คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2040/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สิทธิของโจทก์ที่ได้รับเงินทดแทนค่ารักษาพยาบาลจากบริษัทประกันภัยเป็นสิทธิตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถพ.ศ.2535ที่บังคับให้เจ้าของรถซึ่งใช้รถหรือมีรถไว้เพื่อใช้ต้องจัดให้มีการประกันความเสียหายสำหรับผู้ประสบภัยโดยประกันภัยกับบริษัทและต้องเสียเบี้ยประกันภัยส่วนสิทธิของโจทก์ที่จะได้รับเงินทดแทนค่าบริการทางการแพทย์จากจำเลยเป็นสิทธิตามพระราชบัญญัติประกันสังคมพ.ศ.2533ซึ่งบังคับให้ลูกจ้างต้องเป็นผู้ประกันตนและส่งเงินเข้ากองทุนสมทบเมื่อเป็นสิทธิของโจทก์ตามกฎหมายแต่ละฉบับโดยโจทก์ต้องเสียเบี้ยประกันภัยและส่งเงินเข้ากองทุนสมทบแล้วแต่กรณีตามที่กฎหมายแต่ละฉบับดังกล่าวกำหนดไว้ซึ่งต้องชำระทั้ง2ทางและเมื่อพระราชบัญญัติประกันสังคมพ.ศ.2533ไม่มีบทบัญญัติตัดสิทธิมิให้ผู้ที่ได้รับเงินทดแทนตามกฎหมายอื่นแล้วมารับเงินทดแทนอีกจำเลยจึงจะยกเอาเหตุที่โจทก์ได้รับเงินทดแทนค่ารักษาพยาบาลจากบริษัทประกันภัยแล้วมาเป็นข้ออ้างเพื่อไม่จ่ายเงินทดแทนแก่โจทก์หาได้ไม่ พระราชบัญญัติประกันสังคมพ.ศ.2533เป็นกฎหมายพิเศษที่บัญญัติขึ้นเพื่อให้การสงเคราะห์แก่ลูกจ้างหรือบุคคลอื่นซึ่งประสบอันตรายเจ็บป่วยทุพพลภาพหรือตายอันมิใช่เนื่องจากการทำงานรวมทั้งกรณีอื่นอีกจึงจะนำหลักกฎหมายทั่วไปในเรื่องประกันวินาศภัยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาใช้บังคับในกรณีนี้ไม่ได้โจทก์มีสิทธิได้รับเงินทดแทนค่าบริการทางการแพทย์จากจำเลยตามพระราชบัญญัติประกันสังคมพ.ศ.2533

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างบริษัทซิงเกอร์ประเทศไทยจำกัด (มหาชน) และเป็นผู้ประกันตนไว้กับจำเลย ซึ่งมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีประสบอุบัติเหตุหรือป่วยเจ็บอันมิใช่เนื่องจากการทำงาน โดยจำเลยได้กำหนดให้โรงพยาบาลกล้วยน้ำไทเป็นสถานพยาบาลเพื่อให้โจทก์ได้รับบริการทางการแพทย์ ต่อมาเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2537 โจทก์ขับรถยนต์ประสบอุบัติเหตุชนกับรถจักรยานยนต์ทำให้โจทก์ได้รับบาดเจ็บสาหัสและหมดสติ มีผู้นำโจทก์ส่งโรงพยาบาลแพทย์รังสิตโจทก์ต้องเสียค่าบริการทางการแพทย์ไปเป็นเงิน 7,905 บาท หลังจากนั้นน้องภริยาโจทก์ได้นำโจทก์ไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลสมิติเวชได้เสียค่าบริการทางการแพทย์ไปอีกเป็นเงิน 138,420 บาท รวมสองแห่งเป็นเงินทั้งสิ้น146,325 บาท โจทก์ได้ใช้สิทธิของภริยาซึ่งรับราชการเบิกค่ารักษาพยาบาลเป็นเงิน 23,643 บาท และได้รับเงินทดแทนตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 อีกจำนวน10,000 บาท ต่อมาโจทก์ได้ยื่นคำร้องขอรับเงินประโยชน์ทดแทนกรณีเจ็บป่วยจากจำเลย แต่จำเลยวินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับเงินดังกล่าว ปรากฏตามคำวินิจฉัยที่ 10115448/2537 