คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2043/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 609 บัญญัติให้การขนไปรษณียภัณฑ์ในหน้าที่กรมไปรษณีย์โทรเลขต้องบังคับตามกฎหมายและกฎข้อบังคับสำหรับทบวงการนั้น ๆ ดังนี้ การที่ห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. ฝากส่งไปรษณียภัณฑ์กับการสื่อสารแห่งประเทศไทยจำเลยที่ 1 จึงต้องบังคับตามพระราชบัญญัติ ไปรษณีย์ พ.ศ. 2477 พระราชบัญญัติการสื่อสารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2519 และไปรษณียนิเทศ พ.ศ. 2520 ซึ่งเป็นกฎหมายและข้อบังคับที่ใช้อยู่ในขณะที่ฝากส่งไปรษณียภัณฑ์ จะนำบทบัญญัติเรื่องรับขนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 3 ลักษณะ 8 หมวด 1 มาใช้บังคับแก่จำเลยที่ 1 ไม่ได้ บริษัทสายการบินอลิตาเลียจำกัดจำเลยที่ 2 มีนิติสัมพันธ์เฉพาะกับจำเลยที่ 1 ตามสนธิสัญญาระหว่างประเทศและอนุสัญญาสากลไปรษณีย์ และมิใช่ผู้ขนส่งหลายทอดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 618 ห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. ไม่มีนิติสัมพันธ์กับจำเลยที่ 2 โจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยไปรษณียภัณฑ์ที่ห้างหุ้นส่วนจำกัดส.เป็นผู้ฝากส่ง จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในการที่ไปรษณียภัณฑ์ดังกล่าวสูญหายไป.(ที่มา-ส่งเสริมฯ)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ห้างหุ้นส่วนจำกัดสยามการพลอยได้ส่งทับทิมและพลอยสีน้ำเงินเจียระไนจำนวน 23,503 เม็ด น้ำหนัก 2,618.92 กะรัตราคา 404,438 บาท ไปเพื่อจำหน่ายให้แก่ จี.เอฟ.วิลเลี่ยม ประเทศอังกฤษโดยจัดส่งทางไปรษณีย์และได้เอาประกันภัยสำหรับความเสียหายหรือสูญหายไว้กับโจทก์ การสื่อสารแห่งประเทศไทยจำเลยที่ 1 ได้จ้างบริษัทสายการบินอลิตาเลียจำกัดจำเลยที่ 2 ขนส่งไปรษณียภัณฑ์ดังกล่าว ปรากฏว่าไปรษณียภัณฑ์บรรจุสินค้าอัญมณีดังกล่าวได้สูญหายไประหว่างการขนส่ง จำเลยทั้งสองจึงต้องร่วมรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัด สยามการพลอยโจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยได้ใช้ค่าเสียหายจำนวน 450,295.40บาท ให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัด สยามการพลอยไปแล้ว โจทก์จึงเป็นผู้รับช่วงสิทธิที่จะเรียกร้องเอาค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสอง ขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายจำนวน 450,295.40 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของจำนวนเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า ห้างหุ้นส่วนจำกัดสยามการพลอยได้ฝากส่งไปรษณียภัณฑ์ประเภทจดหมายลงทะเบียนรับประกันกับจำเลยที่ 1 ไว้เป็นเงิน 3,950 บาท ความรับผิดของจำเลยที่ 1 จึงไม่เกินจำนวนเงินที่รับประกันไว้ เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ได้ส่งมอบไปรษณียภัณฑ์ให้กับเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 2 ซึ่งรับจ้างขนส่งไปรษณียภัณฑ์ดังกล่าวไปยังประเทศอังกฤษในลักษณะห่อของเรียบร้อย เพื่อดำเนินการส่งให้แก่ผู้รับที่ไปรษณีย์ปลายทางจำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิด ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ไม่มีโอกาสทราบว่า ภายในถุงไปรษณีย์นั้นมีสิ่งใดบรรจุอยู่ เป็นของผู้ใด มีจำนวนและมีมูลค่าเท่าใด จำเลยที่ 2 มีหน้าที่จะต้องปฏิบัติตามที่จำเลยที่ 1 ได้มอบหมาย จำเลยที่ 2 ได้ส่งมอบถุงไปรษณีย์ให้แก่ที่ทำการไปรษณีย์ปลายทางโดยเรียบร้อย โจทก์ได้จ่ายเงินให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัด สยามการพลอยโดยความสมัครใจและด้วยความประมาทเลินเล่อของโจทก์เอง หากจำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดก็ไม่เกินความรับผิดของจำเลยที่ 1 ซึ่งมีจำกัดไม่เกิน 3,950 บาท จำเลยที่ 1 เป็นคู่สัญญาโดยตรงกับห้างหุ้นส่วนดังกล่าวซึ่งไม่มีนิติสัมพันธ์กับจำเลยที่ 2 ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 จ่ายเงิน 3,950 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของจำนวนเงินดังกล่าวนับจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์ ยกฟ้องจำเลยที่ 2
