แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
คดีฉ้อโกงประชาชนข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่า ค. พวกของจำเลยหลอกลวงผู้เสียหายคนละวันเวลากัน แต่สถานที่เกิดเหตุเป็นที่เดียวกันหรือบริเวณเดียวกัน ดังนั้น ถือว่าจำเลยกับพวกได้หลอกลวงพวกผู้เสียหายในเวลาเดียวกัน แม้พวกผู้เสียหายหลงเชื่อมาชำระให้ ค. หรือจำเลยในภายหลังในวันเวลาที่ไม่ตรงกัน ก็ไม่เป็นการกระทำผิดหลายกรรมเพราะการรับเงินเป็นผลที่เกิดจากการกระทำ หาใช่การกระทำขึ้นใหม่ไม่.(ที่มา-ส่งเสริม)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานฉ้อโกงประชาชนและฐานจัดหางานโดยฝ่าฝืนกฎหมายตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 91, 341, 343พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่6) พ.ศ. 2526มาตรา 4 พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 มาตรา30, 82 ให้จำเลยคืนเงินแก่ผู้เสียหายรวม 210,000 บาท
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา343 วรรคแรก จำคุก 5 ปี ให้จำเลยคืนเงินแก่ผู้เสียหายทั้ง 6 คนคนละ 30,000 บาทคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์ว่าจำเลยกระทำผิดหลายกรรมต่างกัน ขอให้ลงโทษจำเลยทุกกรรมและขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 ด้วย
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา โดยอธิบดีกรมอัยการรับรองให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงสำหรับความผิดฐานฉ้อโกง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ‘…..ตามคำเบิกความของผู้เสียหายทั้ง 7คน…..ฟังข้อเท็จจริงได้ว่านายคำมาได้หลอกลวงพวกผู้เสียหายประมาณปลายเดือนสิงหาคม 2529 ต่อมาเมื่อพวกผู้เสียหายเดินทางมาถึงกรุงเทพมหานครในวันที่ 6 กันยายน 2529 นายคำมาได้จัดให้พักที่โรงแรมเจริญผลและในช่วงนี้นายคำมาได้แนะนำให้พวกผู้เสียหายรู้จักจำเลยโดยบอกว่าเป็นผู้ร่วมงานกับนายคำมาคดีไม่มีข้อเท็จจริงแน่นอนชัดเจนลงไปว่านายคำมาหลอกลวงผู้เสียหายคนละวันเวลากันและผู้เสียหายเกือบทุกคนก็เบิกความว่ามาพบนายคำมาที่บ้านนายสังข์ทอง สถานที่เกิดเหตุก็ฟังได้ว่าเป็นที่เดียวกันหรือบริเวณเดียวกัน รูปคดีจึงถือได้ว่านายคำมาได้หลอกลวงพวกผู้เสียหายในเวลาเดียวกัน เมื่อประชาชนหรือพวกผู้เสียหายหลงเชื่อมาชำระเงินแก่นายคำมาหรือแก่จำเลยในภายหลังในวันเวลาที่ไม่ตรงกัน ก็ไม่เป็นการกระทำผิดหลายกรรม เพราะการรับเงินนั้นเป็นผลที่เกิดจากการกระทำกระทำของนายคำมากับจำเลยไม่ใ่ช่เป็นการกระทำขึ้นใหม่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดกระทงเดียวจึงชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น.
พิพากษายืน.