โจทก์อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการอุทธรณ์ คณะกรรมการอุทธรณ์วินิจฉัยว่าอาการบาดเจ็บของโจทก์ที่เกิดจากอุบัติเหตุและถูกนำส่งโรงพยาบาลแพทย์รังสิตซึ่งอยู่ใกล้ที่เกิดเหตุมีสิทธิได้รับเงินทดแทนค่าบริการทางการแพทย์ แต่โจทก์ได้รับเงินทดแทนค่ารักษาพยาบาล จำนวน 10,000 บาท ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 แล้ว จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินทดแทนค่ารักษาพยาบาลอีก ส่วนการรักษาพยาบาลต่อมาที่โรงพยาบาลสมิติเวชโจทก์มิได้ปฏิบัติตามระเบียบของสำนักงานประกันสังคม จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินทดแทนค่าบริการทางการแพทย์ ปรากฏตามคำวินิจฉัยที่271/2538 โจทก์ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยดังกล่าว เพราะโจทก์มีสิทธิได้รับค่าบริการทางการแพทย์ตามพระราชบัญญัติประกันสังคมพ.ศ. 2533 อีกต่างหาก ขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของกองประโยชน์ทดแทนที่ 10115448/2537 และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ที่ 271/2538 ให้จำเลยจ่ายเงินทดแทนค่าบริการทางการแพทย์จำนวน 122,691 บาท แก่โจทก์
จำเลยให้การว่า กรณีที่โจทก์ประสบอุบัติเหตุจำเป็นต้องได้รับการรักษาในทันที่ การที่มีผู้นำโจทก์ส่งโรงพยาบาลแพทย์รังสิต ถือได้ว่าเป็นกรณีที่ไม่สามารถไปรับบริการทางการแพทย์จากสถานพยาบาลที่กำหนดคือโรงพยาบาลกล้วน้ำไทได้ โจทก์จึงมีสิทธิได้รับเงินค่าบริการทางการแพทย์จำนวน 7,905 บาทจากจำเลย ซึ่งเป็นการให้การสงเคราะห์แก่ลูกจ้างเมื่อประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยอันมิใช่เนื่องจากการทำงาน เป็นการให้ความคุ้มครองด้านสวัสดิการแก่ลูกจ้างเมื่อได้รับความเดือดร้อน เจ็บป่วยตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 แต่เมื่อโจทก์ได้รับสิทธิประโยชน์จากบริษัทไทยประสิทธิประกันภัย จำกัดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 เป็นเงิน10,000 บาท ซึ่งคุ้มจำนวนเงินที่โจทก์ต้องเสียค่าบริการทางการแพทย์ให้แก่โรงพยาบาลแพทย์รังสิตแล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่ารักษาพยาบาลจากจำเลยอีก ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของกองประโยชน์ทดแทนที่ 10115448/2537 และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 ที่ 271/2538 เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับค่ารักษาพยาบาลของโจทก์ที่โรงพยาบาลแพทย์รังสิตโดยให้จำเลยจ่ายค่าบริการทางการแพทย์ให้แก่โจทก์จำนวน 7,905 บาทนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำวินิจฉัยเดิม
จำเลย อุทธรณ์ ต่อ ศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า คดีคงมีปัญหาตามอุทธรณ์ของจำเลยเฉพาะที่เกี่ยวกับค่ารักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลแพทย์รังสิตจำนวนเงิน 7,905 บาท ว่า เมื่อโจทก์ได้รับเงินทดแทนค่ารักษาพยาบาลจำนวน 10,000 บาท จากบริษัทประกันภัยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 แล้ว โจทก์จะยังมีสิทธิได้รับเงินทดแทนค่าบริการทางการแพทย์จำนวน 7,905 บาท ดังกล่าวจากจำเลยตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 อีกหรือไม่ ซึ่งจำเลยอุทธรณ์ว่า พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 มีเจตนารมณ์ที่จะช่วยเหลือ สงเคราะห์ลูกจ้างและบุคคลอื่นซึ่งประสบอันตรายเจ็บป่วย ทุพพลภาพ หรือตาย อันมิใช่เนื่องจากการทำงาน รวมทั้งการคลอดบุตร กรณีสงเคราะห์บุตร กรณีชราภาพ และกรณีว่างงานซึ่งให้หลักประกันเฉพาะลูกจ้างอันเป็นการช่วยเหลือโดยไม่มีวัตถุประสงค์ให้ลูกจ้างมาค้ากำไรจากการประกันสังคมนี้ ฉะนั้นจึงเบิกซ้ำซ้อนไม่ได้ เมื่อเงินในส่วนที่จ่ายไปโจทก์เบิกได้จากบริษัทไทยประสิทธิประกันภัย จำกัด แล้ว หากให้สิทธิแก่โจทก์มาเบิกจ่ายได้อีก ก็เท่ากับลูกจ้างมีสิทธิเบิกได้ซ้ำซ้อน2 ทางจากอุบัติเหตุอันเดียวกัน กรณีจะเทียบเคียงกับพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537 ไม่ได้ ต้องใช้หลักกฎหมายทั่วไปในเรื่องประกันวินาศภัยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 870,871, 873, 874 และ 877 ประกอบด้วยมาตรา 4 มาบังคับ เห็นว่าสิทธิของโจทก์ที่ได้รับเงินทดแทนค่ารักษาพยาบาลจากบริษัทประกันภัย เป็นสิทธิตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 ที่บังคับให้เจ้าของรถซึ่งใช้รถหรือมีรถไว้เพื่อใช้ต้องจัดให้มีการประกันความเสียหายสำหรับผู้ประสบภัยโดยประกันภัยกับบริษัท และต้องเสียเบี้ยประกันภัย ส่วนสิทธิของโจทก์ที่จะได้รับเงินทดแทนค่าบริการทางการแพทย์จากจำเลย เป็นสิทธิตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 ซึ่งบังคับให้ลูกจ้างต้องเป็นผู้ประกันตนและส่งเงินเข้ากองทุนสมทบ เมื่อเป็นสิทธิของโจทก์ตามกฎหมายแต่ละฉบับโดยโจทก์ต้องเสียเบี้ยประกันภัยและส่งเงินเข้ากองทุนสมทบแล้วแต่กรณีตามที่กฎหมายแต่ละฉบับดังกล่าวกำหนดไว้ ซึ่งต้องชำระทั้ง 2 ทาง และเมื่อพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 ไม่มีบทบัญญัติตัดสิทธิมิให้ผู้ที่ได้รับเงินทดแทนตามกฎหมายอื่นแล้วมารับเงินทดแทนอีกจำเลยจึงจะยกเอาเหตุที่โจทก์ได้รับเงินทดแทนค่ารักษาพยาบาลจากบริษัทประกันภัยแล้วมาเป็นข้ออ้างเพื่อไม่จ่ายเงินทดแทนแก่โจทก์หาได้ไม่พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 เป็นกฎหมายพิเศษที่บัญญัติขึ้นเพื่อให้การสงเคราะห์แก่ลูกจ้างหรือบุคคลอื่นซึ่งประสบอันตราย เจ็บป่วย ทุพพลภาพ หรือตาย อันมิใช่เนื่องจากการทำงานรวมทั้งกรณีอื่นอีก จึงจะนำหลักกฎหมายทั่วไปในเรื่องประกันวินาศภัย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาใช้บังคับในกรณีนี้ไม่ได้ โจทก์มีสิทธิได้รับเงินทดแทนค่าบริการทางการแพทย์จำนวน 7,905 บาท จากจำเลยตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้นชอบแล้ว
พิพากษายืน

Share