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์เป็นเงิน 3,950 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ‘คดีเกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คงมีปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า จำเลยที่ 2 ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์หรือไม่…
พิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงที่โจทก์และจำเลยนำสืบรับกันฟังได้ว่า ห้างหุ้นส่วนจำกัดสยามการพลอยได้ฝากส่งไปรษณียภัณฑ์ลงทะเบียนและรับประกันกับจำเลยที่ 1 เพื่อส่งไปยังผู้รับปลายทางที่ประเทศอังกฤษ ไปรษณียภัณฑ์ที่ฝากส่งได้รับอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย และผ่านพิธีการทางศุลกากรแล้วตามเอกสารหมาย จ.2 ถึง จ.5 จำเลยที่ 1 ได้รับฝากส่งไปรษณียภัณฑ์และออกใบรับฝากตามเอกสารหมาย จ.8 รับประกันความเสียหายไว้ในวงเงิน3,950 บาท ห้างหุ้นส่วนจำกัด สยามการพลอยได้เอาประกันภัยไปรษณียภัณฑ์ไว้กับโจทก์ ตามกรมธรรม์ประกันภัยเอกสารหมาย จ.10ถึง จ.13 จำเลยที่ 1 ได้มอบถุงไปรษณีย์ซึ่งมีไปรษณียภัณฑ์ของห้างหุ้นส่วนจำกัด สยามการพลอยรวมอยู่ด้วยให้จำเลยที่ 2 ขนส่งไปยังปลายทางที่ประเทศอังกฤษ เจ้าหน้าที่ไปรษณีย์ปลายทางได้รับไว้เรียบร้อยแล้ว แต่ปรากฏว่าสิ่งของตามไปรษณียภัณฑ์ดังกล่าวได้สูญหายไป ไม่ถึงผู้รับ โจทก์ผู้รับประกันภัยได้ชดใช้ราคาแก่ห้างหุ้นส่วนจำกัด สยามการพลอยและเป็นผู้รับช่วงสิทธิ ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 เป็นรัฐวิสาหกิจดำเนินการไปรษณีย์ตามพระราชบัญญัติไปรษณีย์ พ.ศ. 2477 พระราชบัญญัติการสื่อสารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2519 และตามไปรษณียนิเทศ พ.ศ. 2520จำเลยที่ 2 ไม่มีนิติสัมพันธ์กับโจทก์และห้างหุ้นส่วนจำกัดสยามการพลอยแต่อย่างใด จำเลยที่ 1 ส่งถุงไปรษณีย์ให้จำเลยที่ 2ตามพระราชบัญญัติไปรษณีย์ พ.ศ. 2477 มาตรา 48 และตามสัญญาระหว่างประเทศ อนุสัญญาสากลไปรษณีย์ ไม่มีการออกใบตราส่ง ใบกำกับสินค้าไม่อาจถือได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ขนส่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และไม่ถือว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้ขนส่งหลายทอด จำเลยที่ 2 ไม่ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์นั้น เห็นว่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 609 บัญญัติให้การขนไปรษณียภัณฑ์ในหน้าที่กรมไปรษณีย์โทรเลข นั้น ให้บังคับตามกฎหมายและกฎข้อบังคับสำหรับทบวงการนั้นๆ ดังนี้ การที่ห้างหุ้นส่วนจำกัด สยามการพลอยฝากส่งไปรษณียภัณฑ์ดังกล่าวกับจำเลยที่ 1 จึงต้องบังคับตามพระราชบัญญัติไปรษณีย์ พ.ศ. 2477พระราชบัญญัติการสื่อสารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2519 และไปรษณียนิเทศพ.ศ. 2520 ซึ่งเป็นกฎหมายและข้อบังคับที่ใช้อยู่ในขณะที่ฝากส่งไปรษณียภัณฑ์นั้นไปรษณียภัณฑ์ดังกล่าวลงทะเบียนและรับประกัน โดยห้างหุ้นส่วนจำกัด สยามการพลอยขอให้จำเลยที่ 1รับประกันไว้เป็นเงิน 3,950 บาท หรือ 500 แฟรงก์ทอง เห็นว่าการขนไปรษณียภัณฑ์ในหน้าที่ของจำเลยที่ 1 เมื่อมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นพิเศษแล้วจะนำบทบัญญัติเรื่องรับขนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 3 ลักษณะ 8 หมวด 1 มาใช้บังคับแก่จำเลยที่ 1 ไม่ได้ จำเลยที่ 2 ซึ่งมีนิติสัมพันธ์เฉพาะกับจำเลยที่ 1 ตามสนธิสัญญาระหว่างประเทศ และอนุสัญญาสากลไปรษณีย์ และมิใช่ผู้ขนส่งหลายทอดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 618ห้างหุ้นส่วนจำกัด สยามการพลอยผู้ฝากส่งไปรษณียภัณฑ์ไม่มีนิติสัมพันธ์กับจำเลยที่ 2 โจทก์จึงหามีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในการที่ไปรษณียภัณฑ์สูญหายไปไม่ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังขึ้น จึงไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของจำเลยที่ 2 ต่อไป’
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

Share