แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 ถึงที่ 6 กับพวกร่วมกันวางแผนไปปล้นทรัพย์ของผู้เสียหาย ซึ่งเป็นความผิดตามที่บัญญัติไว้ในภาค 2 แห่งประมวลกฎหมายอาญา จึงมีความผิดฐานร่วมกันเป็นซ่องโจร เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 6 ไปชิงทรัพย์ของผู้เสียหายตามแผนที่ร่วมกันวางไว้ ย่อมเป็นความผิดฐานร่วมกันชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจโดยใช้ยานพาหนะ แต่ความผิดฐานเป็นซ่องโจรกับความผิดฐานชิงทรัพย์เกี่ยวเนื่องกัน กล่าวคือ พวกจำเลยที่ 1 และที่ 6 กระทำความผิดฐานร่วมกันเป็นซ่องโจรเพื่อจะไปปล้นทรัพย์ของผู้เสียหาย จึงเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษฐานร่วมกันชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจโดยใช้ยานพาหนะ อันเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 ปรับบทลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 6 ฐานร่วมกันเป็นซ่องโจรด้วย จึงไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยที่ 1 และที่ 6 ไม่ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้
ย่อยาว
คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกัน โดยให้เรียกโจทก์ทั้งสองสำนวนว่า โจทก์ และเรียกจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 สำนวนแรกว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 เรียกจำเลยสำนวนหลังว่า จำเลยที่ 6
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องทั้งสองสำนวนขอให้ลงโทษจำเลยทั้งหกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 58, 83, 91, 92, 210, 213, 340, 340 ตรี เพิ่มโทษจำเลยที่ 6 ตามกฎหมาย และบวกโทษจำคุกจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1155/2543 ของศาลชั้นต้น เข้ากับโทษจำคุกของจำเลยที่ 5 ในคดีนี้ กับให้จำเลยทั้งหกคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืนจำนวน 7,300 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยทั้งหกให้การปฏิเสธ แต่จำเลยที่ 5 และที่ 6 รับว่า เป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้บวกโทษและเพิ่มโทษ ตามลำดับ
ระหว่างพิจารณาปรากฏข้อเท็จจริงว่า ขณะกระทำความผิดจำเลยที่ 2 อายุยังไม่เกิน 18 ปี ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้โอนคดีจำเลยที่ 2 ไปพิจารณาที่ศาลจังหวัดเพชรบูรณ์แผนกคดีเยาวชนและครอบครัว และให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 2 ออกจากสารบบความ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษากลับว่า จำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 และที่ 6 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 210 วรรคแรก ประกอบมาตรา 83 จำคุกคนละ 1 ปี และจำเลยที่ 1 และที่ 6 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคสาม ประกอบมาตรา 340 ตรี, 83 จำคุกคนละ 15 ปี การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 6 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 รวมจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 6 คนละ 16 ปี จำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 และที่ 6 ให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวน เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้คนละหนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 คนละ 8 เดือน จำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 6 คนละ 10 ปี 8 เดือน บวกโทษจำคุก 6 เดือน ของจำเลยที่ 5 ที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1155/2543 ของศาลชั้นต้น เข้ากับโทษของจำเลยที่ 5 ในคดีนี้ เป็นจำคุก 14 เดือน ให้จำเลยที่ 1 และที่ 6 คืนหรือชดใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืนจำนวน 7,300 บาท แก่ผู้เสียหาย ความผิดฐานอื่นและคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยที่ 1 ที่ 5 และที่ 6 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 5 และที่ 6 ว่า จำเลยที่ 1 ที่ 5 และที่ 6 มีความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 หรือไม่ พิเคราะห์แล้ว โจทก์มีร้อยตำรวจเอกประเสริฐ ผู้จับกุมเบิกความว่า ทราบจากผู้เสียหายว่าถูกจำเลยที่ 2 กับพวกร่วมกันชิงทรัพย์ไปจากที่เกิดเหตุ จึงติดตามจับกุมจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 5 ได้ ทั้งสองรับว่าร่วมกับจำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 6 กระทำความผิดจริง จึงติดตามจับกุมได้จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 และพบเงินสด 1,000 บาท ในตัวจำเลยที่ 1 ชั้นจับกุมจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ให้การรับสารภาพ โดยมีร้อยตำรวจโทอนันต์ เบิกความสนับสนุนว่า จับกุมจำเลยที่ 6 ได้ตามหมายจับ ชั้นจับกุมจำเลยที่ 6 ให้การรับสารภาพ และโจทก์มีพันตำรวจตรีอำนวย พนักงานสอบสวนเบิกความว่า ชั้นสอบสวนจำเลยทั้งหกให้การรับสารภาพ และนำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพ พยานสอบคำให้การผู้เสียหายไว้ เห็นว่า พยานโจทก์ทั้งสามเป็นนายตำรวจสัญญาบัตรกระทำตามหน้าที่ไม่มีเหตุจะมากลั่นแกล้งใส่ความ พิจารณาคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 ที่ 5 และที่ 6 ตามบันทึกคำให้การของผู้ต้องหาและบันทึกแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมแล้วให้ข้อเท็จจริงหลายอย่างซึ่งยากที่ผู้อื่นจะเสริมแต่งแทนให้สมเหตุผลได้ ทั้งสอดรับกับคำให้การของผู้เสียหาย โดยจำเลยที่ 1 ที่ 5 และที่ 6 มิได้นำสืบโต้แย้งความถูกต้อง จึงเชื่อว่าให้การไว้ตามความจริงโดยสมัครใจ เมื่อรับฟังร่วมกับคำให้การรับสารภาพในชั้นจับกุม ซึ่งให้ไว้ในครั้งแรกที่ถูกถามถึงความผิดโดยจำเลยที่ 1 ที่ 5 และที่ 6 ไม่มีโอกาสตระเตรียม เชื่อว่าเต็มใจให้ไว้ตามความจริง เช่นนี้ พยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักและเหตุผลให้รับฟังได้ ข้อนำสืบปฏิเสธของจำเลยที่ 1 ไม่อาจหักล้างได้ ความไม่แน่ชัดเป็นพิรุธไม่มีน้ำหนักตามที่ฎีกา เป็นความเห็นของจำเลยที่ 1 ที่ 5 และที่ 6 ไม่มีผลต่อคำวินิจฉัยนี้ จำเลยที่ 1 ที่ 5 และที่ 6 ต้องมีความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 ส่วนที่ฎีกาว่าคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 ไม่ถูกต้องตามกฎหมายนั้น เห็นว่า คำพิพากษาดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายแล้ว สำหรับฎีกาตอนท้ายที่ขอให้ลงโทษสถานเบานั้น เห็นว่า ขณะกระทำความผิดจำเลยที่ 1 อายุ 18 ปี รู้ผิดชอบแล้ว ไม่ลดมาตราส่วนโทษให้ กำหนดโทษตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 เหมาะสมแล้ว ไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงแก้ไขฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 5 และที่ 6 ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ความผิดฐานเป็นซ่องโจรกับความผิดฐานชิงทรัพย์เกี่ยวเนื่องกัน กล่าวคือ พวกจำเลยที่ 1 และที่ 6 กระทำความผิดฐานร่วมกันเป็นซ่องโจรเพื่อจะไปปล้นทรัพย์ของผู้เสียหาย จึงเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษฐานร่วมกันชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจโดยใช้ยานพาหนะ อันเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 ปรับบทลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 6 ฐานร่วมกันเป็นซ่องโจรด้วย ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา เห็นควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยที่ 1 และที่ 6 จะไม่ฎีกาขึ้นมา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้
พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดฐานร่วมกันเป็นซ่องโจรกับความผิดฐานร่วมกันชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจโดยใช้ยานพาหนะ เป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 6 ฐานร่วมกันชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจโดยใช้ยานพาหนะ อันเป็นบทหนักตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ซึ่งเมื่อหักโทษความผิดฐานร่วมกันเป็นซ่องโจรออกจากโทษที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 กำหนดลงแก่จำเลยที่ 1 และที่ 6 แล้ว คงจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 6 คนละ 15 ปี จำเลยที่ 1 และที่ 6 ให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวน เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้คนละหนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 6 คนละ 10 ปี นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6