คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 204/2500

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ได้ความว่าโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 5 เป็นบุตรนอก ก.ม.ของโจทก์ที่ 1 เกิดกับผู้ตายเจ้ามรดก แต่ผู้ตายเจ้ามรดกได้รับรองและแสดงออกโดยให้ใช้นามสกุลและการศึกษาถือว่าเจ้ามรดกได้รับรองว่าโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 5 เป็นบุตรของตนแล้ว โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 5 มีสิทธิรับมรดกของผู้ตาย และมีอำนาจฟ้องคดีได้โดยไม่จำเป็นต้องขอคำสั่งศาลเสียก่อน
ผู้ตายได้รับจำนองที่ดินพิพาทนี้โดยทางทะเบียนโดยสุจริตและมีค่าตอบแทนส่วนจำเลยที่ 3 ได้กรรมสิทธิที่ดินพิพาททางครอบครองแต่มิได้จดทะเบียนเช่นนี้จะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอก (คือ ฝ่ายผู้รับจำนอง) ผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตไม่ได้ตาม ป.พ.พ.ม.1299 แม้ถึงหากจะฟังว่าจำเลยที่ 1,2 เอาความเท็จไปแจ้งต่อเจ้าพนักงานว่าโฉนดหายจนได้รับใบแทนโฉนดมาแล้วเอาไปจำนองก็ดี เมื่อผู้รับจำนองมิได้รู้เห็นในเรื่องนี้ด้วยหากแต่รับจำนองไว้โดยสุจริตเช่นนี้ไม่ทำให้สิทธิของผู้รับจำนองดังกล่าวเปลี่ยนแปลงไป ฝ่ายผู้รับจำนองยังมีสิทธิฟ้องบังคับจำนองโดยยึดที่ดินจำนองขายทอดตลาดเอาเงินชำระหนี้ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำนองที่ดินโฉนดที่ ๔๘๒๐ ต.ไทรน้อย กิ่ง อ.ไทรน้อย จังหวัด นนทบุรี พร้อมด้วยดอกเบี้ยโดยที่ดินแปลงนี้จำเลยที่ ๑ ,๒ นำไปจำนองไว้กับนายน้อม รุ่งสว่าง โดยเงินที่รับจำนองเป็นเงินที่โจทก์ที่ ๑ กับนายน้อมเป็นเจ้าของร่วมกัน บัดนี้นายน้อม รุ่งสว่างตายแล้ว โจทก์ที่ ๒ ถึงที่ ๕ ผู้เยาว์เป็นบุตรนอก ก.ม.ของโจทก์ ที่ ๑ กับนายน้อม แต่นายน้อมได้รับรองเป็นบุตรและให้การศึกษาด้วยจึงเป็นบุตรนายน้อมตาม ก.ม. และเป็นผู้รับมรดกโดยเป็นทายาทโดยชอบธรรมเพราะไม่มีพินัยกรรมและโจทก์จำเป็นต้องฟ้องจำเลยที่ ๓ ด้วยเพราะเป็นผู้ถือกรรมสิทธิโดยทางครอบครองที่ดินแปลงนี้ภายหลังที่จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ จำนองไว้ กับโจทก์เพราะหนี้จำนองเป็นหนี้ติดที่ดินซึ่งจำเลยที่ ๓ จะต้องรับผิด
จำเลยที่ ๑,๒ ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ ๓ ให้การว่าที่แปลงนี้นางเชื้อเจ้าของเดิมมารดาจำเลยที่ ๑,๒ ได้ขายให้แก่นายพิมพ์ โลกะสุทธิ์ ที่จำเลยที่ ๓ แต่ไม่ได้จดทะเบียนเพียงแต่ส่งมอบโฉนด ให้นายพิมพ์ ต่อมานางเชื้อ ขอยืมโฉนดไปจากนายพิมพ์ว่าเจ้าพนักงานจะสำรวจที่ดิน นายพิมพ์หลงเชื่อมอบโฉนดให้นางเชื้อ ๆ จึงถอนชื่อออกแล้วใส่ชื่อจำเลยที่ ๑,๒ เป็นผู้ถือกรรมสิทธินายพิมพ์ทราบจึงเรียกโฉนดมาเก็บรักษาและฟ้องจำเลยที่ ๑,๒ เป็นจำเลยขอให้แสดงกรรมสิทธิแก่นายพิมพ์โดยทางครอบครองตาม ป.พ.พ.ม.๑๓๘๒ นายพิมพ์ตายในระหว่างฎีกา จำเลยที่ ๓ รับมรดกความ
จำเลยที่ ๑,๒ รู้แล้วว่าโฉนดรายนี้อยู่กับนายพิมพ์กับนำความเท็จไปแจ้งต่อพนักงานว่าโฉนดหายจนเจ้าพนักงานออกไปแทนโฉนดให้แล้ว จำเลยที่ ๑,๒ จึงมาจดทะเบียนจำนองไว้กับนายน้อมเป็นการใช้สิทธิมาด้วยความเท็จอันไม่สุจริต แม้จะจดทะเบียนจำนองผู้รับจำนองก็ไม่ได้รับผลเพราะจำเลยที่ ๑,๒ ไม่ใช่เจ้าของที่พิพาทกับตัดฟ้องว่าโจทก์อ้างว่าเป็นภรรยาและบุตรผู้รับจำนอง โจทก์ต้องบอกกล่าวบังคับจำนองแต่จำเลยที่ ๓ ตาม ป.พ.พ.ม.๗๓๕ และโจทก์ไม่ใช่ภรรยาและบุตรของนายน้อมอันชอบด้วย ก.ม.
