คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2034/2536

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

พระราชกฤษฎีกา ออกตามความใน ประมวลรัษฎากรว่าด้วยการกำหนดค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักจากเงินได้พึงประเมิน (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2502มาตรา 8 เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(8) ประเภทการขนส่งหรือรับจ้างด้วยยานพาหนะให้หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาได้ร้อยละ 80โจทก์เป็นผู้ประกอบการขนส่ง แม้ พระราชกฤษฎีกา ฉบับนี้ใช้บังคับแก่กรณีเงินได้บุคคลธรรมดาแต่เมื่อจำเลยนำมาใช้เป็นเกณฑ์หักค่าใช้จ่ายเพื่อประเมินภาษีเงินได้ของโจทก์ซึ่งเป็นนิติบุคคลก็ต้องหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาร้อยละ 80 จะหักเป็นการเหมาร้อยละ 70 โดยอ้างมติ กพอ. ไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เจ้าพนักงานประเมินเอาเงินได้จากการรับขนส่งสินค้าของรถบรรทุกที่บุคคลอื่นนำมาวิ่งร่วมกับโจทก์มารวมเป็นเงินได้ของโจทก์ เป็นการไม่ชอบ และเจ้าพนักงานประเมินได้คำนวณหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาให้กับโจทก์จากยอดเงินได้ที่เพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 70 เป็นการขัดต่อพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการกำหนดค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักจากเงินได้พึงประเมิน (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2502 มาตรา 8 อนุมาตรา 15 ซึ่งให้หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาในอัตราร้อยละ 80 ขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนการประเมินเรียกเก็บเงินได้นิติบุคคลตามหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ 1104/2/00635-00636 ลงวันที่ 31 ตุลาคม2531 และเพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เลขที่ 251/2532/1 ลงวันที่ 15 มิถุนายน 2532
จำเลยทั้งสี่ให้การว่า โจทก์มีรายได้จากการรับทำการขนส่งสินค้าและได้ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชี ปี 2527 และปี 2528 ต่อเจ้าพนักงานของจำเลยที่ 1ไม่ถูกต้อง เจ้าพนักงานของจำเลยที่ 1 จึงออกหมายเรียกโจทก์มาไต่สวนพร้อมทั้งให้นำหลักฐานและเอกสารต่าง ๆ มามอบต่อเจ้าพนักงานของจำเลยที่ 1 เพื่อทำการตรวจสอบ ปรากฏว่า กรณีเจ้าพนักงานของจำเลยที่ 1 ได้คำนวณหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาให้กับโจทก์เป็นการให้ความเป็นธรรมและเป็นคุณแก่โจทก์แล้ว การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินจึงเป็นการชอบแล้ว
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ตามฟ้อง ให้จำเลยที่ 1 ทำการประเมินใหม่โดยหักค่าใช้จ่ายให้แก่โจทก์เป็นจำนวนร้อยละ 80
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกภาษีอากรวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยในชั้นอุทธรณ์ว่า เจ้าพนักงานประเมินหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาร้อยละ 70ถูกต้องและชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ พิเคราะห์แล้ว พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการกำหนดค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักจากเงินได้พึงประเมิน (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2502 มาตรา 8 บัญญัติว่า “เงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากรซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร(ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2496 ยอมให้หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาดังต่อไปนี้
ฯลฯ
(15) การขนส่งหรือรับจ้างด้วยยานพาหนะร้อยละ 80″ ดังนั้น เมื่อโจทก์รับขนส่งสินค้าให้กับบริษัทอุตสาหกรรมวิวัฒน์ จำกัด โดยโจทก์มีรถยนต์บรรทุกมาวิ่ง โจทก์ย่อมเป็นผู้ประกอบการขนส่ง แม้พระราชกฤษฎีกา ฉบับนี้ใช้บังคับแก่กรณีภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแต่เมื่อจำเลยนำพระราชกฤษฎีกาฉบับดังกล่าวมาใช้เป็นเกณฑ์หักค่าใช้จ่าย เพื่อประเมินภาษีเงินได้ของโจทก์ก็ต้องหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาร้อยละ 80 ให้แก่โจทก์ตามพระราชกฤษฎีกาฉบับดังกล่าวจำเลยจะหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาร้อยละ 70 ให้แก่โจทก์โดยอ้างมติ กพอ. ครั้งที่ 11/2522 ลงวันที่ 10 เมษายน 2522 ย่อมไม่ถูกต้องและไม่ชอบด้วยกฎหมายการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share