แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์บรรยายฟ้องแต่เพียงว่า จำเลยได้กระทำการละเมิดลิขสิทธิ์แก่งานสร้างสรรค์ประเภทโสตทัศนวัสดุของโจทก์ร่วม ซึ่งเป็นงานอันมีสิทธิได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์พ.ศ. 2521 และโจทก์ร่วมได้แต่งตั้งให้บริษัทซีเนคัลเลอร์แลป จำกัดเป็นผู้มีสิทธิและใช้สิทธิในงานสร้างสรรค์ประเภทโสตทัศนวัสดุนี้ในประเทศไทย โจทก์มิได้บรรยายฟ้องเลยว่า วีดีโอเทปภาพยนตร์ของโจทก์เป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามกฎหมายของเมืองฮ่องกงหรือประเทศสหราชอาณาจักร และเมืองฮ่องกงหรือประเทศสหราชอาณาจักรเป็นภาคีแห่งอายุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองลิขสิทธิ์ ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีอยู่ด้วย และกฎหมายแห่งเมืองฮ่องกงหรือประเทศสหราชอาณาจักรได้ให้ความคุ้มครองเช่นเดียวกันแก่งานอันมีลิขสิทธิ์ของภาคีอื่น ๆ แห่งอนุสัญญาดังกล่าว ฟ้องโจทก์จึงขาดข้อความสำคัญที่จะแสดงให้เห็นว่าภาพยนต์ตามฟ้องมีสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่จำเป็นสำหรับการฟ้องคดีอาญาในกรณีที่มีการละเมิดลิขสิทธิ์เกี่ยวด้วยงานอันมีลิขสิทธิ์ตามกฎหมายต่างประเทศ ฟ้องโจทก์จึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2528 เวลากลางวันจำเลยได้กระทำการละเมิดลิขสิทธิ์แก่งานสร้างสรรค์ประเภทโสตทัศนวัสดุของบริษัทเทเลวิชั่น บรอดแคสท จำกัดและบริษัทเอชเค-ทีวีบี อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ประเทศฮ่องกงซึ่งเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 บริษัทเทเลวิชั่น บรอดแคสท จำกัด และบริษัทเอชเค-ทีวีบี อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ได้แต่งตั้งให้บริษัทซีเนคัลเลอร์แลป จำกัด เป็นผู้มีสิทธิและใช้สิทธิในงานสร้างสรรค์ประเภทโสตทัศนวัสดุนี้ในประเทศไทย จำเลยได้นำแถบบันทึกภาพ (วีดีโอเทป) จำนวน 3 เรื่อง ได้แก่ เรื่องชอลิ่วเฮียง ถล่มวัง ค้างคาว จำนวน 13 ม้วน เรื่อง ขวัญใจโปลิศ จำนวน3 ม้วน และเรื่องจอมเพชรฌฆาต จ้าว สิงโต จำนวน 12 ม้วน รวม29 ม้วน อันเป็นงานสร้างสรรค์ประเภทโสตทัศนวัสดุซึ่งเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามกฎหมายของบริษัทเทเลวิชั่นบรอดแคสท จำกัด และบริษัทเอชเค-ทีวีบี อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ออกโฆษณาโดยการจำหน่ายด้วยการเสนอขายและให้เช่าที่ร้านสปอร์ต วีดีโอเลขที่ 133ตำบลในเมือง อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมาซึ่งเป็นสำนักงานของจำเลย โดยจำเลยกระทำการดังกล่าวเพื่อการค้า และมิได้รับอนุญาตจากบริษัทเทเลวิชั่นบรอดแคสท จำกัดบริษัทเอชเค-ทีวีบี อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด และบริษัทซีเนคัลเลอร์แลป จำกัด เหตุเกิดที่ตำบลในเมือง อำเภอเมืองนครราชสีมาจังหวัดนครราชสีมา ตามวันเวลาดังกล่าวในฟ้องข้างต้น เจ้าพนักงานจับจำเลยได้พร้อมยึดแถบบันทึกภาพ (วีดีโอเทป) ซึ่งจำเลยกระทำละเมิดลิขสิทธิ์ 29 ม้วน เป็นของกลาง ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 มาตรา 24, 25, 42, 43, 46 และ 47 และสั่งให้แถบบันทึกภาพ (วีดีโอเทป) ของกลางตกเป็นของเจ้าของลิขสิทธิ์กับนับโทษจำเลยต่อจากโทษในคดีหมายเลขดำที่ 1675/2527 ของศาลชั้นต้นด้วย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างการพิจารณา