แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 390 และพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2477 มาตรา 29(4), 66 ที่แก้ไขเพิ่มเติมแล้ว จำเลยที่1 ฝ่ายเดียวอุทธรณ์ว่าจำเลยที่ 2 กระทำประมาทฝ่ายเดียว ขอให้ยกฟ้อง แม้จำเลยที่ 1 มิได้อุทธรณ์โต้แย้งในเรื่องบาดแผลมาด้วย ศาลอุทธรณ์ก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยให้เป็นคุณแก่จำเลยได้
แม้การขับรถของจำเลยเป็นที่น่าหวาดเสียว เป็นเหตุให้เกิดชนกันอย่างแรง ต่างเสียหายมากอย่างไรก็ตาม เมื่อลักษณะบาดแผลของผู้เสียหายที่ได้รับมีเพียงเจ็บบริเวณข้อศอกและปลายแขนซ้ายมีรอยช้ำเล็กน้อย รักษาประมาณ 2 วัน เท่านี้ ยังไม่รุนแรงจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กาย อันจะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 390
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองต่างขับรถยนต์ด้วยความประมาทจากความระมัดระวังไม่ชะลอความเร็วของรถให้ช้าลงผ่านทางสี่แยกเพื่อให้เห็นความปลอดภัยในทางข้างหน้าเสียก่อน ต่างขับรถด้วยความเร็วเกินกว่า 20 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เกินกว่าอัตราความเร็วที่กฎหมายกำหนดไว้ เป็นการขับรถโดยประมาทหรือน่าหวาดเสียว อันอาจเกิดอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สิน ผิดปกติวิสัยของการขับรถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยหรือความเดือดร้อนของผู้อื่น ทำให้รถทั้งสองคันชนกันอย่างแรง เป็นเหตุให้นายสุรพล เตวิทย์ ซึ่งโดยสารมาบนรถของจำเลยที่ 1 ได้รับอันตรายแก่กายถึงบาดเจ็บ รักษา 2 วันหายขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 390 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2477 มาตรา 29(1), 66 พระราชบัญญัติจราจรทางบกแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2508 มาตรา 7, 13 กฎกระทรวงมหาดไทยออกตามความในพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2477 (ฉบับที่ 2) ข้อ 11
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามบทกฎหมายที่โจทก์ฟ้องแต่ให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 390 ซึ่งเป็นบทหนัก ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 15 วัน เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นกักขังแทนคนละ 15 วัน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 23
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ฝ่ายเดียว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงตามศาลชั้นต้น แต่เห็นว่า ลักษณะบาดแผลที่ผู้เสียหายได้รับยังถือไม่ได้ว่าได้รับอันตรายแก่กาย คงเป็นความผิดเฉพาะฐานขับรถโดยประมาทตามพระราชบัญญัติจราจรทางบกเท่านั้น และเป็นเหตุลักษณะคดี พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2477 มาตรา 29(4), 66แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2508 มาตรา 7, 13 ปรับคนละ 500 บาท คำขออื่นให้ยก
โจทก์ฎีกาว่า คดีนี้จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ฝ่ายเดียวว่า เหตุคดีนี้ จำเลยที่ 2 ประมาทฝ่ายเดียว มิได้อุทธรณ์ในเรื่องบาดแผลของผู้เสียหาย ศาลอุทธรณ์กลับหยิบยกลักษณะบาดแผลของผู้เสียหายขึ้นวินิจฉัย แล้วพิพากษาแก้ว่าจำเลยทั้งสองไม่ผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 390 เป็นการนอกอุทธรณ์ มิชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192, 215 และการขับรถของจำเลยทั้งสองน่าหวาดเสียวเป็นเหตุให้เกิดชนกันอย่างแรง และต่างเสียหายมาก บาดแผลของผู้เสียหายจึงถือว่าเป็นอันตรายแก่กายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 390 แล้ว
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การที่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ว่า เหตุคดีนี้ จำเลยที่ 2 กระทำประมาทฝ่ายเดียว ขอให้ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ยกฟ้อง จำเลยที่ 1 ปล่อยจำเลยที่ 1 พ้นข้อหาไปนั้น ย่อมหมายถึงว่า จำเลยมิได้กระทำความผิดตามบทกฎหมายที่โจทก์ฟ้องและที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยชี้ขาดมา เมื่อศาลอุทธรณ์เห็นว่าบาดแผลของนายสุรพล เตวิทย์ ที่ปรากฏในทางพิจารณามีลักษณะไม่ถึงกับเป็นอันตรายแก่กายอันจะทำให้การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 390 ที่ศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยแล้ว แม้จำเลยที่ 1 มิได้อุทธรณ์โต้แย้งในเรื่องบาดแผล ศาลอุทธรณ์ก็มีอำนาจหยิบยกส่วนที่เป็นคุณขึ้นวินิจฉัยให้เป็นผลดีแก่จำเลยได้ จะถือว่าเป็นการนอกฟ้องอุทธรณ์ดังโจทก์ฎีกามาหาได้ไม่ และศาลฎีกาเห็นว่า แม้การขับรถของจำเลยเป็นที่น่าหวาดเสียว เป็นเหตุให้เกิดชนกันอย่างแรง และต่างเสียหายมากอย่างไรก็ตามแต่ลักษณะบาดแผลของนายสุรพล เตวิทย์ ตามรายงานชันสูตรบาดแผลท้ายฟ้องซึ่งนายสุรพล เตวิทย์ ก็ยอมรับว่าได้รับบาดเจ็บตามนั้น มีว่า เจ็บบริเวณข้อศอกและปลายแขนซ้ายมีรอยช้ำเล็กน้อย รักษาประมาณ 2 วัน เพียงเท่านั้นยังไม่รุนแรงจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กาย อันจะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 390 ศาลอุทธรณ์พิพากษามาชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ยกฎีกาโจทก์