คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2065/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ฟ้องโจทก์ไม่ได้บรรยายว่า คณะกรรมการโจทก์เป็นใครแต่การที่โจทก์มีหนังสือมอบอำนาจโดย ส. ซึ่งเป็นประธานกรรมการลงนามแทนคณะกรรมการบรรษัทโจทก์ มอบอำนาจให้ ศ.มีอำนาจกระทำกิจการอันเป็นธุรกิจของบรรษัทแทน ซึ่งรวมทั้งการฟ้องคดีส่งมาท้ายฟ้องด้วย แสดงว่า ส.และศ.เป็นผู้แทนโจทก์ ซึ่งจำเลยอาจใช้สิทธิตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 66 ได้ ไม่ทำให้จำเลยเสียเปรียบ ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม ฟ้องโจทก์มิได้บรรยายให้แจ้งชัดว่า โจทก์คำนวณเปรียบเทียบอัตราเงินสกุลต่างประเทศมาเป็นเงินไทยในอัตราหน่วยละเท่าใดคิดอัตราเปรียบเทียบในวันที่เท่าใด คิดดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าวตั้งแต่เมื่อใด และในอัตราดอกเบี้ยกี่เปอร์เซนต์นั้น เมื่อโจทก์ได้บรรยายถึงวิธีการคิดอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเป็นเงินตราไทยพร้อมทั้งอัตราดอกเบี้ยและวิธีการคิดดอกเบี้ยไว้ในฟ้องแล้วและได้ส่งรายละเอียดแห่งการเป็นหนี้ของจำเลยมาท้ายฟ้องด้วย ซึ่งทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี ฟ้องจึงไม่เคลือบคลุม ตามพระราชบัญญัติบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยพ.ศ. 2502 มาตรา 22 บัญญัติไว้ว่า “ในส่วนกิจการที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอกให้ผู้จัดการทั่วไปมีอำนาจกระทำการแทนบรรษัทแต่ผู้จัดการทั่วไปจะมอบอำนาจให้บุคคลอื่นกระทำแทนตนในกิจการใดก็ได้” การฟ้องคดีเป็นส่วนกิจการที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอก ดังนั้นศ.ซึ่งเป็นกรรมการและผู้จัดการทั่วไปของโจทก์จึงมีอำนาจกระทำการแทนบรรษัทโจทก์ได้ โดยไม่จำต้องให้คณะกรรมการมอบอำนาจอีกปัญหาเรื่องโจทก์สละประโยชน์แห่งเงื่อนเวลาชำระหนี้ เพราะเมื่อจำเลยผิดนัดโจทก์คิดดอกเบี้ยเพิ่มมาตลอด โจทก์มิได้ถือข้อตกลงในสัญญากู้ที่ระบุว่าถ้าจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระเงินหรือดอกเบี้ยงวดใดงวดหนึ่ง ถือว่าผิดนัดทุกงวด เป็นสาระสำคัญหรือไม่นั้นจำเลยมิได้ต่อสู้ไว้ในคำให้การ จึงมิใช่ปัญหาที่ว่ากันมาในศาลชั้นต้น แม้ศาลอุทธรณ์จะได้วินิจฉัยปัญหานี้มาก็ถือไม่ได้ว่าเป็นข้อที่ยกขึ้นว่ากันโดยชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลซึ่งเป็นสถาบันการเงินจัดตั้งโดยพระราชบัญญัติบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยพ.ศ. 2502 คณะกรรมการโจทก์มอบอำนาจให้นายศุกรีย์ กรรมการและผู้จัดการทั่วไปให้ฟ้องคดีนี้ จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญากู้เงินจากโจทก์โดยกู้เป็นเงินตราต่างประเทศเทียบเท่าเงินตราไทยประมาณ7,000,000 บาท โดยมีข้อตกลงที่เป็นสาระสำคัญคือ เมื่อจำเลยที่ 1เบิกเงินตราสกุลใดไปจะต้องทำใบรับเงินให้โจทก์ไว้ทุกครั้งที่เบิกเงินไปจนครบจำนวนที่กู้ เงินกู้ที่เป็นเงินตราต่างประเทศจำเลยที่ 1 จะต้องชำระคืนต้นเงินและดอกเบี้ยเป็นเงินตราไทยโดยยอมให้โจทก์คำนวณต้นเงินเพื่อชำระคืน และคิดดอกเบี้ยจากต้นเงินตามอัตราแลกเปลี่ยนอัตราขายของธนาคารพาณิชย์ในประเทศ ตามที่โจทก์กำหนดในวันที่แห่งให้กู้ยืมได้โอนเงินหรือในวันที่โจทก์แลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเป็นเงินตราไทย หรือวันที่โจทก์กำหนดเทียบเงินตราต่างประเทศเป็นเงินตราไทย หรือในวันที่โจทก์จ่ายเงินให้แก่จำเลยที่ 1 หรือแก่ธนาคารที่จำเลยที่ 1 กำหนดวันใดวันหนึ่งแล้วแต่โจทก์จะเลือกปฏิบัติ จำเลยที่ 1 เบิกเงินกู้หลายครั้ง คือได้เบิกเป็นเงินบาททดรองเงินกู้ส่วนที่เป็นเงินตราประเทศไทยไปก่อนรวม 8 ครั้ง คือ ครั้งที่ 1 จำเลยที่ 1 ได้รับเงินกู้ไป 7,428,280 เยน คิดเทียบเป็นเงินตราไทยในอัตราขายของธนาคารพาณิชย์เป็นเงิน 732,448.13 บาท ครั้งที่ 2 จำเลยที่ 1ได้รับเงินกู้ไป 87,000 ฟรังค์สวิส และ 49,240.33 ฟรังค์สวิสคิดเทียบเงินตราไทยเป็นเงิน 921,330 บาท และ 522,195.29 บาทครั้งที่ 3 ครั้งที่ 4 และครั้งที่ 5 ได้รับเงินกู้ไป 7,321,875 เยน63.595 ฟรังค์สวิส และ 86,940 ฟรังค์สวิส คิดเทียบเงินตราไทยเป็นเงิน 722,028.40 บาท 663,295.85 บาท และ 930,692.70 บาทครั้งที่ 6 ได้รับเงินกู้ไป 7,489,350 เยน คิดเป็นเงินไทย742,381.82 บาท ครั้งที่ 7 ได้รับเงินกู้ไป 734,580 เยน คิดเป็นเงินไทย 72,457.13 บาท และครั้งที่ 8 ได้รับเงินกู้ไป 8,083.50ฟรังค์สวิส คิดเป็นเงินไทย 78,571.62 บาท รวมต้นเงินกู้ที่จำเลยที่ 1 เบิกไปตามสัญญากู้เงินและจะต้องชำระคืนโจทก์เป็นเงินตราต่างประเทศคิดเทียบเป็นเงินตราไทยทั้งสิ้น 6,255,909.63 บาท นับแต่จำเลยที่ 1 ได้เบิกเงินกู้ไป ไม่ได้ผ่อนชำระคืนต้นเงินที่ถึงกำหนดชำระแล้ว 4 งวด แก่โจทก์ ส่วนดอกเบี้ยก็ไม่ชำระตามกำหนด การที่จำเลยที่ 1 ผิดนัดดังกล่าว จำเลยที่ 1 จึงต้องเสียดอกเบี้ยเพิ่มตามอัตราที่กำหนดไว้ในสัญญากู้เงิน คำนวณดอกเบี้ยนับแต่วันผิดนัดถึงวันฟ้องเป็นดอกเบี้ยค้างชำระจำนวน 2,583,710.30 บาท การผิดนัดดังกล่าวถือว่าผิดนัดทุกงวด โจทก์มีสิทธิฟ้องร้องให้ชำระหนี้ทั้งหมดได้ทันที ขอให้บังคับจำเลยทั้งห้าร่วมกันชำระเงินจำนวน 8,840,320.19บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ในต้นเงิน 6,255,909.63บาท
จำเลยทั้งห้าให้การว่า นายศุกรีย์ไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้แทนโจทก์เพราะหนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องไม่ถูกต้องตามกฎข้อบังคับของโจทก์ที่กำหนดไว้ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมเพราะมิได้บรรยายฟ้องให้แจ้งชัดว่าโจทก์เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายประเภทใด คณะกรรมการซึ่งมีอำนาจบริหารมีผู้ใดบ้าง และมีผู้ใดเป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ โจทก์ได้คำนวณเปรียบเทียบเปลี่ยนอัตราเงินตราต่างประเทศสกุลใดมาเป็นเงินตราไทยในอัตราหน่วยละเท่าใด และคิดอัตราเปรียบเทียบในวันที่ใด ทำให้จำเลยไม่เข้าใจฟ้องและต่อสู้คดีได้ถูกต้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันชำระเงินจำนวน8,840,320.19 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 19 ต่อปีจากต้นเงิน 6,255,909.63 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งห้าอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งห้าฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยทั้งห้าฎีกาว่า ฟ้องโจทก์ไม่ได้บรรยายให้แจ้งชัดว่าคณะกรรมการโจทก์ซึ่งได้มอบหมายให้นายศุกรีย์ฟ้องคดีนั้นเป็นใคร ทำให้จำเลยเสียเปรียบเพราะไม่อาจใช้สิทธิตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 66 ได้นั้นเห็นว่า โจทก์มีหนังสือมอบอำนาจโดยประธานกรรมการนายสมหมาย ฮุนตระกูล ลงนามแทนคณะกรรมการบรรษัทโจทก์มอบอำนาจให้นายศุกรีย์มีอำนาจกระทำกิจการอันเป็นธุรกิจของบรรษัทแทนซึ่งรวมทั้งการฟ้องคดีส่งมาท้ายฟ้องด้วย แสดงว่านายสมหมายฮุนตระกูลและนายศุกรีย์เป็นผู้แทนของโจทก์ ซึ่งจำเลยก็สามารถใช้สิทธิตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 