แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ในการตีความสัญญานั้นต้องคำนึงความประสงค์หรือเจตนาอันมีร่วมกันของคู่สัญญาซึ่งเป็นเจตนาที่คาดหมายในทางสุจริต และต้องคำนึงประเพณีปฏิบัติในระหว่างคู่สัญญาเอง หรือประเพณีในทางการค้าด้วยตาม ป.พ.พ. มาตรา 368 จะถือเอาเจตนาของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเพียงฝ่ายเดียวไม่ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 130,066.61 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 54,352 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 47,977 บาท ให้แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันที่ 20 พฤศจิกายน 2551 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท สำหรับจำเลยที่ 2 ให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมเฉพาะส่วนของจำเลยที่ 2 ให้เป็นพับ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การตีความสัญญานั้นต้องคำนึงถึงความประสงค์หรือเจตนาอันมีร่วมกันของคู่สัญญาซึ่งเป็นเจตนาที่คาดหมายในทางสุจริต และต้องคำนึงประเพณีปฏิบัติในระหว่างคู่สัญญาเองหรือประเพณีในทางการค้าด้วยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 368 จะถือเอาเจตนาของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเพียงฝ่ายเดียวไม่ได้ ซึ่งตามสัญญาข้อตกลง ข้อ 15 ระบุไว้ว่า ถ้าในการกระทำหรือละเว้นการกระทำใด ๆ ด้วยเจตนาหรือประมาทเลินเล่อหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของตัวแทน เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่บริษัทไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมไม่ว่ามากน้อยเพียงใด ตัวแทนตกลงยินยอมชดใช้ค่าเสียหายอันเกิดจากการกระทำหรืองดเว้นการกระทำของตนทั้งสิ้นในทันที มิฉะนั้นตัวแทนตกลงยินยอมชำระดอกเบี้ยในจำนวนค่าเสียหายที่ต้องชำระในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จนกว่าจะได้ชำระให้เป็นที่ถูกต้องเรียบร้อย ตามข้อสัญญาดังกล่าวเห็นได้โดยชัดแจ้งว่ามีวัตถุประสงค์เพื่อไม่ให้ตัวแทนกระทำความเสียหายแก่โจทก์ และได้กำหนดค่าเสียหายไว้ในรูปของดอกเบี้ย อันถือว่าเป็นเบี้ยปรับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 379 ดังนี้การที่โจทก์จะเรียกดอกเบี้ยอัตราดังกล่าวจากจำเลยได้นั้น จำเลยที่ 1 จะต้องเป็นผู้ก่อความเสียหายแก่โจทก์ไม่ว่าเกิดจากการกระทำหรือละเว้นการกระทำใด ๆ ด้วยเจตนาหรือประมาทเลินเล่อหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของจำเลยที่ 1 ส่วนตามสัญญาข้อ 10 นั้น เป็นเรื่องที่ตัวแทนต้องคืนผลประโยชน์ที่ได้รับจากโจทก์ ในกรณีที่โจทก์ต้องคืนเบี้ยประกันให้ผู้ขอประกันชีวิต ผู้เอาประกันชีวิตไม่ว่าโดยเหตุที่ผู้ขอประกันชีวิตบอกเลิกการขอประกันชีวิต หรือโดยเหตุสัญญาประกันชีวิตเป็นโมฆียะ หรือโดยเหตุที่บุคคลดังกล่าวมีสุขภาพไม่สมบูรณ์มาก่อนและขณะขอประกันชีวิต ซึ่งกรณีที่ผู้ขอประกันชีวิตบอกเลิกการขอประกันชีวิตตามที่ระบุไว้ในสัญญาข้อ 10 นี้ อาจไม่เกี่ยวกับการกระทำใด ๆ ของตัวแทนหรือจำเลยที่ 1 ก็ได้ กรณีจึงเป็นคนละเรื่องกับสัญญาข้อ 15 ดังนั้น เมื่อโจทก์ไม่ได้นำสืบให้ได้ความว่าเหตุที่ต้องคืนดอกเบี้ยเกิดจากการกระทำของจำเลยที่ 1 ดังที่ระบุไว้ตามสัญญาข้อ 15 จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี แก่โจทก์ดังที่โจทก์ฎีกา นอกจากนี้ข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยที่ 1 ถูกปลดออกจากการเป็นตัวแทนของโจทก์ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2541 แต่มีการทำหนังสือตั้งหนี้ หลังจากจำเลยที่ 1 มิได้เป็นตัวแทนโจทก์แล้ว จึงถือไม่ได้ว่า จำเลยที่ 1 ได้ทราบว่ามีหนี้ต้องชำระเงินดังกล่าว อันจะก่อให้เกิดสิทธิเรียกร้องเอาดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 ที่ถือว่าผิดนัด จึงต้องถือเอาวันที่จำเลยที่ 1 ได้รับหนังสือบอกกล่าวขอให้ชำระหนี้และพ้นจากระยะเวลาตามที่ระบุไว้ในหนังสือดังกล่าวเป็นวันผิดนัด คือวันที่ 20 พฤศจิกายน 2551 ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยปัญหานี้มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