คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2034/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการกำหนดค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักจากเงินได้พึงประเมิน (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2502จะใช้บังคับแก่กรณีภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาก็ตาม แต่เมื่อจำเลยนำพระราชกฤษฎีกา ฉบับดังกล่าวมาใช้เป็นเกณฑ์หักค่าใช้จ่ายเพื่อประเมินภาษีเงินได้ของโจทก์ซึ่งเป็นนิติบุคคล จำเลยก็ต้องหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาให้แก่โจทก์ตามอัตราที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกาฉบับดังกล่าวด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2527 และ 2528 ของเจ้าพนักงานประเมินของจำเลยที่ 1 และ เพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4ที่ให้โจทก์ชำระภาษีเงินได้พร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่มรวมเป็นเงิน740,038 บาท
จำเลยทั้งสี่ให้การว่า การประเมินชอบแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ตามฟ้อง ให้จำเลยที่ 1 ทำการประเมินใหม่โดยหักค่าใช้จ่ายให้แก่โจทก์เป็นจำนวนร้อยละ 80
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด มีวัตถุประสงค์รับทำการขนส่งสินค้า ในปี2527-2528 โจทก์รับจ้างขนส่งสินค้าของบริษัทอุตสาหกรรมวิวัฒน์จำกัด ต่อมาเจ้าพนักงานประเมินของจำเลยที่ 1 ได้ตรวจสอบการเสียภาษีเงินได้ของโจทก์และประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลของโจทก์สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2527 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม2527 ให้โจทก์เสียภาษีเงินได้นิติบุคคล เบี้ยปรับและเงินเพิ่มรวมกันจำนวน 527,249 บาท สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม2528 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2528 ให้โจทก์เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลเบี้ยปรับและเงินเพิ่มรวมกันจำนวน 212,789 บาท การประเมินดังกล่าวเจ้าพนักงานประเมินเห็นว่าโจทก์นำบัญชีและเอกสารประกอบการลงบัญชีมาให้ตรวจสอบไต่สวนแล้ว ไม่สามารถประเมินภาษีเงินได้ของโจทก์อัตราร้อยละ 5 ของยอดรายรับก่อนหักรายจ่ายใดตามมาตรา 71(1)แห่งประมวลรัษฎากรได้ จึงได้พิจารณาให้โจทก์หักค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานได้เป็นการเหมาอัตราร้อยละ 70 ของรายรับ โดยอนุโลมตามกรณีบุคคลธรรมดาตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการกำหนดค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักจากเงินได้พึงประเมิน (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2502 ซึ่งให้หักค่าใช้จ่ายได้ร้อยละ80 แต่ให้ลดค่าใช้จ่ายลงอีกร้อยละ 10 คงเหลือเพียงร้อยละ 70 ตามมติของ กพอ.ครั้งที่ 11/2522 ลงวันที่ 10 เมษายน 2522 โจทก์อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้วินิจฉัยว่า การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินให้ความเป็นธรรมและเป็นคุณแก่โจทก์อยู่แล้วให้ยกอุทธรณ์โจทก์ตามเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 5 คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยในชั้นอุทธรณ์ว่า เจ้าพนักงานประเมินหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาร้อยละ 70 ถูกต้องและชอบด้วยกฎหมายหรือไม่พิเคราะห์แล้ว พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการกำหนดค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักจากเงินได้พึงประเมิน (ฉบับที่ 11)พ.ศ. 2502 มาตรา 8 บัญญัติว่า “เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(8)แห่งประมวลรัษฎากรซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2496 ยอมให้หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาดังต่อไปนี้
ฯลฯ
(15) การขนส่งหรือรับจ้างด้วยยานพาหนะร้อยละ 80” ดังนั้นเมื่อโจทก์รับขนส่งสินค้าให้กับบริษัทอุตสาหกรรมวิวัฒน์ จำกัดโดยโจทก์มีรถยนต์บรรทุกมาวิ่ง โจทก์ย่อมเป็นผู้ประกอบการขนส่งแม้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ใช้บังคับแก่กรณีภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแต่เมื่อจำเลยนำพระราชกฤษฎีกาฉบับดังกล่าวมาใช้เป็นเกณฑ์หักค่าใช้จ่ายเพื่อประเมินภาษีเงินได้ของโจทก์ก็ต้องหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาร้อยละ 80 ให้แก่โจทก์ตามพระราชกฤษฎีกาฉบับดังกล่าวจำเลยจะหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาร้อยละ 70 ให้แก่โจทก์โดยอ้างมติกพอ.ครั้งที่ 11/2522 ลงวันที่ 10 เมษายน 2522 ย่อมไม่ถูกต้องและไม่ชอบด้วยกฎหมาย การประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
พิพากษายืน

Share