บริษัทเทเลวิชั่นบรอดแคสท จำกัด ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติ ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 มาตรา 43 วรรคสอง, 47 ให้ปรับ 20,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้กักขังตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 29, 30 และให้แถบบันทึกภาพ (วีดีโอเทป) ของกลางตกเป็นของโจทก์ร่วม คำขอให้นับโทษต่อจากคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1675/2527หมายเลขแดงที่ 1107/2528 ของศาลชั้นต้นให้ยกเพราะคดีดังกล่าวศาลพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ร่วมอุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำคุกจำเลยและลงโทษปรับในอัตราอย่างสูง
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ปรับจำเลย 50,000 บาทนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ที่จำเลยฎีกาว่า ฟ้องโจทก์ไม่สมบูรณ์เพราะขาดข้อความสำคัญที่แสดงให้เห็นว่า ภาพยนตร์ตามฟ้องมีสิทธิได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 นั้น พิเคราะห์แล้วพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์พ.ศ. 2521 มาตรา 42 บัญญัติว่า “งานอันมีลิขสิทธิ์ตามกฎหมายของประเทศที่เป็นภาคีแห่งอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองลิขสิทธิ์ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีอยู่ด้วย และกฎหมายของประเทศนั้นได้ให้ความคุ้มครองเช่นเดียวกันแก่งานอันมีลิขสิทธิ์ของภาคีอื่น ๆ แห่งอนุสัญญาดังกล่าว ฯลฯ ย่อมได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัตินี้ ทั้งนี้ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา” แต่โจทก์บรรยายฟ้องแต่เพียงว่า จำเลยได้กระทำการละเมิดลิขสิทธิ์แก่งานสร้างสรรค์ประเภทโสตทัศนวัสดุของโจทก์ร่วมซึ่งเป็นงานอันมีสิทธิได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 และโจทก์ร่วมได้แต่งตั้งให้บริษัทซีเนคัลเลอร์แลป จำกัด เป็นผู้มีสิทธิและใช้สิทธิในงานสร้างสรรค์ประเภทโสตทัศนวัสดุนี้ในประเทศไทย โจทก์มิได้บรรยายฟ้องเลยว่า วีดีโอเทปภาพยนตร์ของโจทก์เป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามกฎหมายของเมืองฮ่องกงหรือประเทศสหราชอาณาจักรและเมืองฮ่องกงหรือประเทศสหราชอาณาจักรเป็นภาคีแห่งอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองลิขสิทธิ์ ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีอยู่ด้วยและกฎหมายแห่งเมืองฮ่องกงหรือประเทศสหราชอาณาจักรได้ให้ความคุ้มครองเช่นเดียวกันแก่งานอันมีลิขสิทธิ์ของภาคีอื่น ๆ แห่งอนุสัญญาดังกล่าว ฟ้องโจทก์จึงขาดข้อความสำคัญที่จะแสดงให้เห็นว่าภาพยนตร์ตามฟ้องมีสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 42แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่จำเป็นสำหรับการฟ้องคดีอาญาในกรณีที่มีการละเมิดลิขสิทธิ์เกี่ยวด้วยงานอันมีลิขสิทธิ์ตามกฎหมายต่างประเทศ ฟ้องโจทก์จึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158ไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยในข้ออื่นต่อไป ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยมานั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาจำเลยฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์.