คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2039/2522

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในระหว่างสมรสของโจทก์จำเลย จำเลยได้ที่ดินโฉนดที่ 4084และ 4198 โดย ผ. ยกให้โดยเสน่หาระบุว่าให้เป็นสินส่วนตัวกับได้ที่ดินโฉนดที่ 5191 โดย ผ. ทำพินัยกรรมยกให้และระบุให้เป็นสินส่วนตัวเช่นเดียวกัน ต่อมา ล. อ้างว่าที่ดินดังกล่าวไม่ใช่ของ ผ. แต่เป็นของภรรยาซึ่งเป็นบุตรของ น. และฟ้องจำเลยเป็นคดีแพ่งกับแจ้งความกล่าวหาจำเลยทางอาญาหลายคดี ในที่สุด ล. กับจำเลยตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีหนึ่งซึ่งศาลพิพากษาตามยอมมีใจความสำคัญว่า ให้จำเลยได้ที่ดินโฉนดที่ 1176 และให้ ล. ได้ที่ดินโฉนดที่ 5191 ส่วนที่ดินโฉนดที่ 4198 และ 4084 นั้น จำเลยตกลงโอนให้ ล. โดย ล. ต้องจ่ายเงินเป็นค่าตอบแทนให้ 3,100,000 บาท ดังนี้ต้องถือว่าที่ดินโฉนดที่ 4084 และ 4198 กับโฉนดที่ 5191 เดิมเป็นที่ดินที่จำเลยได้รับมาเป็นสินส่วนตัว แม้จำเลยจะทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับ ล. ดังกล่าว ก็เป็นการระงับข้อพิพาทระหว่างจำเลยกับ ล. ในคดีนั้นซึ่งมีประเด็นเพียงว่าที่พิพาทเป็นของ ผ. และ ย. มีอำนาจยกให้จำเลยหรือไม่เท่านั้นไม่มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงลักษณะของทรัพย์ยังต้องถือว่าที่ดินทั้งสามแปลงดังกล่าวเป็นสินส่วนตัวของจำเลยอยู่นั่นเอง และเมื่อจำเลยต้องโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินอันเป็นสินส่วนตัวทั้งสามแปลงนั้นให้แก่ ล. ตามสัญญาประนีประนอมยอมความเป็นเหตุให้จำเลยได้มาซึ่งที่ดินโฉนดที่ 1176 กับมีสิทธิได้เงินค่าตอบแทน 3,100,000 บาท ก็ต้องถือว่าที่ดินและเงินค่าตอบแทนดังกล่าวเข้ามาแทนที่ที่ดินทั้งสามแปลง อันเป็นสินส่วนตัวของจำเลยซึ่งมีผลเช่นเดียวกับการขายหรือแลกเปลี่ยนตามนัยแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1465(1) ดังนั้น ที่ดินโฉนดที่ 1176 กับเงินค่าตอบแทน 3,100,000 บาท ซึ่งเป็นสินส่วนตัวของจำเลย หาใช่สินสมรสระหว่างโจทก์จำเลยไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์กับจำเลยจดทะเบียนสมรสกัน จำเลยประพฤติชั่วและหมิ่นประมาทโจทก์อย่างร้ายแรง โจทก์จึงประสงค์จะหย่าขาด และระหว่างสมรสมีสินสมรสคือรถยนต์ 1 คัน ที่ดินโฉนดที่ 1176 และเงินค่าตอบแทนที่จำเลยจะได้รับจากการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดที่ 4198, 4084 ให้แก่นายลพเป็นเงิน 3,100,000 บาท ตามสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 3743/2518 ของศาลแพ่ง ขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยหย่าขาดจากการเป็นสามีภรรยากับโจทก์ และแบ่งสินสมรสดังกล่าวให้โจทก์

