คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2053/2526

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การรับลูกจ้างทดลองงาน 3 เดือนก่อนบรรจุเป็นลูกจ้างประจำนั้น เป็นการจ้างในฐานะลูกจ้างประจำแล้ว เพียงแต่ลูกจ้างไม่มีสิทธิ ได้รับค่าชดเชยหากถูกเลิกจ้างในระหว่างทดลองงานเท่านั้น ส่วนอายุการทำงานในฐานะลูกจ้างประจำเริ่มนับแต่วันที่นายจ้างรับลูกจ้างเข้าทำงาน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ ๑๕ ตุลาคม ๒๕๒๔ จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างประจำ ต่อมาวันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๒๕ จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่มีความผิดและไม่จ่ายค่าชดเชย ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยรับโจทก์เป็นลูกจ้างประจำมีผลนับแต่วันที่ ๑๖ มกราคม ๒๕๒๕ เป็นต้นไป โจทก์ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของจำเลย จำเลยมีหนังสือตักเตือนแล้วโจทก์ยังจงใจขัดขืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าว จำเลยจึงปลดโจทก์จากการเป็นลูกจ้างประจำและโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าชดเชย ขอให้พิพากษายกฟ้อง
วันพิจารณาโจทก์จำเลยแถลงรับกันว่า จำเลยรับโจทก์เข้าเป็นลูกจ้างทดลองงานมีกำหนด ๓ เดือนนับแต่วันที่ ๑๕ ตุลาคม ๒๕๒๔ และบรรจุโจทก์เป็นลูกจ้างประจำวันที่ ๑๖ มกราคม ๒๕๒๕
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์ไม่ได้ฝ่าฝืนคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของจำเลย โจทก์เป็นลูกจ้างประจำที่ได้ทำงานติดต่อกันมาครบ ๑ ปี มีสิทธิได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย ๙๐ วัน พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยไม่มีข้อใดระบุว่าเป็นหน้าที่ของลูกจ้างจะต้องทำคำมั่นสัญญาให้แก่นายจ้างเป็นพิเศษนอกเหนือไปจากข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ดังนั้น การที่โจทก์ไม่ยอมปฏิบัติตามคำสั่งของจำเลยที่ให้โจทก์ลงชื่อในคำมั่นสัญญาจึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ขัดคำสั่งโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยผู้เป็นนายจ้าง จำเลยจะอ้างเหตุนี้เลิกจ้างโจทก์โดยไม่จ่ายค่าชดเชยหาได้ไม่
การที่จำเลยรับโจทก์เข้าเป็นลูกจ้างทดลองงาน ๓ เดือน ก่อนที่จะได้รับการบรรจุเป็นพนักงานประจำนั้น เป็นการจ้างโจทก์ทำงานในฐานะเป็นลูกจ้างประจำเพียงแต่โจทก์ยังไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยหากจะถูกเลิกจ้างในระหว่างเวลาทดลองงานเท่านั้น ส่วนอายุการทำงานในฐานะลูกจ้างประจำเริ่มนับแต่วันที่จำเลยรับโจทก์เข้าทำงาน และเมื่อโจทก์ได้รับการบรรจุเป็นพนักงานประจำในเวลาต่อมา อายุการทำงานก็ต้องนับต่อเนื่องกัน เมื่อนับระยะเวลาจากวันที่จำเลยรับโจทก์เข้าทำงานถึงวันเลิกจ้าง อายุการทำงานของโจทก์ครบ ๑ ปี แต่ไม่ครบ ๓ ปี โจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างสุดท้าย ๙๐ วัน ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ ๑๖ เมษายน ๒๕๑๕ ข้อ ๔๖ (๒) (ฉบับที่ ๖) ลงวันที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๒๑ ข้อ ๒
พิพากษายืน

Share