คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1543/2500

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ซื้อที่พิพาทจากนายทองสุขและได้จัดการโอนโฉนดจดทะเบียนการโอนกันถูกต้อง แต่ที่พิพาทนี้จำเลยปกครองมาเกิน 10 ปีโดยเจตนาเป็นเจ้าของ เวลาซื้อนายทองสุขบอกโจทก์ว่าจำเลยเช่าแต่โจทก์ไม่ถามจำเลย เมื่อฟังว่าจำเลยครอบครองที่พิพาทมาเกิน 10 ปีโดยเจตนาเป็นเจ้าของ จำเลยก็ย่อมได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครอง แต่จะยกขึ้นต่อสู้บุคคลภายนอกผู้รับโอนโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนได้ก็ต่อเมื่อได้ไปจดทะเบียนกรรมสิทธิ์ไว้ต่อเจ้าพนักงาน
แต่ในคดีนี้ศาลฟังว่าโจทก์ได้รับโอนที่พิพาทจากนายทองสุขไปโดยเสียค่าตอบแทน แต่ไม่สุจริตจึงใช้ยันจำเลยไม่ได้
ศาลอาจฟังพยานทั้งสองฝ่ายรวมกันไป แล้วชี้ว่าได้กระทำโดยสุจริตหรือทำโดยไม่สุจริต ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นเจ้าของที่โฉนด 5213 เนื้อที่ 16 ไร่เศษตำบลขนมจีนนอก อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยซื้อจากนายทองสุขเมื่อ พ.ศ.2490 เป็นราคา 3,000 บาท ได้จดทะเบียนการซื้อโดยชอบด้วยกฎหมาย จำเลยเช่าที่แปลงนี้ทางตะวันออก 10 ไร่จากนายทองสุขแล้วทำนาและปลูกเรือน แต่การเช่าไม่ได้ทำหนังสือ ต่อมาโจทก์ได้แจ้งให้จำเลยออกจากที่ แต่กลับเถียงต่อสู้กรรมสิทธิ์ จึงฟ้องขอให้ศาลบังคับ

จำเลยต่อสู้ว่าที่พิพาทเดิมเป็นที่รกและเป็นของนางเหมือนป้านางทองจำเลย เมื่อ 50 ปีนางเหมือนยกที่ให้นางทอง ๆ ได้เข้าปลูกบ้านก่อสร้างจนที่พิพาทเตียน นางทองครอบครองมาประมาณ 45 ปี โจทก์รู้ถึงการปกครองของนางทอง กลับรับโอนที่ไปจากนายทองสุข เป็นการไม่สุจริต และนางทองฟ้องแย้งขอให้แสดงว่าที่พิพาทเป็นของตน ห้ามมิให้โจทก์และบริวารเข้าเกี่ยวข้อง

โจทก์แก้ฟ้องแย้งว่าที่พิพาทไม่เคยเป็นของนางเหมือน ๆ ไม่เคยเข้าปลูกบ้าน จำเลยเช่าที่พิพาทจากนายทองสุข

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยแพ้คดี

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้จำเลยชนะคดี

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า นางทองครอบครองที่พิพาทนี้ในฐานะเป็นเจ้าของมาก่อนที่นายทองสุขโอนขายให้โจทก์ เกิน 10 ปีแล้วนางทองจำเลยย่อมได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครอง แต่นางทองไม่ได้จดทะเบียนกรรมสิทธิ์ของตน จะใช้ยันกับโจทก์ไม่ได้ เว้นแต่จะได้ความว่าโจทก์รับโอนไว้โดยไม่สุจริต ซึ่งในเรื่องนี้ศาลฎีกาเห็นตามคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ที่ว่า ตัวโจทก์ได้เบิกความว่าโจทก์ได้เห็นจำเลยครอบครองที่พิพาทรวมทั้งบ้าน 3 หลังมา 5 ปีแล้ว นายทองสุขบอกโจทก์เพียงว่านางทองจำเลยเช่า ไม่ได้บอกว่าเช่านานเท่าใดครบกำหนดสัญญาเมื่อใด ค่าเช่าเท่าใด ถ้าจำเลยไม่ออกจะทำอย่างไรทั้งที่พิพาทนายทองสุขก็ไม่รู้จัก ทั้งโจทก์ไม่เคยถามจำเลยก่อนที่จะรับซื้อว่าจำเลยได้เช่าที่พิพาทจริงหรือไม่ ฯลฯ เหล่านี้เป็นการเพียงพอที่จะฟังว่าโจทก์รับโอนโดยไม่สุจริต จึงพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share