แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยทั้งสองกับพวกเข้าล้อมผู้เสียหาย แล้วจำเลยที่ 1 บอกว่า อั๊วเป็นตำรวจ พร้อมกับเอาบัตรประจำตัวแลบกระเป๋มเสื้อ ขอ คน ผู้เสียหายเชื่อจึงยอมให้ค้น จำเลยกับพวกค้นแล้วไม่ได้ของผิดกฎหมายจึงเอามีดออกขู่เอานาฬิกาข้อมือของผู้เสียหายไป ศาลพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสองฐานปล้นทรัพย์ไปแล้ว โจทก์จึงฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ดังนี้ การแสดงตัวเป็นเจ้าพนักงานและกระทำการเป็นเจ้าพนักงานตำรวจโดยมิได้เป็นเจ้าพนักงานที่มีอำนาจกระทำการนั้น จำเลยที่ 1 ได้กระทำไปครบองค์ความผิดเป็นการเสร็จเด็ดขาดอยู่ในตัวไปตอนหนึ่งแล้ว เมื่อไม่ได้ของผิดกฎหมาย จำเลยที่ 1 กับพวกจึงเอามีดออกขู่ทำการปล้นทรัพย์ เป็นการเริ่มกรรมใหม่อีกกรรมหนึ่ง ถือว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 สิทธินำคดีมาฟ้องยังไม่ระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 39(4)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองสมคบกันแสดงต่อนายเล้งนางติ๊กง้วนว่าจำเลยทั้งสองเป็นเจ้าพนักงานตำรวจขอตรวจค้นตัวบุคคลทั้งสอง และได้กระทำการเป็นเจ้าพนักงานตรวจค้นตัวบุคคลทั้งสองโดยจำเลยมิได้เป็นเจ้าพนักงาน ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๔๕, ๘๓
จำเลยที่ ๑ รับสารภาพ จำเลยที่ ๒ ปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษานายอุทัยจำเลยที่ ๑ ผิดประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๔๕ จำคุก ๖ เดือน ลดรับสารภาพกึ่งหนึ่งคงจำคุก ๓ เดือน ยกฟ้องเฉพาะจำเลยที่ ๒
จำเลยที่ ๑ อุทธรณ์ว่า ได้กระทำผิดคราวเดียวกับความผิดเรื่องปล้น ศาลทหารกรุงเทพฯ(ศาลอาญา) พิพากษาจำคุกแล้วสิทธินำคดีนี้มาฟ้องระงับแล้ว
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า สิทธินำคดีมาฟ้องระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา ๓๙(๔) แล้ว พิพากษาแก้ยกฟ้องจำเลยที่ ๑ ด้วย
ผู้ว่าคดี ฯ ฎีกา
ศาลฎีกาปรึกษาแล้ว ข้อเท็จจริงตามที่โจทก์นำสืบได้ความว่า วันเกิดเหตุจำเลยทั้งสองกับพวกเข้าล้อมนายเล้งกับพวกแล้วจำเลยที่ ๑ บอกว่า อั๊วเป็นตำรวจพร้อมกับเอาบัตรประจำตัวแลบกระเป๋าเสื้อขอค้นนายเล้งกับพวกเชื่อจึงยอมให้ค้น จำเลยที่ ๑ กับพวกค้นแล้วไม่ได้ของผิดกฎหมาย จำเลยทั้งสองกับพวกจึงเอามีดออกขู่เอานาฬิกาข้อมือของนายเล้งไป ศาลทหารกรุงเทพฯ ลงโทษจำคุกจำเลยทั้ง ๒ ฐานปล้นแล้ว วินิจฉัยว่า การแสดงตัวเป็นเจ้าพนักงานตำรวจและกระทำการเป็นเจ้าพนักงานตำรวจโดยมิได้เป็นเจ้าพนักงานตำรวจที่มีอำนาจกระทำการนั้น นายอุทัยจำเลยที่ ๑ ได้กระทำไปครบองค์ความผิดอันเป็นการเสร็จเด็ดขายอยู่ในตัวไปตอนหนึ่งแล้ว เมื่อไม่ได้ของผิดกฎหมาย จำเลยที่ ๑ กับพวกจึงเอามีดออกขู่ทำการปล้นทรัพย์ เป็นการเริ่มกรรมใหม่ขึ้นอีกกรรมหนึ่ง ถ้าได้ของผิดกฎหมาย นายอุทัยจำเลยที่ ๑ กับพวกจะทำการปล้นต่อไปหรือไม่ หรือจะจัดการกับของผิดกฎหมายที่ค้นได้อย่างไร ยังเป็นสิ่งที่น่าพิจารณาอยู่ ดังนี้ ถือได้ว่าการกระทำของนายอุทัยจำเลยที่ ๑ เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๙๑ สิทธินำคดีมาฟ้องยังไม่ระงับไป ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา ๓๙(๔) พิพากษาแก้ ให้บังคับคดีตามศาลชั้นต้น