายที่โจทก์แต่ละคนได้รับในวันที่มติคณะรัฐมนตรีแต่ละครั้งมีผลบังคับ) ตามมติคณะรัฐมนตรีครั้งที่ 1 ที่มีผลบังคับวันที่ 1 เมษายน 2547 และครั้งที่ 2 ที่มีผลบังคับวันที่ 1 ตุลาคม 2548 จนถึงวันที่โจทก์แต่ละคนเกษียณอายุ สำหรับโจทก์ที่ 54 ถึงที่ 83 จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2549 ส่วนโจทก์ที่ 84 ถึงที่ 128 จนถึงวันที่ 3 กันยายน 2550 ให้จำเลยจ่ายค่าจ้างที่ค้างแก่โจทก์ที่ 54 ถึงที่ 128 พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันเกิดสิทธิเป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จ และให้จำเลยปรับอัตราค่าจ้างและจ่ายค่าจ้างให้โจทก์ที่ 129 ถึงที่ 138 (โดยคิดคำนวณปรับอัตราค่าจ้างจากค่าจ้างอัตราสุดท้ายที่โจทก์แต่ละคนได้รับในวันที่ 1 เมษายน 2547 ที่มติคณะรัฐมนตรีมีผลบังคับใช้) ตามมติคณะรัฐมนตรีครั้งที่ 1 ที่มีผลบังคับวันที่ 1 เมษายน 2547 จนถึงวันที่โจทก์แต่ละคนลาออก (โจทก์ที่ 129 ลาออกวันที่ 20 กันยายน 2547 โจทก์ที่ 130 ลาออกวันที่ 16 พฤศจิกายน 2547 โจทก์ที่ 131 ลาออกวันที่ 8 พฤศจิกายน 2547 โจทก์ที่ 132 ลาออกวันที่ 8 พฤศจิกายน 2547 โจทก์ที่ 133 ลาออกวันที่ 26 พฤศจิกายน 2547 โจทก์ที่ 134 ลาออกวันที่ 26 พฤศจิกายน 2547 โจทก์ที่ 135 ลาออกวันที่ 16 ธันวาคม 2547 โจทก์ที่ 136 ลาออกวันที่ 2 พฤศจิกายน 2547 โจทก์ที่ 137 ลาออกวันที่ 25 มิถุนายน 2548 โจทก์ที่ 138 ลาออกวันที่ 1 กันยายน 2548) ให้จำเลยจ่ายค่าจ้างที่ค้างแก่โจทก์ที่ 129 ถึงที่ 138 พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันเกิดสิทธิเป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จ และให้จำเลยปรับอัตราค่าจ้างและจ่ายค่าจ้างให้โจทก์ที่ 139 ถึงที่ 145 (โดยคิดคำนวณปรับอัตราค่าจ้างจากค่าจ้างอัตราสุดท้ายที่โจทก์แต่ละคนได้รับในวันที่มติคณะรัฐมนตรีแต่ละครั้งมีผลบังคับใช้) ตามมติคณะรัฐมนตรีครั้งที่ 1 ที่มีผลบังคับวันที่ 1 เมษายน 2547 และมติคณะรัฐมนตรีครั้งที่ 2 ที่มีผลบังคับวันที่ 1 ตุลาคม 2548 จนถึงวันที่โจทก์แต่ละคนลาออก (โจทก์ที่ 139 ลาออกวันที่ 2 มีนาคม 2549 โจทก์ที่ 140 ลาออกวันที่ 2 มีนาคม 2549 โจทก์ที่ 141 ลาออกวันที่ 4 เมษายน 2549 โจทก์ที่ 142 ลาออกวันที่ 17 กรกฎาคม 2549 โจทก์ที่ 143 ลาออกวันที่ 1 มิถุนายน 2549 โจทก์ที่ 144 ลาออกวันที่ 16 มกราคม 2550 โจทก์ที่ 14 ลาออกวันที่ 2 สิงหาคม 2550) กับให้จำเลยจ่ายค่าจ้างที่ค้างแก่โจทก์ที่ 139 ถึงที่ 145 พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันเกิดสิทธิเป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จ และให้จำเลยจ่ายบำเหน็จแก่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 145 ในส่วนที่จำเลยจ่ายขาดไป (คิดคำนวณบำเหน็จจากเงินเดือนสุดท้ายที่มีการปรับตามมติคณะรัฐมนตรีที่โจทก์แต่ละคนมีสิทธิได้รับคูณด้วยจำนวนปีที่ทำงานมาลบออกจากบำเหน็จที่จำเลยจ่ายให้โจทก์แต่ละคนไปแล้ว ได้ผลลัพธ์เท่าใดก็เป็นบำเหน็จที่จำเลยต้องจ่ายให้แก่โจทก์แต่ละคน) พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่จำเลยจ่ายบำเหน็จให้แก่โจทก์แต่ละคนไม่ครบเป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จ
