คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 22778/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำเสนอต้องมีข้อความชัดเจนแน่นอนเพียงพอที่จะถือเป็นข้อผูกพันในสัญญา จำเลยโฆษณามีใจความว่า ให้การสนับสนุนสินเชื่อแก่ผู้ประมูลหลักทรัพย์ของจำเลยในงานมหกรรมขายทอดตลาด วงเงินกู้สูงสุด 90 % ของราคาประเมินหลักทรัพย์ประกัน อัตราดอกเบี้ยมี 3 ทางเลือก 1) คงที่ 1 ปี 3.5 % ต่อปี 2) คงที่ 2 ปี 4.25 % ต่อปี 3) คงที่ 3 ปี 4.75 % ต่อปี ข้อความดังกล่าวเป็นเพียงการแสดงความประสงค์ของจำเลยที่จะให้สินเชื่อแก่ผู้ประมูลซื้อทรัพย์ในการจัดงานดังกล่าวได้ ข้อความที่แสดงไม่ระบุรายละเอียดให้ชัดเจนพอที่จะถือว่าเป็นคำเสนอได้ คงเป็นเพียงคำเชื้อเชิญให้ผู้ชนะการประมูลทำคำเสนอขอสินเชื่อเงินกู้จากจำเลยภายในวงเงินและอัตราดอกเบี้ยประเภทใดประเภทหนึ่งที่ระบุเอาไว้เท่านั้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยอนุมัติเงินกู้ 3,200,000 บาท ตามคำขอกู้ยืมเงินของโจทก์ ให้จำเลยชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ 1,680,000 บาท และค่าเสียหายอีกเดือนละ 60,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะอนุมัติเงินกู้แก่โจทก์ ให้จำเลยชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์ในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงิน 1,500,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา โจทก์ยื่นคำร้องขอให้เรียกกรมบังคับคดีเข้ามาเป็นจำเลยร่วม ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์และอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้ระบุพยานเพิ่มเติม
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ของอุทธรณ์ทั้งสองฉบับให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติว่า เมื่อปี 2547 กรมบังคับคดีร่วมกับจำเลยจัดงานมหกรรมขายทอดตลาดบ้านและที่ดินกรุงเทพมหานคร โดยจำเลยโฆษณาข้อความการให้สินเชื่อแก่ผู้เข้าประมูลหลักทรัพย์ในงานดังกล่าวตามหนังสือมหกรรมขายทอดตลาดบ้านและที่ดินกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2547 โจทก์ชนะการประมูลซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างตามโฉนดที่ดินเลขที่ 63126 และ 131654 แขวงทุ่งสองห้อง เขตดอนเมือง กรุงเทพมหานคร ราคา 3,275,000 บาท และทำสัญญาซื้อขายกับกรมบังคับคดีโดยวางเงินมัดจำจำนวน 160,000 บาท วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2547 โจทก์ยื่นคำขอกู้สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยต่อธนาคารจำเลย สาขาย่อยสรงประภา ขอกู้เงินจำนวน 3,200,000 บาท เพื่อชำระหนี้ให้แก่กรมบังคับคดีตามคำขอสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ต่อมาจำเลยมีหนังสือลงวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2547 แจ้งโจทก์ว่าจำเลยกำลังพิจารณาคำขอสินเชื่อของโจทก์ ขอให้โจทก์จัดส่งเอกสารเพิ่มเติมและแจ้งรายการค่าธรรมเนียมให้โจทก์ทราบ แล้วมีหนังสือแจ้งผลการพิจารณาขอสินเชื่อไปยังโจทก์ว่า จำเลยได้พิจารณาแล้วเห็นว่า ในการขอกู้ครั้งนี้เป็นการเปลี่ยนตัวลูกหนี้ซึ่งไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ของการให้สินเชื่อของธนาคาร และเอกสารประกอบการให้สินเชื่อยังไม่เป็นที่ชัดเจนแน่นอน จึงเห็นว่าโจทก์ไม่ผ่านหลักเกณฑ์การให้สินเชื่อตามหนังสือลงวันที่ 4 มีนาคม 2547
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า การที่จำเลยไม่อนุมัติสินเชื่อให้แก่โจทก์เป็นการผิดสัญญาหรือไม่ เห็นว่า สาระสำคัญของสัญญานั้นจะต้องเป็นนิติกรรมสองฝ่ายเกิดขึ้นโดยการแสดงเจตนาทำคำเสนอและคำสนองถูกต้องตรงกัน โดยเมื่อมีผู้แสดงเจตนาเรียกว่าคำเสนอจะทำสัญญา หากผู้รับคำเสนอนั้นแสดงเจตนาตกลงสนองรับคำเสนอ สัญญาจึงจะเกิดขึ้น คำเสนอจึงต้องมีข้อความชัดเจนแน่นอนเพียงพอที่จะถือเป็นข้อผูกพันในสัญญาได้ สำหรับคดีนี้แม้ได้ความว่า จำเลยโฆษณาข้อความในหนังสือมหกรรมขายทอดตลาดบ้านและที่ดินกรุงเทพมหานครมีใจความให้การสนับสนุนสินเชื่อแก่ผู้ประมูลหลักทรัพย์ของจำเลยในงานมหกรรมขายทอดตลาด วงเงินกู้สูงสุด 90 % ของราคาประเมินหลักทรัพย์ประกันหรือราคาซื้อขายจริง แล้วแต่ราคาใดจะต่ำกว่า อัตราดอกเบี้ยมี 3 ทางเลือก 1) คงที่ 1 ปี 3.5 % ต่อปี 2) คงที่ 2 ปี 4.25 % ต่อปี 3) คงที่ 3 ปี 4.75 % ต่อปี (หลังจากนั้น เอ็มแอลอาร์ – 0.75 % ตลอดอายุสัญญา) และที่ปกหนังสือดังกล่าวมีข้อความว่า ธนาคารสนับสนุนสินเชื่อ (เฉพาะผู้ที่ประมูลได้ในงานนี้เท่านั้น) แต่ข้อความดังกล่าวเป็นเพียงการแสดงความประสงค์ของจำเลยที่จะให้สินเชื่อแก่ผู้ประมูลซื้อทรัพย์ในการจัดงานดังกล่าวได้ ทั้งข้อความที่แสดงไม่ระบุรายละเอียดให้ชัดเจนพอที่จะถือว่าเป็นคำเสนอได้ คงเป็นเพียงคำเชื้อเชิญให้ผู้ซึ่งชนะการประมูลทำคำเสนอขอสินเชื่อเงินกู้จากจำเลยภายในวงเงินและอัตราดอกเบี้ยประเภทใดประเภทหนึ่งที่ระบุเอาไว้เท่านั้น การที่โจทก์ยื่นคำขอกู้สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยจึงเป็นการแสดงเจตนาทำคำเสนอต่อจำเลย เมื่อจำเลยไม่ได้แสดงเจตนาตกลงสนองรับตามคำเสนอ สัญญาสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยระหว่างโจทก์และจำเลยจึงไม่เกิดขึ้น และไม่มีนิติสัมพันธ์ที่จำเลยจะต้องรับผิดต่อโจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share