66 ได้ ไม่ทำให้จำเลยเสียเปรียบอย่างไร ฟ้องโจทก์ในข้อนี้จึงไม่เคลือบคลุมที่จำเลยฎีกาอีกว่าฟ้องโจทก์มิได้บรรยายให้แจ้งชัดว่า โจทก์คำนวณเปรียบเทียบอัตราเงินสกุลต่างประเทศมาเป็นเงินไทยในอัตราหน่วยละเท่าใด คิดอัตราเปรียบเทียบในวันที่เท่าใด คิดดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าวตั้งแต่เมื่อใด และในอัตราดอกเบี้ยกี่เปอร์เซ็นต์นั้นเห็นว่า โจทก์ได้บรรยายถึงวิธีการคิดอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเป็นเงินตราไทยพร้อมทั้งอัตราดอกเบี้ยและวิธีการคิดดอกเบี้ยไว้ในฟ้องแล้วเฉพาะอย่างยิ่งได้ส่งรายละเอียดแห่งการเป็นหนี้ของจำเลยมาท้ายฟ้องด้วยซึ่งย่อมถือได้ว่าเอกสารท้ายฟ้องเป็นส่วนหนึ่งของฟ้อง ตามเอกสารท้ายฟ้องมีรายการคิดดอกเบี้ยในอัตรากี่เปอร์เซ็นต์และมีการคิดดอกเบี้ยดังกล่าวตั้งแต่เมื่อใดซึ่งทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีแล้ว รายการต่าง ๆ ที่จำเลยฎีกาล้วนเป็นรายละเอียดที่โจทก์สามารถนำสืบได้ในชั้นพิจารณา แม้จะไม่บรรยายมาในฟ้องก็ไม่ทำให้ฟ้องเคลือบคลุม
ฎีกาข้อต่อมาว่า นายศุกรีย์ไม่มีอำนาจฟ้องคดีแทนโจทก์นั้นศาลฎีกาเห็นว่า ข้อเท็จจริงได้ความว่านายศุกรีย์เป็นกรรมการและผู้จัดการทั่วไปของโจทก์ ตามพระราชบัญญัติบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2502 มาตรา 22 บัญญัติไว้ว่า “ในส่วนกิจการที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอก ให้ผู้จัดการทั่วไปมีอำนาจกระทำการแทนบรรษัท แต่ผู้จัดการทั่วไปจะมอบอำนาจให้บุคคลอื่นกระทำแทนตนในกิจการใดก็ได้” ดังนั้น การฟ้องคดีนับว่าเป็นส่วนกิจการที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอกอย่างหนึ่ง นายศุกรีย์จึงมีอำนาจกระทำการแทนบรรษัทโจทก์ได้ โดยไม่จำต้องให้คณะกรรมการมอบอำนาจอีกจึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยว่าการมอบอำนาจถูกต้องหรือไม่นายศุกรีย์กรรมการผู้จัดการทั่วไปจึงมีอำนาจฟ้องคดีแทนโจทก์ได้ตามที่กฎหมายให้อำนาจไว้โดยเฉพาะ
จำเลยทั้งห้าฎีกาข้อสุดท้ายว่า จำเลยยังไม่ได้ผิดสัญญาเพราะโจทก์สละประโยชน์แห่งเงื่อนเวลาในการชำระหนี้แล้ว จำเลยไม่ได้ชำระหนี้ให้โจทก์เพียง 4 งวด โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องให้จำเลยชำระหนี้ในงวดที่ยังไม่ถึงกำหนดเพราะโจทก์มีสิทธิได้รับประโยชน์จากการคิดดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 2 ของยอดเงินทั้งหมด โดยคิดดอกเบี้ยเช่นเดียวกันนี้ในทุกงวดที่ผิดนัด ส่วนดอกเบี้ยก็เช่นเดียวกันเมื่อผิดนัดโจทก์คิดดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นมาตลอด โจทก์จึงมิได้ถือข้อตกลงตามสัญญาเอกสารหมาย จ.3 ที่ระบุว่าถ้าจำเลยที่ 1ผิดนัดไม่ชำระต้นเงินหรือดอกเบี้ยงวดใดงวดหนึ่งถือว่าผิดนัดทุกงวดเป็นสาระสำคัญ เพราะมิฉะนั้นโจทก์ก็ชอบที่จะใช้สิทธิดำเนินคดีจำเลยทันที แต่โจทก์หาใช้สิทธิตามสัญญาไม่ กลับคิดดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นในกรณีผิดนัดเช่นนี้ ถือว่าโจทก์สละประโยชน์แห่งเงื่อนเวลาแล้วนั้นตามคำให้การจำเลยมิได้มีประเด็นต่อสู้ไว้ในปัญหานี้ จึงมิใช่ปัญหาที่ว่ากันมาในศาลชั้นต้น แม้ศาลอุทธรณ์จะได้วินิจฉัยปัญหาข้อนี้มาก็ถือไม่ได้ว่าเป็นข้อที่ยกขึ้นว่ากันโดยชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยทั้งห้าชำระหนี้เงินตามฟ้องพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์นั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล
พิพากษายืน

Share