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกาโจทก์ที่ 110 ถึงแก่กรรม นายชานนท์ ซึ่งเป็นทายาทและเป็นผู้จัดการมรดกของโจทก์ที่ 110 ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลฎีกาอนุญาต
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยประการแรกว่าคำฟ้องของโจทก์ทั้งหมดเคลือบคลุมหรือไม่ จำเลยอุทธรณ์ว่า คำฟ้องของโจทก์ทั้งหมดไม่ได้บรรยายฟ้องให้ชัดแจ้งว่าในปีที่โจทก์แต่ละคนเรียกร้องให้ปรับเงินเดือนนั้น โจทก์แต่ละคนเป็นผู้อยู่ในเกณฑ์ที่จะได้รับการเลื่อนขั้นเงินเดือนหรือไม่ และได้เลื่อนเท่าใด หากต้องปรับเลื่อนโจทก์แต่ละคนจะมีฐานเงินเดือนแต่ละปีเท่าใดทำให้จำเลยไม่เข้าใจว่ายอดเงินที่โจทก์แต่ละคนเรียกร้องตามคำฟ้องใช้หลักเกณฑ์ในการคำนวณอย่างไร มีข้อบังคับ กฎ หรือระเบียบใดกำหนดให้จำเลยต้องปรับเงินเดือนให้แก่โจทก์ทั้งหมดตามมติคณะรัฐมนตรี เห็นว่า ตามคำฟ้องของโจทก์ทั้งหมดได้บรรยายให้เห็นแล้วว่าโจทก์ทั้งหมดมีสิทธิได้รับการปรับอัตราค่าจ้างและได้รับบำเหน็จในส่วนที่ขาดตามมติคณะรัฐมนตรีและบันทึกข้อตกลงซึ่งเป็นสภาพแห่งข้อหา โดยมีข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่าจำเลยไม่ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีและบันทึกข้อตกลงนั้น ในส่วนที่โจทก์แต่ละคนได้รับเงินเดือนในแต่ละปีจำนวนเท่าใด ถ้ามีการปรับค่าจ้างจะต้องใช้อัตราเงินเดือนใดในการคำนวณ และโจทก์แต่ละคนจะได้รับเงินตามฟ้องจำนวนเท่าใดนั้น เมื่อโจทก์ทั้งหมดเป็นเจ้าหน้าที่ของจำเลย จำเลยย่อมมีข้อมูลเรื่องดังกล่าวเป็นอย่างดี ทั้งเป็นรายละเอียดที่โจทก์ทั้งหมดและจำเลยสามารถนำสืบพิสูจน์กันในชั้นพิจารณาของศาลแรงงานกลางได้ คำฟ้องของโจทก์ทั้งหมดจึงแสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสอง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 แล้ว คำฟ้องของโจทก์ทั้งหมดจึงไม่เคลือบคลุม อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยประการต่อไปว่าฟ้องของโจทก์ทั้งหมดขาดอายุความหรือไม่ จำเลยอุทธรณ์ว่า โจทก์ทั้งหมดฟ้องขอให้จำเลยปรับค่าจ้างตามมติคณะรัฐมนตรี ถือได้ว่าเป็นการฟ้องเรียกเอาค่าจ้างหรือสินจ้างเพื่อการงานที่ทำ หรือเรียกเอาค่าจ้างหรือสินจ้างอย่างอื่น สิทธิเรียกร้องดังกล่าวจึงมีกำหนดอายุความ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (8) (9) คดีของโจทก์ทั้งหมดจึงขาดอายุความนั้น เห็นว่า โจทก์ทั้งหมดฟ้องขอให้จำเลยปฏิบัติตามบันทึกข้อตกลงฉบับลงวันที่ 29 มิถุนายน 2525 ข้อ 17 ที่ระบุเกี่ยวกับการพิจารณาความดีความชอบประจำปี ซึ่งจำเลยได้ปฏิบัติมาโดยตลอด กล่าวคือจำเลยได้ปรับค่าจ้างให้แก่เจ้าหน้าที่ขององค์การค้าของคุรุสภาเมื่อมีมติคณะรัฐมนตรีให้ปรับเงินเดือนให้แก่ข้าราชการและลูกจ้างรัฐวิสาหกิจตลอดมา แต่เมื่อคณะรัฐมนตรีมีมติให้ปรับอัตราค่าจ้างของลูกจ้างรัฐวิสาหกิจ 2 ครั้ง คือมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 2 พฤศจิกายน 2547 ให้ปรับอัตราค่าจ้างของลูกจ้างในอัตราร้อยละ 3 เท่ากันทุกอัตรา และให้ได้รับค่าจ้างสูงกว่าที่ปรับเพิ่มร้อยละ 3 ตามอัตราค่าจ้างใหม่อีก 2 ขั้น โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2547 และมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 14 มีนาคม 2549 ให้ปรับค่าจ้างของลูกจ้างเพิ่มได้ไม่เกินร้อยละ 5 ของอัตราค่าจ้างที่ได้รับ โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2548 จำเลยกลับเพิกเฉยไม่ปรับอัตราค่าจ้างตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว ทำให้โจทก์ทั้งหมดได้รับความเสียหายไม่ได้รับเงินตามมติคณะรัฐมนตรีและได้รับบำเหน็จน้อยกว่าที่ควรจะได้รับ อันเป็นการกล่าวอ้างว่าจำเลยผิดข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง เมื่อจำเลยยังไม่ได้ปรับอัตราค่าจ้างของโจทก์ทั้งหมดตามมติคณะรัฐมนตรีทั้งสองครั้งดังกล่าว เงินที่โจทก์ทั้งหมดฟ้องให้จำเลยปรับอัตราค่าจ้างนั้นยังไม่มีสภาพเป็นค่าจ้างจะถือว่าโจทก์ทั้งหมดฟ้องเรียกค่าจ้างหรือส่วนหนึ่งของค่าจ้างที่มีอายุความฟ้องร้อง 2 ปี ไม่ได้ สิทธิเรียกร้องให้จำเลยดำเนินการดังกล่าวไม่มีบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือกฎหมายอื่นบัญญัติเรื่องอายุความไว้เป็นการเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 โจทก์ทั้งหมดนำคดีมาฟ้องต่อศาลแรงงานกลางเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2552 นับแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้ปรับอัตราค่าจ้างแต่ละครั้งถึงวันฟ้องยังไม่เกิน 10 ปี คำฟ้องของโจทก์ทั้งหมดมิได้ขาดอายุความดังที่จำเลยอุทธรณ์ ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าคดีโจทก์ยังไม่ขาดอายุความนั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยต่อไปว่า จำเลยต้องปรับค่าจ้างตามมติคณะรัฐมนตรีและจ่ายบำเหน็จในส่วนที่ขาดให้แก่โจทก์ทั้งหมดตามคำพิพากษาของศาลแรงงานกลางหรือไม่ จำเลยอุทธรณ์ว่า ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าบันทึกข้อตกลงระหว่างสหภาพแรงงานองค์การค้าของคุรุสภากับองค์การค้าของคุรุสภาฉบับลงวันที่ 29 มิถุนายน 2525 และมติคณะอำนวยการคุรุสภาครั้งที่ 15/2537 เป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างโดยปริยายขัดต่อบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 บันทึกข้อตกลงและมติคณะกรรมการอำนวยการคุรุสภาดังกล่าวไม่เป็นสภาพการจ้างหรือข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง การขึ้นเงินเดือนให้แก่เจ้าหน้าที่ขององค์การค้าของจำเลยเป็นอำนาจของคณะกรรมการของจำเลย จำเลยมีผลประกอบการขาดทุนและขาดสภาพคล่อง การปรับค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างต้องเป็นกรณีที่มีเงินเพียงพอที่จะจ่ายด้วย การที่ศาลแรงงานกลางมีคำพิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินให้แก่โจทก์ทั้งหมดขัดกับหลักการของมติคณะรัฐมนตรี โจทก์ที่พ้นสภาพจากการเป็นลูกจ้างของจำเลยไม่ว่าด้วยสาเหตุเกษียณอายุหรือลาออกไปก่อนวันที่คณะรัฐมนตรีมีมติไม่มีอำนาจฟ้องและไม่มีสิทธิได้รับการปรับค่าจ้างตามมติคณะรัฐมนตรี เห็นว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า เดิมจำเลยมีชื่อว่า “คุรุสภา” และเป็นนิติบุคลตามพระราชบัญญัติครู พ.