คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2179/2522

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ลักลอบเอาที่ดินของโจทก์ไปออก น.ส. 3 แล้วโอนขายให้จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิในที่ดิน ขอให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายเมื่อคดีปรากฏว่า จำเลยที่ 1 เป็นมารดาของโจทก์ ฟ้องโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 จึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1534(เดิม) โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ส่วนฟ้องของโจทก์ที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 ผู้รับโอนก็ยอมตกไปด้วย เพราะการที่จะวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 ผู้รับโอนได้สิทธิในที่พิพาทหรือไม่ย่อมขึ้นอยู่กับสิทธิของจำเลยที่ 1ผู้โอนว่าจำเลยที่ 1 ผู้โอนมีสิทธิในทรัพย์พิพาทเพียงใดหรือไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นภริยาของบิดาโจทก์ได้ลักลอบเอาที่ดินพิพาทซึ่งเป็นมรดกของโจทก์ไปดำเนินการขอออก น.ส.3แล้วโอนขายให้จำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 สมรู้ร่วมคิดกันเพื่อโกงโจทก์ ขอให้ศาลพิพากษาว่าที่พิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ และขอให้เพิกถอนนิติกรรมซื้อขายที่พิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2

จำเลยที่ 1 ให้การว่า โจทก์เป็นบุตรของจำเลยที่ 1 เกิดจากนายพอยซึ่งถึงแก่กรรมไปแล้ว โจทก์ตั้งรูปคดีเพื่อหลีกเลี่ยงคดีอุทลุม โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ที่พิพาทเป็นของจำเลยที่ 1 ได้ขายให้จำเลยที่ 2โดยสุจริต

จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ได้ซื้อที่พิพาทจากจำเลยที่ 1 โดยสุจริต

ศาลชั้นต้นฟังว่า โจทก์เป็นบุตรของจำเลยที่ 1 โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องบุพการีของตนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1534 ที่พิพาทเป็นของจำเลยที่ 1 โจทก์เป็นบุตรไม่ชอบด้วยกฎหมายของนายพอย ไม่มีสิทธิได้รับมรดกส่วนของนายพอย จำเลยทั้งสองทำการซื้อขายโดยสุจริต พิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์คงฟังว่าโจทก์เป็นบุตรของจำเลยที่ 1 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องบุพการีของตน และที่พิพาทเป็นทรัพย์สินที่นายพอยจับจอง แล้วได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ลับสร้างภายหลังที่นายพอยได้จำเลยที่ 1 เป็นภริยาแล้ว เมื่อจำเลยที่ 1 มิได้จดทะเบียนสมรสกับนายพอย โจทก์จึงไม่เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของนายพอย ไม่มีสิทธิรับมรดกส่วนของนายพอย ไม่จำต้องวินิจฉัยว่า การโอนระหว่างจำเลยทั้งสองกระทำโดยสุจริตหรือไม่ พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาฟังว่า โจทก์เป็นบุตรของจำเลยที่ 1 แล้ววินิจฉัยว่ากรณีต้องด้วยมาตรา 1534 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ใช้อยู่ในขณะโจทก์ยื่นฟ้อง ซึ่งบัญญัติว่า “ผู้ใดจะฟ้องบุพการีของตนเป็นคดีแพ่งหรืออาญาไม่ได้ ฯลฯ” โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ศาลจำต้องยกฟ้องโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ดังนั้น ข้อหาตามฟ้องที่ว่าจำเลยที่ 1 ลักลอบเอาที่ดินของโจทก์ไปออก น.ส.3 แล้ว โอนขายให้จำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 1ไม่มีสิทธิในที่ดิน จึงเป็นอันตกไปรับวินิจฉัยให้ไม่ได้ ส่วนฟ้องของโจทก์ที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 ผู้รับโอนก็ย่อมตกไปด้วยเพราะการที่จะวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 2 ผู้รับโอนได้สิทธิในที่พิพาทหรือไม่ย่อมขึ้นอยู่กับสิทธิของจำเลยที่ 1 ผู้โอนว่าจำเลยที่ 1 ผู้โอนมีสิทธิในทรัพย์พิพาทเพียงใดหรือไม่ ดังนั้น ที่โจทก์ฎีกาว่าที่พิพาทไม่ใช่ของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ทำการซื้อขายที่พิพาทกันโดยไม่สุจริตจึงไม่จำต้องวินิจฉัย

พิพากษายืน

Share