จำเลยให้การว่า ที่ดินโฉนดที่ 1176 และเงินค่าตอบแทน 3,100,000บาท เป็นทรัพย์สินส่วนตัวของจำเลย โจทก์ไม่มีสิทธิขอแบ่ง ส่วนรถยนต์ราคา5,000 บาท ซึ่งจำเลยพร้อมจะจ่ายให้โจทก์และยินยอมหย่าขาดจากการสมรสจึงขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์จำเลยหย่าขาดจากการเป็นสามีภรรยาการแบ่งสินสมรสสำหรับรถยนต์ให้จำเลยจ่ายเงินให้โจทก์ 30,000 บาท ที่ดินโฉนดที่ 1176 ให้จำเลยจดทะเบียนให้โจทก์มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ร่วมกันคนละครึ่ง หรือชดใช้เงินให้โจทก์ 75,000 บาท ส่วนเงินค่าตอบแทนในการโอนที่ดินโฉนดที่ 4198, 4084 นั้น ให้จำเลยจ่ายให้โจทก์ 1,550,000 บาท เมื่อจำเลยได้รับเงินค่าตอบแทนดังกล่าว

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงได้ความว่าระหว่างสมรสของโจทก์จำเลยคุณหญิงผกาฉัตรได้ยกที่ดินโฉนดที่ 4084 และ 4198 ให้จำเลยโดยเสน่หาโดยระบุให้เป็นสินส่วนตัว (เอกสารหมาย ล.19) กับทำพินัยกรรมให้ที่ดินโฉนดที่ 5191 ตกเป็นของจำเลยโดยระบุให้เป็นสินส่วนตัว (เอกสารหมาย ล.2)ต่อมานายลพอ้างว่าที่ดินดังกล่าวเป็นของนางดาพินีภริยานายลพ ไม่ใช่ของคุณหญิงผกาฉัตรและนายลพฟ้องจำเลยเป็นคดีแพ่งและแจ้งความกล่าวหาจำเลยทางอาญาหลายคดีในที่สุดนายลพกับจำเลยตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความ (เอกสารหมาย ล.22) ซึ่งศาลได้พิพากษาตามยอมปรากฏตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 3743/2518 ของศาลแพ่ง สัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวมีใจความสำคัญดังนี้

ข้อ 1. โจทก์จำเลย (คดีหมายเลขแดงที่ 3743/2518 ของศาลแพ่ง)ตกลงกันว่าให้ผู้จัดการมรดกของคุณหญิงผกาฉัตรตามที่ศาลจะมีคำสั่งตั้งจัดการโอนที่ดินโฉนดที่ 1176 ให้นายสมโภชน์จำเลย ฯลฯ

ข้อ 2. ส่วนที่ดินโฉนดที่ 5191 ให้ผู้จัดการมรดกตามข้อ 1. จัดการโอนให้เป็นกรรมสิทธิ์ของนายลพ โจทก์แต่ผู้เดียว ฯลฯ

ข้อ 3. ที่ดินโฉนดที่ 4198 และ 4084 ซึ่งมีชื่อนายสมโภชน์จำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ จำเลยตกลงโอนให้เป็นกรรมสิทธิ์ของนายลพโจทก์แต่ผู้เดียวโดยนายลพโจทก์จะต้องจ่ายเงินเป็นค่าตอบแทนให้นายสมโภชน์จำเลยเป็นเงิน 3,100,000 บาท ภายในเวลาไม่เกิน 1 ปี 6 เดือน หากครบกำหนดนายลพโจทก์ไม่สามารถนำเงินมาชำระให้จำเลยได้ โจทก์และจำเลยตกลงให้เจ้าพนักงานบังคับคดีนำที่ดินดังกล่าวออกขายทอดตลาด แล้วชำระเงิน 3,100,000 บาท ให้แก่นายสมโภชน์ ส่วนที่เหลือให้ตกเป็นสิทธิแก่นายลพโจทก์ ฯลฯ

คดีมีปัญหาในชั้นฎีกาว่า ที่ดินโฉนดที่ 1176 กับเงินค่าตอบแทนจำนวน3,100,000 บาท จากการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดที่ 4198, 4084 ซึ่งจำเลยได้รับตามสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีหมายเลขแดงที่ 3743/2518ของศาลแพ่ง เป็นสินสมรสหรือสินส่วนตัวของจำเลย