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์ที่ ๑ และให้จำเลยที่ ๑,๒ ใช้เงินเงินให้โจทก์ที่ ๒ ถึงที่ ๕ รวมทั้งต้นและดอกเบี้ยเป็นเงิน ๗๓๗๖.๖๐ บาท และดอกเบี้ยชั่งละ ๑ บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะใช้เงินเสร็จ และให้ยกฟ้องโจทก์ที่เกี่ยวกับจำเลยที่ ๓ และที่ขอให้เอาที่ดินออกขายทอดตลาดเสีย
โจทก์แต่ฝ่ายเดียวอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ฟังว่าผู้รับจำนองโดยชอบย่อมได้บุริมสิทธิติดอยู่กับที่ดินที่รับจำนองนั้น และเมื่อผู้รับจำนอง(โจทก์) บอกกล่าวการรับจำนองให้จำเลยที่ ๑,๒ ทราบแล้ว จำเลยที่ ๑,๒ ไม่ปฎิบัติตามคำบอกกล่าว โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องขอให้ศาลสั่งยึดทรัพย์จำนองขายทอดตลาดได้ตาม ม.+ แห่ง ป.พ.พ. ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ว่าถ้าจำเลยที่ ๑,๒ ไม่ชำระหนี้ให้เอาที่ดินรายพิพาทออกขายทอดตลาด เอาเงินชำระหนี้จำนองแก่โจทก์ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ ๓ เท่านั้นฎีกา
ศาลฎีกาฟังแถลงการณ์และตรวจสำนวนปรึกษาคดีนี้แล้ว จำเลยที่ ๓ เป็นใจความรวม ๒ ข้อคือ (๑) โจทก์จะมีอำนาจฟ้องหรือไม่ (๒) จะฟ้องขอบังคับจำนองโดยให้ขายทอดตลาดที่ดินจำนองเอาเงินชำระหนี้ของโจทก์ได้หรือไม่
สำหรับฎีกาข้อ (๑) คงมีข้อพิจารณาเฉพาะโจทก์ที่ ๒ ถึงที่ ๕ ว่าจะมีอำนาจฟ้องหรือไม่ ข้อนี้จำเลยที่ ๓ ก็รับอยู่แล้วว่าโจทก์ที่ ๒ ถึงที่ ๕ เป็นบุตรนายน้อมผู้รับจำนองจริง และได้ความว่านายน้อมได้รับรองและแสดงออกว่าโจทก์ที่ ๒ ถึงที่ ๕ เป็นบุตรของตน โจทก์ที่ ๒ ถึงที่ ๕ จึงเป็นบุตรมีสิทธิรับมรดกของนายน้อมและมีสิทธิฟ้องคดีนี้ได้ ทั้งนี้โดยไม่จำเป็นต้องขอคำสั่งศาลเสียก่อน
สำหรับฎีกาข้อ (๒) ข้อเท็จจริงคงได้ตามที่ศาลอุทธรณ์กล่าวว่า กล่าวคือนายน้อมได้รับจำนองที่ดินพิพาทนี้โดยทางทะเบียนโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน ส่วนจำเลยที่ ๓ ได้กรรมสิทธิที่ดินพิพาททางครอบครอง แต่มิได้จดทะเบียน สิทธิอันยังมิได้จดทะเบียนเช่นนี้จะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอก (ฝ่ายโจทก์ผู้รับจำนอง) ผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและโอนสุจริตและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตย่อมไม่ได้ ดังที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ.ม.๑๐๙๙ แม้ถึงหากจะฟังว่าจำเลยที่ ๑,๒ เอาความเท็จไปแจ้งต่อเจ้าพนักงานว่าโฉนดหายจนได้รับใบแทนโฉนดมาแล้ว เอาไปจำนองก็ดี เมื่อผู้รับจำนองมิได้รู้เห็นในเรื่องนี้ด้วยหากแต่รับจำนองได้โดยสุจริตเช่นนี้ ก็ไม่ทำให้สิทธิของผู้รับจำนองดังกล่าวเปลี่ยนแปลงไป กล่าวคือฝ่ายผู้รับจำนองยังมีสิทธิฟ้องบังคับจำนองโดยยึดที่ดินจำนองขายทอดตลาดเอาเงินชำระหนี้ได้ ดังที่ศาลอุธรณ์วินิจฉัยชอบแล้ว ฎีกาจำเลยที่ ๓ ฟังไม่ขึ้น จึงพิพากษายืน

Share