คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1319/2522

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในกรณีที่ผู้ต้องหาเป็นนิติบุคคล ซึ่งไม่มีการจับกุมตัวผู้ต้องหา ไม่ต้องปฏิบัติตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง ตามที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2517 มาตรา 5 และไม่มีกรณีจะต้องขอรับอนุญาตจากอธิบดีกรมอัยการ ในการฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนดเวลาตามมาตรา 7 ดังที่มาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวกำหนดไว้ด้วย
กรณีที่นิติบุคคลเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลยจะไม่มีการจับกุม เพราะนิติบุคคลไม่อยู่ในสภาพที่จะให้จับกุมได้ คงให้ใช้วิธีออกหมายเรียกผู้จัดการ หรือผู้แทนของนิติบุคคลมาเพื่อการสอบสวนหรือพิจารณา แล้วแต่กรณี

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคล จำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้จัดการขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติควบคุมคุณภาพอาหาร พ.ศ. 2507 มาตรา 4, 5, 12, 29 ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 49 ลงวันที่ 18 มกราคม 2515 ข้อ 1 ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2515 เรื่องกำหนดอาหารกระป๋องเป็นอาหารที่ควบคุมและกำหนดคุณภาพหรือมาตรฐานและสลากสำหรับอาหารกระป๋อง และสั่งคืนของกลางให้กับเจ้าของด้วย

ศาลชั้นต้นสั่งประทับฟ้องเฉพาะจำเลยที่ 2 ส่วนจำเลยที่ 1 ไม่ปรากฏว่าอธิบดีกรมอัยการได้มีคำสั่งอนุญาตให้ฟ้องด้วย จึงไม่ประทับฟ้อง

จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพตามฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกและปรับจำเลยที่ 2 แต่รอการลงโทษไว้ คืนของกลางให้เจ้าของ

โจทก์อุทธรณ์ขอให้สั่งประทับฟ้องเกี่ยวกับจำเลยที่ 1

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ถ้ามีการจับตัวผู้ต้องหาในคดีอาญาที่อยู่ในอำนาจศาลแขวงจะพิจารณาพิพากษาคดีได้ ก็ต้องดำเนินการตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 7 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2517 มาตรา 5 แต่จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคล ซึ่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 7 กำหนดให้ออกหมายเรียกผู้จัดการหรือผู้แทนของนิติบุคคลนั้น ๆ ไปยังพนักงานสอบสวนหรือศาล แล้วแต่กรณี ถ้าผู้จัดการหรือผู้แทนของนิติบุคคลนั้นไม่ปฏิบัติตามหมายเรียก ให้ออกหมายจับผู้จัดการหรือผู้แทนของนิติบุคคลมาได้ แต่ก็จะขังหรือปล่อยชั่วคราวผู้จัดการหรือผู้แทนของนิติบุคคลนั้นไม่ได้ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าในกรณีที่นิติบุคคลเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลย จะไม่มีการจับกุม เพราะนิติบุคคลไม่อยู่ในสภาพที่จะให้จับกุมได้คงให้ใช้วิธีออกหมายเรียกผู้จัดการหรือผู้แทนของนิติบุคคลมาเพื่อการสอบสวนหรือพิจารณาแล้วแต่กรณี ฉะนั้นในกรณีที่ผู้ต้องหาเป็นนิติบุคคลซึ่งไม่มีการจับกุมตัวผู้ต้องหา จึงไม่ต้องปฏิบัติตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวง ฯลฯ และไม่มีกรณีที่จะต้องขอรับอนุญาตจากอธิบดีกรมอัยการในการฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนดเวลาตามมาตรา 7 ดังที่มาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวกำหนดไว้ด้วย โจทก์จึงฟ้องจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคลต่อศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลแขวงได้ โดยไม่ต้องได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมอัยการ

พิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ และยกคำสั่งศาลชั้นต้นในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ให้ศาลชั้นต้นประทับฟ้องของโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ไว้ พิจารณาพิพากษาต่อไป

Share