ศ.2488 และให้องค์การค้าของคุรุสภาเป็นหน่วยงานหนึ่งของคุรุสภา ต่อมามีการตราพระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2546 ขึ้น พระราชบัญญัตินี้ยกเลิกพระราชบัญญัติครู พ.ศ.2488 และให้มีจำเลยเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการเมื่อมีการโอนองค์การค้าของคุรุสภาไปเป็นของจำเลยองค์การค้าจึงเป็นหน่วยงานภายในส่วนหนึ่งของจำเลย ในขณะที่เป็นองค์การค้าของคุรุสภานั้น เมื่อคณะรัฐมนตรีมีมติให้ปรับค่าจ้างของลูกจ้างรัฐวิสาหกิจ องค์การค้าของคุรุสภาก็จะปรับค่าจ้างให้แก่เจ้าหน้าที่ขององค์การค้าของคุรุสภาตามมติคณะรัฐมนตรีตลอดมา แต่เมื่อมีการเปลี่ยนจากองค์การค้าของคุรุสภามาเป็นองค์การค้าของจำเลย จำเลยไม่เคยปรับค่าจ้างให้แก่เจ้าหน้าที่ขององค์การค้าของจำเลยเนื่องจากขาดสภาพคล่อง ดังนี้เมื่อตามพระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2546 มาตรา 83 (1) ได้บัญญัติให้โอนบรรดากิจการ เงิน ทรัพย์สิน หนี้ สิทธิต่าง ๆ ขององค์การค้าของคุรุสภาไปเป็นของจำเลย โดยมาตรา 82 วรรคสอง บัญญัติว่า “ให้เจ้าหน้าที่และพนักงานของคุรุสภาตามพระราชบัญญัติครู พุทธศักราช 2488 เป็นเจ้าหน้าที่และพนักงานของคุรุสภาและของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (จำเลย) ตามพระราชบัญญัตินี้แล้วแต่กรณี… ทั้งนี้ให้ดำเนินตำแหน่งและได้รับเงินเดือนค่าจ้าง และสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ไม่น้อยกว่าที่ได้รับอยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ” ซึ่งต่อมาข้อบังคับคณะกรรมการของจำเลยว่าด้วยการบริหารสำนักงาน พ.ศ.2547 ข้อ 31 (9) ได้กำหนดให้โอนบรรดาส่วนงานกิจการ เงิน ทรัพย์สิน หนี้ อัตรากำลังพนักงานเจ้าหน้าที่และลูกจ้างของศึกษาภัณฑ์พาณิชย์ (องค์การค้าของคุรุสภา) ให้ไปเป็นขององค์การค้าของจำเลย โดยข้อ 32 กำหนดว่าบทบัญญัติของกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง หนังสือสัญญา หรือสิ่งอื่นใดที่อ้างถึงองค์การค้าของคุรุสภาหรือศึกษาภัณฑ์พาณิชย์ (องค์การค้าของคุรุสภา) ก่อนการใช้ข้อบังคับนี้ให้ถือว่าอ้างถึงองค์การค้าของจำเลย ดังนั้นเมื่อในขณะที่เป็นองค์การค้าของคุรุสภาองค์การค้าดังกล่าวได้ให้สิทธิประโยชน์แก่เจ้าหน้าที่ของตนด้วยการปฏิบัติตามมติคณะกรรมการอำนวยการคุรุสภาครั้งที่ 15/2537 ตามเอกสารหมาย ล. 16 โดยปรับขึ้นค่าจ้างให้แก่เจ้าหน้าที่ขององค์การค้าของคุรุสภาตลอดมา การปฏิบัติดังกล่าวจึงเป็นสภาพการจ้างโดยปริยายที่มีอยู่ในวันที่พระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2546 ใช้บังคับ เมื่อจำเลยได้รับโอนกิจการมาจากองค์การค้าของคุรุสภา จำเลยย่อมจะต้องรับมาซึ่งสิทธิและหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติตามข้อตกลงดังกล่าว และโจทก์ทั้งหมดยังคงมีสิทธิในข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างโดยปริยายนั้นตามพระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2546 มาตรา 82 วรรคสอง ทั้งการที่องค์การค้าของจำเลยเป็นส่วนงานหนึ่งของจำเลย เจ้าหน้าที่ขององค์การค้าของจำเลยย่อมเป็นเจ้าหน้าที่ของจำเลยด้วย จำเลยจึงสามารถขอรับเงินอุดหนุนจากงบประมาณแผ่นดินตามพระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2546 มาตรา 68 (1) เพื่อใช้ในการดำเนินงานขององค์การค้าของจำเลยได้ จำเลยปรับขึ้นค่าจ้างให้แก่เจ้าหน้าที่ประจำสำนักงานของจำเลยโดยไม่ปรับขึ้นค่าจ้างให้แก่เจ้าหน้าที่ขององค์การค้าของจำเลยตามที่เคยปฏิบัติสืบเนื่องกันมาย่อมไม่เป็นธรรมและไม่เป็นไปตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างโดยปริยาย จำเลยไม่อาจนำเหตุที่จำเลยขาดสภาพคล่องมากล่าวอ้างเพื่อไม่ปรับขึ้นค่าจ้างให้แก่เจ้าหน้าที่ขององค์การค้าของจำเลยได้ แต่อย่างไรก็ดีเมื่อพิจารณามติคณะรัฐมนตรีที่อนุมัติให้รัฐวิสาหกิจปรับค่าจ้างแก่ลูกจ้างของตนเองนั้น มีวัตถุประสงค์จะปรับค่าจ้างเพื่อเป็นการเพิ่มรายได้ให้แก่ผู้ที่ยังมีสภาพเป็นลูกจ้างอยู่ในวันที่คณะรัฐมนตรีลงมติอนุมัติ หาใช่ให้ปรับค่าจ้างแก่ลูกจ้างที่พ้นสภาพจากการเป็นลูกจ้างไปแล้วในวันที่มติคณะรัฐมนตรีมีผลใช้บังคับไม่ การปรับค่าจ้างให้เจ้าหน้าที่ขององค์การค้าของจำเลยซึ่งนำหลักการของมติคณะรัฐมนตรีมาปรับใช้ย่อมต้องเป็นไปตามหลักการดังกล่าวนั้นด้วย จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องปรับอัตราค่าจ้างตามมติคณะรัฐมนตรีครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 ให้แก่โจทก์ตามสิทธิของโจทก์แต่ละคน โดยคิดคำนวณปรับจากค่าจ้างอัตราสุดท้ายที่โจทก์แต่ละคนได้รับในวันที่มติคณะรัฐมนตรีแต่ละครั้งมีผลบังคับใช้ จนถึงวันสุดท้ายที่โจทก์แต่ละคนมีสภาพเป็นลูกจ้างขององค์การค้าของจำเลยก่อนพ้นสภาพไปด้วยการเกษียณอายุหรือลาออกดังที่วินิจฉัยไว้ข้างต้น ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยปรับขึ้นค่าจ้างและจ่ายบำเหน็จส่วนที่ขาดให้แก่โจทก์ทุกคน และปรับขึ้นค่าจ้างจนถึงวันลาออกของโจทก์ที่พ้นสภาพการเป็นลูกจ้างขององค์การค้าของจำเลยด้วยการลาออกนั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยฟังขึ้นบางส่วน
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยต่อไปว่าการที่คำพิพากษาของศาลแรงงานกลางไม่ได้กำหนดจำนวนเงินให้ชัดเจนว่าจำเลยจะต้องจ่ายเงินให้แก่โจทก์คนละเท่าใด และไม่ได้ระบุว่าวันเกิดสิทธิซึ่งเป็นวันที่จำเลยจะต้องเริ่มต้นชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์แต่ละคนคือวันใด เป็นคำพิพากษาที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ทั้งหมดฟ้องขอให้จำเลยปรับอัตราค่าจ้างให้แก่โจทก์ทั้งหมดตามมติคณะรัฐมนตรี และจ่ายบำเหน็จส่วนที่ขาดให้แก่โจทก์ที่มีสิทธิได้รับ ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยปรับขึ้นค่าจ้างบำเหน็จส่วนที่ขาดให้แก่โจทก์แต่ละคนในแต่ละช่วงเวลาตามสิทธิ โดยให้เป็นไปตามหลักการตามมติคณะรัฐมนตรีแต่ละครั้ง และให้จำเลยชำระดอกเบี้ยนับแต่วันเกิดสิทธิ แม้คำพิพากษาศาลแรงงานกลางจะไม่ได้ระบุถึงจำนวนเงินและวันที่ที่เกิดสิทธิที่จะได้รับดอกเบี้ยที่จำเลยต้องจ่ายให้แก่โจทก์แต่ละคนไว้อย่างชัดเจน แต่จำเลยก็สามารถนำหลักการตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลางไปเป็นหลักในการคิดคำนวณและดำเนินการให้เป็นไปตามคำพิพากษาได้ เมื่อคำพิพากษาศาลแรงงานกลางได้กล่าวและแสดงข้อเท็จจริงที่ฟังได้โดยสรุปและวินิจฉัยในประเด็นแห่งคดีพร้อมด้วยเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยนั้นครบถ้วน