คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 20395/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความผิดตาม พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 เป็นคดีอาญาความผิดต่อแผ่นดิน มิใช่ความผิดต่อส่วนตัวที่ห้ามพนักงานสอบสวนทำการสอบสวน เว้นแต่จะมีคำร้องทุกข์ตามระเบียบตาม ป.วิ.อ. มาตรา 121 วรรคสอง พนักงานสอบสวนจึงมีอำนาจสอบสวนโดยมิพักต้องมีผู้เสียหายตามกฎหมายมาร้องทุกข์กล่าวโทษ การที่ผู้เสียหายจะเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยหรือไม่ จึงมิใช่ข้อสาระสำคัญของการสอบสวน ดังนี้ แม้ผู้เสียหายจะยินยอมให้ดอกเบี้ยแก่จำเลยในอัตราที่ขัดต่อกฎหมาย พนักงานสอบสวนก็มีอำนาจสอบสวนและพนักงานอัยการย่อมมีอำนาจฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 91, 177, 180, 264, 265, 268, 341, 343 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 72 พระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 มาตรา 3 และริบสมุดบันทึกเกี่ยวกับการปล่อยเงินกู้จำนวน 36 เล่ม ของกลาง กับให้จำเลยคืนเงิน 16,000 บาท 2,000 บาท 70,000 บาท 60,000 บาท และ 50,000 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 4 และที่ 8 ตามลำดับ
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่เมื่อสืบพยานโจทก์ไปบ้างแล้ว จำเลยให้การใหม่ว่ารับสารภาพข้อหามีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ส่วนข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177 วรรคแรก, 180 วรรคแรก, 265, 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 265 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 72 วรรคสองและวรรคสาม พระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 มาตรา 3 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานเบิกความเท็จ จำคุก 1 ปี ฐานนำสืบหรือแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดี จำคุก 6 เดือน ฐานปลอมและใช้เอกสารสิทธิปลอม ให้ลงโทษฐานใช้เอกสารสิทธิปลอม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 265 แต่กระทงเดียว ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคสอง จำคุก 2 ปี ฐานเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา จำคุกกระทงละ 6 เดือน รวม 2 กระทง ฐานมีอาวุธปืนของผู้อื่นและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 72 วรรคสอง ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ปรับ 10,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพในข้อหามีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงปรับ 5,000 บาท รวมจำคุก 3 ปี 18 เดือน และปรับ 5,000 บาท ข้อหาและคำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า สำหรับความผิดฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 72 วรรคสาม นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องในความผิดตามพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 หรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า ผู้เสียหายยินยอมให้ดอกเบี้ยแก่จำเลยในอัตราที่ขัดต่อกฎหมาย จึงเป็นผู้ยินยอมให้มีการกระทำความผิดหรือมีส่วนให้เกิดการกระทำความผิด ไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย พนักงานสอบสวนไม่มีอำนาจสอบสวน และพนักงานอัยการไม่มีอำนาจฟ้องนั้น เห็นว่า ความผิดตามพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 เป็นคดีอาญาความผิดต่อแผ่นดิน มิใช่คดีความผิดต่อส่วนตัวที่ห้ามพนักงานสอบสวนทำการสอบสวนเว้นแต่จะมีคำร้องทุกข์ตามระเบียบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 121 วรรคสอง พนักงานสอบสวนจึงมีอำนาจสอบสวนโดยมิพักต้องมีผู้เสียหายตามกฎหมายมาร้องทุกข์กล่าวโทษ การที่ผู้เสียหายจะเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยหรือไม่จึงมิใช่ข้อสาระสำคัญของการสอบสวน ดังนี้ แม้ผู้เสียหายจะยินยอมให้ดอกเบี้ยแก่จำเลยในอัตราที่ขัดต่อกฎหมาย พนักงานสอบสวนก็มีอำนาจสอบสวนและพนักงานอัยการย่อมมีอำนาจฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 120 ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการสุดท้ายว่า การกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177 วรรคแรก มาตรา 180 วรรคแรก มาตรา 265 และมาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 265 เป็นการกระทำกรรมเดียวหรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า การกระทำของจำเลยมีเจตนาเพื่อนำเอกสารมาฟ้องร้องต่อศาลแขวงลพบุรีให้นางรัตนากับพวกร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินกู้ เป็นเจตนาเดียวกันต่อเนื่องกัน ไม่ได้เจตนาก่อให้เกิดความเสียหายอย่างอื่นอีกนั้น เห็นว่า ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาจะต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ได้วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 222 ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า การที่จำเลยปลอมและอ้างใช้สัญญากู้ยืมเงินปลอมดังกล่าวแนบท้ายคำฟ้องที่ยื่นฟ้องนางรัตนาในฐานะผิดสัญญากู้ยืมเงินต่อศาล แล้วต่อมาเบิกความเท็จพร้อมกับนำสืบพยานหลักฐานสัญญากู้ยืมเงินอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดีแพ่งดังกล่าว แม้จะเป็นความผิดต่อบทบัญญัติของกฎหมายหลายบทต่างกัน แต่ก็เป็นการกระทำที่เกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงโดยมีเจตนามุ่งประสงค์ต่อผลอย่างเดียวกันคือ เพื่อให้ศาลพิพากษาให้นางรัตนารับผิดชำระหนี้ตามจำนวนเงินในสัญญากู้ยืมเงินปลอม การกระทำของจำเลยจึงเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษในความผิดฐานใช้เอกสารสิทธิปลอมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 265 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 แต่เพียงบทเดียว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาลงโทษจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมนั้นไม่ชอบ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิ ฐานใช้เอกสารสิทธิปลอมฐานนำสืบหรือแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดี และฐานเบิกความเท็จ เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานใช้เอกสารสิทธิปลอมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 265 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 แต่เพียงกระทงเดียว จำคุก 2 ปี รวมโทษทุกกระทงแล้วให้จำคุกจำเลย 2 ปี 12 เดือน และปรับ 5,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1

Share