ศาลฎีกาเห็นว่า ในเบื้องต้นที่ดินโฉนดที่ 5191 ซึ่งผู้จัดการมรดกของคุณหญิงผกาฉัตรจะต้องจัดการโอนให้เป็นกรรมสิทธิ์ของนายลพตามสัญญาประนีประนอมยอมความเอกสารหมาย ล.22 นั้น เป็นสินส่วนตัวของจำเลยซึ่งจำเลยได้รับมาโดยพินัยกรรมที่ระบุให้เป็นสินส่วนตัว (เอกสารหมาย ล.2)ส่วนที่ดินโฉนดที่ 4198, 4084 ซึ่งจำเลยจะต้องโอนให้เป็นกรรมสิทธิ์ของนายลพ เพื่อจะได้ค่าตอบแทน 3,100,000 บาท ตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าว ก็เป็นสินส่วนตัวของจำเลยเช่นเดียวกัน โดยจำเลยได้รับยกให้มาเป็นสินส่วนตัว (เอกสารหมาย ล.19) แม้ต่อมาจำเลยจะถูกนายลพฟ้องคดีโดยกล่าวอ้างว่าที่ดินดังกล่าวเป็นของนางดาพินีภริยานายลพ ซึ่งคุณหญิงผกาฉัตรไม่มีอำนาจยกให้จำเลยและในที่สุดทำสัญญาประนีประนอมยอมความ เอกสารหมาย ล.22 และศาลพิพากษาตามยอมในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 3743/2518 ของศาลแพ่งก็ตาม สัญญาประนีประนอมดังกล่าวก็เป็นการระงับข้อพิพาทระหว่างจำเลยกับนายลพในคดีนั้น ซึ่งมีประเด็นเพียงว่า ที่พิพาทเป็นของคุณหญิงผกาฉัตรมีอำนาจยกให้จำเลยหรือไม่เท่านั้น ไม่มีผลเปลี่ยนแปลงลักษณะของทรัพย์ยังต้องถือว่าที่ดินทั้งสามแปลงดังกล่าวเป็นสินส่วนตัวของจำเลยอยู่นั่นเอง และเมื่อจำเลยต้องโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินอันเป็นสินส่วนตัวทั้งสามแปลงนั้นให้แก่นายลพตามสัญญาประนีประนอมยอมความเอกสารหมาย ล.22 เพื่อระงับข้อพิพาทระหว่างจำเลยกับนายลพ โดยต่างฝ่ายต่างยอมผันผ่อนให้แก่กันเป็นเหตุให้จำเลยได้มาซึ่งที่ดินโฉนดที่ 1176 กับมีสิทธิได้เงินค่าตอบแทน 3,100,000 บาท ก็ต้องถือว่าที่ดินโฉนดที่ 1176 และเงินค่าตอบแทนดังกล่าวเข้ามาแทนที่ที่ดินทั้งสามแปลงอันเป็นสินส่วนตัวของจำเลย ซึ่งมีผลเช่นเดียวกับการขายหรือแลกเปลี่ยนตามนัยแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1465(1)เดิม ดังนั้น ที่ดินโฉนดที่ 1176 กับเงินค่าตอบแทน 3,100,000 บาท จึงเป็นสินส่วนตัวของจำเลย หาใช้สินสมรสระหว่างโจทก์จำเลยดังที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาไม่

พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ที่ขอแบ่งทรัพย์สินตามรายการที่ (2) ที่ดินโฉนดที่ 1176 ตำบลหนองปรือ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี และรายการที่ (3) เงินค่าตอบแทนที่จำเลยจะได้รับจากการโอนโฉนดที่ดินโฉนดที่ 4198, 4084 แขวง(ตำบล) คลองต้น (บางกะปิฝั่งใต้) เขต(อำเภอ) พระโขนง (บางกะปิ) ให้กับนายลพเป็นเงิน 3,100,000 บาทนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share