จึงเป็นคำพิพากษาที่ชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 51 วรรคหนึ่ง แล้ว อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยประการสุดท้ายว่าคำพิพากษาของศาลแรงงานกลางในส่วนของโจทก์ที่ 11 ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ จำเลยอุทธรณ์ว่าโจทก์ที่ 119 ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2555 แต่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งอนุญาตให้นางสาวอภิรดี บุตรของโจทก์ที่ 119 เข้าเป็นคู่ความแทนหลังจากสืบพยานโจทก์และจำเลยเสร็จสิ้นแล้ว เป็นการไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 42, 43 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 ที่บัญญัติให้ศาลต้องเลื่อนการนั่งพิจารณาคดีไปจนกว่าทายาทของผู้มรณะจะเข้ามาเป็นคู่ความแทน เห็นว่า ในการดำเนินคดีของโจทก์ที่ 119 ได้มอบอำนาจให้นางสาวอภิรดี บุตรเป็นผู้รับมอบอำนาจดำเนินคดีแทนตนมาตั้งแต่เริ่มต้นคดี ต่อมาเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2555 ในระหว่างการพิจารณาของศาลแรงงานกลางโจทก์ที่ 119 ถึงแก่ความตายในวันที่ 28 มิถุนายน 2555 ทนายความโจทก์ที่ 119 จึงยื่นคำร้องขอให้ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งอนุญาตให้นางสาวอภิรดีเข้าเป็นคู่ความแทนโจทก์ที่ 119 ในวันเดียวกันนั้นศาลแรงงานกลางได้ทำการสืบพยานจำเลยไปโดยไม่ได้มีคำสั่งใด ๆ เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ในวันที่ 2 กรกฎาคม 2555 ทนายความจำเลยยื่นคำคัดค้านการที่นางสาวอภิรดีจะเข้าเป็นคู่ความแทนโจทก์ที่ 119 โดยอ้างเหตุในการคัดค้านแต่เพียงว่าทนายความโจทก์ไม่มีอำนาจยื่นคำร้องและไม่รับรองความเป็นทายาทของนางสาวอภิรดี จากนั้นในวันที่ 3 และวันที่ 4 กรกฎาคม 2555 ศาลแรงงานกลางได้ทำการสืบพยานโจทก์โดยทนายความจำเลยเข้าทำหน้าที่แทนจำเลยตามปกติ และศาลแรงงานกลางมีคำสั่งอนุญาตให้นางสาวอภิรดีเข้าเป็นคู่ความแทนโจทก์ที่ 119 ได้ในวันที่ 4 กรกฎาคม 2555 ในวันเดียวกันทนายความจำเลยยื่นคำร้องคัดค้านว่าศาลแรงงานกลางดำเนินกระบวนพิจารณาไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 42 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 จากที่ได้ความดังกล่าวแสดงว่าจำเลยได้ทราบถึงการที่นางสาวอภิรดีขอเข้าเป็นคู่ความแทนโจทก์ที่ 119 ผู้มรณะมาตั้งแต่วันที่ 28 มิถุนายน 2555 ซึ่งในวันดังกล่าวก็มีการสืบพยานจำเลยไปตามปกติ ภายหลังวันนั้นจำเลยก็คัดค้านการเข้าเป็นคู่ความแทนผู้มรณะอ้างเหตุว่าทนายความโจทก์ที่ 119 ไม่มีอำนาจและไม่รับรองความเป็นทายาทของนางสาวอภิรดีโดยไม่ได้อ้างเหตุแห่งการที่ศาลแรงงานกลางสืบพยานจำเลยโดยไม่ได้เลื่อนการนั่งพิจารณาคดีออกไปว่าเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือผิดระเบียบประการใด ทั้งหลังจากวันนั้นศาลแรงงานกลางทำการสืบพยานโจทก์ต่อไปอีก 2นัด ทนายความจำเลยก็ยังคงทำหน้าที่แทนจำเลยในวันนัดดังกล่าวโดยไม่ได้คัดค้าน จนกระทั่งศาลแรงงานกลางมีคำสั่งอนุญาตให้นางสาวอภิรดีเข้าเป็นคู่ความแทนโจทก์ที่ 119 จึงยื่นคำร้องคัดค้านการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีของศาลแรงงานกลาง การที่ทนายความจำเลยทราบถึงกระบวนการพิจารณาที่ผิดระเบียบของศาลแรงงานกลางแล้วยังคงดำเนินในหน้าที่ของตนต่อไป เท่ากับจำเลยได้ให้สัตยาบันแก่การผิดระเบียบนั้นแล้ว จำเลยจึงยกกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบของศาลแรงงานกลางดังกล่าวมาเป็นเหตุอ้างว่าคำพิพากษาของศาลแรงงานกลางในส่วนของโจทก์ที่ 119 ไม่ชอบด้วยกฎหมายไม่ได้ ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 วรรคสอง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ในส่วนดอกเบี้ยของเงินที่ได้รับจากการปรับอัตราค่าจ้างนั้น เมื่อปรากฏว่าเงินที่โจทก์แต่ละคนมีสิทธิที่จะได้รับเป็นเงินที่จำเลยมีหน้าที่จะต้องจ่ายเนื่องมาจากการปรับอัตราค่าจ้างตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างโดยปริยาย เงินนั้นจึงยังไม่มีสภาพเป็นค่าจ้างมิใช่ค่าจ้างที่จะมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดร้อยละ 15 ต่อปี ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง คงเป็นหนี้เงินที่คิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดได้ร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคหนึ่ง เท่านั้น ในส่วนของวันผิดนัดอันเป็นวันเริ่มต้นที่จำเลยจะต้องเสียดอกเบี้ยให้แก่โจทก์แต่ละคนนั้น เมื่อไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าโจทก์ทวงถามให้จำเลยชำระเงินที่ได้รับจากการปรับอัตราค่าจ้างและเงินบำเหน็จส่วนที่จำเลยจ่ายขาดไปในวันใด จึงต้องถือว่าจำเลยผิดนัดนับแต่วันฟ้องของโจทก์แต่ละคนเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายดอกเบี้ยในต้นเงินค่าจ้างอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันเกิดสิทธิ และให้จ่ายดอกเบี้ยในต้นเงินบำเหน็จนับแต่วันที่จำเลยจ่ายบำเหน็จให้แก่โจทก์แต่ละคนไม่ครบเป็นต้นไป จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ปัญหาข้อนี้เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ศาลฎีกาก็มีอำนาจแก้ไขให้ถูกต้องได้
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยปรับอัตราค่าจ้างและจ่ายค่าจ้างให้โจทก์ที่ 54 ถึงที่ 83 ตามมติคณะรัฐมนตรีครั้งที่ 1 ที่มีผลบังคับวันที่ 1 เมษายน 2547 และครั้งที่ 2 ที่มีผลบังคับวันที่ 1ตุลาคม 2548 จนถึงวันที่ 6 กรกฎาคม 2549 ปรับอัตราค่าจ้างและจ่ายค่าจ้างให้โจทก์ที่ 139 และที่ 140 ตามมติคณะรัฐมนตรีครั้งที่ 1 ที่มีผลบังคับวันที่ 1 เมษายน 2547 จนถึงวันที่ 1 มีนาคม 2549 สำหรับการปรับอัตราค่าจ้างและจ่ายค่าจ้างให้โจทก์ที่ลาออกจากการเป็นลูกจ้างขององค์การค้าของจำเลยให้ปรับและจ่ายถึงวันสุดท้ายที่โจทก์แต่ละคนมีสภาพการเป็นลูกจ้างอยู่ โดยให้จำเลยเสียดอกเบี้ยในส่วนของเงินที่โจทก์แต่ละคนมีสิทธิได้รับจากการปรับอัตราค่าจ้างในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องของโจทก์แต่ละคน และเสียดอกเบี้ยในส่วนของบำเหน็จส่วนที่จำเลยขาดไปนับแต่วันฟ้องของโจทก์แต่ละคนเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้ยกฟ้องโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 22 โจทก์ที่ 129 และที่ 136 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share