คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2038/2523

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 22(1) บัญญัติว่า “เมื่อจำเลยมีที่อยู่ ฯลฯ ในท้องที่หนึ่งนอกเขตศาลดังกล่าวแล้ว จะชำระที่ศาลซึ่งท้องที่นั้นอยู่เขตอำนาจก็ได้” นั้น มิใช่เป็นบทบังคับให้ศาลซึ่ง ท้องที่ที่จำเลยมีที่อยู่ ฯลฯ อยู่ในเขตอำนาจจะต้องรับชำระคดีนั้น ๆ แต่เป็นบทบัญญัติให้ดุลพินิจแก่ศาลซึ่งท้องที่ที่จำเลยมีที่อยู่ ฯลฯ ในเขตอำนาจจะรับชำระคดีนั้นหรือไม่ก็ได้ ความผิดที่เกิดขึ้นนอกเขตศาลอาญา แต่จำเลยมีภูมิลำเนาในเขตศาลอาญา เมื่อผู้เสียหายเป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง ศาลจึงมีอำนาจที่จะใช้ดุลพินิจรับหรือไม่รับคดีนั้นไว้พิจารณาก็ได้
การที่ศาลอาญาสั่งในคำฟ้องของโจทก์ว่า “นัดไต่สวนให้โจทก์นำส่งหมายนัด” ยังถือไม่ได้ว่าศาลอาญาได้ใช้ดุลพินิจรับคดีของโจทก์ไว้ ชำระแล้ว ด้วยเหตุนี้ที่ศาลอาญาสั่งงดไต่สวนมูลฟ้องและมีคำสั่ง ไม่ประทับฟ้องของโจทก์ไว้พิจารณาจึงเป็นการที่ศาลอาญาได้ใช้ดุลพินิจสั่งตามอำนาจที่มีอยู่ (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 4/2523)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยสั่งจ่ายเช็คธนาคารสหธนาคารกรุงเทพ จำกัดสาขาสุรินทร์ชำระหนี้ค่าซื้อสินค้าโจทก์ เช็คถึงกำหนดโจทก์เรียกเก็บเงินธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินทั้งนี้โดยจำเลยมีเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็ค เหตุเกิดที่แขวงคลองตัน เขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร และที่สหธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาสุรินทร์ ตำบลในเมือง อำเภอเมืองสุรินทร์เกี่ยวพันกัน ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2493 มาตรา 3

ศาลชั้นต้นสั่งในคำฟ้องว่า นัดไต่สวนมูลฟ้องให้โจทก์นำส่งหมายนัด ครั้นถึงวันนัดไต่สวนมูลฟ้อง ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ธนาคารที่ปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คอยู่ที่อำเภอเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ ฉะนั้น เหตุเกิดที่จังหวัดสุรินทร์ ไม่อยู่ในอำนาจของศาลอาญาที่จะพิจารณาพิพากษา คดีไม่จำต้องไต่สวนมูลฟ้อง มีคำสั่งไม่ประทับฟ้องของโจทก์ไว้พิจารณาให้จำหน่ายคดีจากสารบบความ

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาตรวจสำนวนและประชุมปรึกษาแล้ว มีปัญหาในชั้นฎีกาว่าเมื่อความผิดเกิดขึ้นนอกเขตศาลอาญา แต่จำเลยมีภูมิลำเนาในเขตศาลอาญาเมื่อผู้เสียหายเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง ศาลอาญาต้องรับฟ้องไว้พิจารณาหรือเป็นดุลพินิจที่จะรับหรือไม่รับคดีนั้นไว้พิจารณา ศาลฎีกาได้พิจารณาปัญหาข้อนี้ โดยที่ประชุมใหญ่แล้วเห็นว่า เมื่อความผิดเกิดขึ้นในราชอาณาจักรไทย ให้ชำระที่ศาลที่ความผิดเกิดขึ้นอ้างหรือเชื่อว่าได้เกิดขึ้นในเขตอำนาจของศาลนั้น ตามมาตรา 22 วรรคแรก แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ส่วนที่มาตรา 22(1) บัญญัติว่า “เมื่อจำเลยมีที่อยู่ ฯลฯ ในท้องที่หนึ่งนอกเขตศาลดังกล่าวแล้ว จะชำระที่ศาลซึ่งท้องที่นั้น ๆ อยู่ในเขตอำนาจก็ได้” นั้น มิใช่เป็นบทบังคับให้ศาลซึ่งท้องที่ที่จำเลยมีที่อยู่ ฯลฯ อยู่ในเขตอำนาจ จะต้องรับชำระคดีนั้น ๆ แต่เป็นบทบัญญัติให้ดุลพินิจแก่ศาลซึ่งท้องที่ที่จำเลยมีที่อยู่ ฯลฯ อยู่ในเขตอำนาจจะรับชำระคดีนั้นหรือไม่ก็ได้ ดังนั้น เมื่อความผิดคดีนี้เกิดขึ้นนอกเขตศาลอาญา แต่จำเลยมีภูมิลำเนาในเขตศาลอาญา เมื่อผู้เสียหายเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง ศาลอาญาจึงมีอำนาจที่จะใช้ดุลพินิจรับหรือไม่รับคดีนั้นไว้พิจารณาได้ มีปัญหาต่อไปว่า การที่ศาลอาญาสั่งในคำฟ้องของโจทก์ว่า “นัดไต่สวนให้โจทก์นำส่งหมายนัด” จะถือว่าศาลอาญาได้ใช้ดุลพินิจรับคดีของโจทก์ไว้ชำระแล้วหรือยัง ศาลฎีกาได้พิจารณาปัญหาข้อนี้โดยที่ประชุมใหญ่แล้วมีมติว่า การที่ศาลอาญาสั่งในคำฟ้องของโจทก์ว่า “นัดไต่สวนให้โจทก์นำส่งหมายนัด” ยังถือไม่ได้ว่าศาลอาญาได้ใช้ดุลพินิจรับคดีของโจทก์ไว้ชำระแล้ว ด้วยเหตุนี้ที่ศาลอาญาสั่งงดไต่สวนมูลฟ้องและมีคำสั่งไม่ประทับฟ้องของโจทก์ไว้พิจารณา จึงเป็นการที่ศาลอาญาได้ใช้ดุลพินิจสั่งตามอำนาจที่มีอยู่ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตาม ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย

พิพากษายืน

Share