แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
แม้จำเลยมีตำแหน่งอาจารย์ทำหน้าที่สอนหนังสือ แต่จำเลยก็ได้รับมอบหมายจากอาจารย์ใหญ่ให้ทำหน้าที่หัวหน้าแผนกการเงินซึ่งอาจารย์ใหญ่มีอำนาจมอบหมายได้ เงินที่จำเลยได้รับและเบียดบังไปเป็นเงินค่าจำหน่ายผลิตผลและอื่น ๆ เมื่อจำเลยรับไว้แล้วมีหน้าที่ต้องนำส่งต่อคณะกรรมการรักษาเงิน อันเป็นการปฏิบัติหน้าที่ราชการตามที่ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาผู้มีอำนาจจำเลยจึงมีฐานะเป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่รักษาทรัพย์ เมื่อจำเลยเบียดบังเป็นของตนหรือของผู้อื่นโดยทุจริต ต้องมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 หาใช่ มาตรา 352 ไม่
ย่อยาว
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 147 จำคุก 5 ปี พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีแล้วเห็นว่า จำเลยรับราชการครูมาหลายปี นับว่าเป็นผู้มีคุณงามความดีมาก่อน และได้ชดใช้เงินคืนราชการจนครบแล้ว มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก2 ปี 6 เดือน ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยกฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “คดีนี้จำเลยฎีกาได้แต่เฉพาะปัญหาข้อกฎหมาย ในการวินิจฉัยข้อกฎหมายนั้น ศาลฎีกาจะต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวนศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยรับราชการตำแหน่งอาจารย์ มีหน้าที่สอนหนังสือแต่จำเลยก็ได้รับมอบหมายอำนาจหน้าที่ราชการจากอาจารย์ใหญ่ให้ทำหน้าที่หัวหน้าแผนกการเงิน ตามเอกสารหมาย ป.จ.1 ซึ่งอาจารย์ใหญ่มีอำนาจมอบหมายเช่นนั้นได้ตามเอกสารหมาย ป.จ.2 ข้อ 11 และในข้อ 28 ของเอกสารเดียวกันนี้ก็กำหนดอำนาจหน้าที่ของหัวหน้าแผนกการเงินเอาไว้ด้วยในข้อ 28.2 มีว่า “รับผิดชอบในการรับจ่ายเงินงบประมาณและนอกงบประมาณรับส่งเงินต่อคณะกรรมการเก็บรักษา ออกใบเสร็จรับเงิน ตรวจการรับจ่ายเงิน”ทั้งได้ความตามที่โจทก์นำสืบโดยจำเลยไม่นำสืบหักล้างว่า จำเลยมีหน้าที่รับเงินของวิทยาเขตอันเป็นเงินจากการจำหน่ายผลิตผลและเงินอื่น ๆ จากคณะครูต่าง ๆแล้วออกใบเสร็จมอบให้พร้อมทั้งสำเนาคู่ฉบับใบเสร็จไว้ ต่อมาจึงนำส่งต่อคณะกรรมการรักษาเงิน ตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยได้รับเงินของวิทยาเขตเกษตรจันทบุรีจากอาจารย์คณะสัตวบาล และคณะพืชศาสตร์ 22 ครั้ง เป็นเงิน 108,410 บาท โดยไม่กรอกรายการจำนวนเงินสำเนาคู่ฉบับใบเสร็จกับอีก 4 ครั้ง เป็นเงิน 29,558.50 บาท โดยกรอกรายการจำนวนเงินในสำเนาคู่ฉบับใบเสร็จ 11,322 บาท น้อยกว่าที่ได้รับจริง 18,237.50บาท แล้วจำเลยเบียดบังเงิน 108,410 บาท กับ 18,236.50 บาท รวม 126,646.50บาท เป็นของตนหรือของผู้อื่นโดยทุจริต และเมื่อเจ้าพนักงานตรวจเงินแผ่นดินตรวจพบ จำเลยได้หาเงินมาใช้คืนแก่วิทยาเขตเกษตรจันทบุรีครบถ้วนแล้ว
ปัญหาวินิจฉัยมีว่า ตามข้อเท็จจริงดังกล่าวถือได้หรือไม่ว่า การที่จำเลยได้เบียดบังเอาเงินจำนวนดังกล่าวไว้เป็นของตนหรือผู้อื่นโดยทุจริตนั้น จำเลยได้กระทำไปในฐานะเป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่รักษาทรัพย์เห็นว่า แม้จำเลยมีตำแหน่งอาจารย์ทำหน้าที่สอนหนังสือ แต่จำเลยก็ได้รับมอบหมายจากอาจารย์ใหญ่ให้ทำหน้าที่หัวหน้าแผนกการเงิน ซึ่งอาจารย์ใหญ่มีอำนาจมอบหมายได้ หน้าที่ของหัวหน้าแผนกการเงินนั้นคือ รับผิดชอบในการรับจ่ายเงินงบประมาณและนอกงบประมาณ รับส่งเงินต่อคณะกรรมการรักษาเงิน ออกใบเสร็จรับเงิน ตรวจการรับจ่ายเงินเป็นต้น เงินที่จำเลยได้รับและเบียดบังไปนี้เป็นเงินค่าจำหน่ายผลิตผลและอื่น ๆ ของวิทยาเขตเกษตรจันทบุรี ซึ่งอาจารย์คณะสัตวบาลและคณะพืชศาสตร์นำส่ง เมื่อจำเลยรับไว้แล้วมีหน้าที่ต้องนำส่งต่อคณะกรรมการรักษาเงินอันเป็นการปฏิบัติหน้าที่ราชการตามที่ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาผู้มีอำนาจ จำเลยจึงมีฐานะเป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่รักษาทรัพย์ เมื่อจำเลยได้เบียดบังเป็นของตนหรือของผู้อื่นโดยทุจริต จึงต้องมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 หาใช่มาตรา 352 ไม่ คำพิพากษาฎีกาที่จำเลยอ้างข้อเท็จจริงไม่ตรงกัน คดีนี้จึงมิใช่ความผิดอันยอมความได้แม้จำเลยจะได้ประนีประนอมยอมความใช้เงินให้ผู้เสียหายแล้ว คดีก็ไม่ระงับไปและไม่ขาดอายุความ ดังที่จำเลยฎีกา ศาลอุทธรณ์พิพากษาคดีมาชอบแล้ว ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน