คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2030/2554

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ตาม ป.อ. มาตรา 1 (5) อาวุธ หมายความรวมถึงสิ่งซึ่งไม่เป็นอาวุธโดยสภาพแต่ซึ่งได้ใช้หรือเจตนาจะใช้ประทุษร้ายร่างกายถึงอันตรายสาหัสอย่างอาวุธ ผู้ถูกกล่าวหานำกระป๋องสเปรย์พริกไทยเข้าไปในบริเวณศาลชั้นต้น สำหรับสเปรย์พริกไทยได้ความว่า ผลิตขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ในการใช้ฉีดพ่นเพื่อยับยั้งบุคคลหรือสัตว์ร้ายมิให้เข้าใกล้หรือทำอันตรายผู้อื่น ผู้ที่ถูกฉีดพ่นสารในกระป๋องสเปรย์ใส่จะมีอาการสำลักจาม ระคายเคืองหรือแสบตา หลังจากนั้นไม่นานก็สามารถหายเป็นปกติได้ เห็นได้ว่าการผลิตสเปรย์พริกไทยดังกล่าว มิได้ผลิตขึ้นเพื่อทำร้ายผู้ใด จึงไม่เป็นอาวุธโดยสภาพทั้งไม่อาจใช้ประทุษร้ายร่างกายถึงอันตรายสาหัสอย่างอาวุธ สเปรย์พริกไทยจึงไม่เป็นอาวุธตามความหมายของบทกฎหมายข้างต้นด้วยเช่นกัน การที่ผู้ถูกกล่าวหาเข้าไปในบริเวณศาลชั้นต้นเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามที่ผู้อำนวยการสำนักงานประจำศาลชั้นต้นขอความร่วมมือไปยังผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองกาญจนบุรี การที่ผู้ถูกกล่าวหานำกระป๋องสเปรย์พริกไทยเข้าไปในบริเวณศาลชั้นต้น จึงไม่เป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องจากขณะที่เจ้าพนักงานตำรวจประจำศาลกับเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองกาญจนบุรีที่ศาลชั้นต้นขอความอนุเคราะห์ให้ร่วมรักษาความปลอดภัยกำลังนำตัวดาบตำรวจสมชาย จำเลยในคดีอาญาของศาลชั้นต้น ขึ้นรถยนต์ของเรือนจำจะไปส่งที่เรือนจำจังหวัดการญจนบุรี ได้เกิดการชุลมุนระหว่างผู้สื่อข่าวและเจ้าพนักงานตำรวจผู้ควบคุมตัวจำเลย และปรากฏว่ากระป๋องสเปรย์พริกไทยซึ่งสิบตำรวจเอกพัฒนา ตำรวจนอกเครื่องแบบที่มาร่วมรักษาความปลอดภัยนำติดตัวมาด้วย ได้ฉีดพ่นสารภายในกระป๋องใส่นายวินัย ผู้สื่อข่าวศาลชั้นต้นจึงเรียกสิบตำรวจเอกพัฒนาผู้ถูกกล่าวหามาไต่สวนฐานประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล
ผู้ถูกกล่าวหาให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ผู้ถูกกล่าวหามีความผิดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 31 (1), 33 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ให้ลงโทษปรับ 500 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
ผู้ถูกกล่าวหาอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน
ผู้ถูกกล่าวหาฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ทางไต่สวนได้ความขณะผู้ถูกกล่าวหากับจ่าสิบตำรวจชุมพล เดินนำหน้าจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1747/2548 ออกจากห้องควบคุมไปยังรถยนต์ของเรือนจำมีผู้สื่อข่าววิ่งกรูเข้าไปหาเพื่อจะถ่ายรูปผู้ถูกกล่าวหาจึงพยายามกันคนเหล่านั้นโดยยืนชิดกับจ่าสิบตำรวจชุมพล ส่วนมือช้ายแหวกนักข่าวเพื่อเดินออกไป แต่กลุ่มนักข่าวที่กรูกันเข้ามาดังกล่าวได้กระแทกที่ตัวผู้ถูกกล่าวหา และมีกลิ่นสเปรย์พริกไทยซึ่งผู้ถูกกล่าวหาเก็บไว้ที่กระเป๋าคาดเอว ผู้ถูกกล่าวหาจึงหยิบกระป๋องสเปรย์พริกไทยออกจากกระเป๋าคาดเอว ปรากฏว่ากระป๋องสเปรย์หยุดทำงานแล้ว เนื่องจากคันกดเปิดการทำงานซึ่งถูกดันค้างอยู่กับกระเป๋าได้คลายตัวออกเป็นอิสระ กระป๋องสเปรย์พริกไทยดังกล่าวผู้ถูกกล่าวหาเคยใช้มาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2548 ที่หมู่ที่ 5 ตำบลแก่งเสี้ยน อำเภอเมืองกาญจนบุรี จังหวัดกาญจนบุรี ตัวล็อกคันกดเปิดการทำงานได้ถูกดึงออกไปเมื่อมีการใช้ในครั้งนั้นกระป๋องสเปรย์พริกไทยดังกล่าวนี้เป็นของทางราชการ เบิกมาใช้ระหว่างปฏิบัติหน้าที่จะใช้เฉพาะกรณีที่ต้องการยับยั้งบุคคลหรือสัตว์ร้ายให้หยุดปฏิกิริยาชั่วขณะ
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ถูกกล่าวหามีว่า การที่ผู้ถูกกล่าวหานำกระป๋องสเปรย์พริกไทยดังกล่าวเข้าไปในบริเวณศาลชั้นต้นเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลหรือไม่ ซึ่งผู้ถูกกล่าวหาฎีกาว่า สเปรย์พริกไทยไม่ใช่อาวุธการนำสเปรย์พริกไทยเข้าไปในบริเวณศาล ไม่เป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1 (5) อาวุธ หมายความรวมถึงสิ่งซึ่งไม่เป็นอาวุธโดยสภาพ แต่ซึ่งได้ใช้หรือเจตนาจะใช้ประทุษร้ายร่างกายถึงอันตรายสาหัสอย่างอาวุธ สำหรับสเปรย์พริกไทยได้ความว่า ผลิตขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ในการใช้ฉีดพ่นเพื่อยับยั้งบุคคลหรือสัตว์ร้ายมิให้เข้าใกล้หรือทำอันตรายผู้อื่น ผู้ที่ถูกฉีดพ่นสารในกระป๋องสเปรย์ใส่จะมีอาการสำลัก จาม ระคายเคืองหรือแสบตา หลังจากนั้นไม่นานก็สามารถหายเป็นปกติได้ เห็นได้ว่า การผลิตสเปรย์พริกไทยดังกล่าว มิได้ผลิตขึ้นเพื่อทำร้ายผู้ใด จึงไม่เป็นอาวุธโดยสภาพ ทั้งไม่อาจใช้ประทุษร้ายร่างกายถึงอันตรายสาหัสอย่างอาวุธ สเปรย์พริกไทยจึงไม่เป็นอาวุธตามความหมายของบทกฎหมายข้างต้นด้วยเช่นกัน การที่ผู้ถูกกล่าวหาเข้าไปในบริเวณศาลชั้นต้นเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามที่ผู้อำนวยการสำนักงานประจำศาลชั้นต้นขอความร่วมมือไปยังผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองกาญจนบุรี การที่ผู้ถูกกล่าวหานำกระป๋องสเปรย์พริกไทยเข้าไปในบริเวณศาลชั้นต้น จึงไม่เป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษามานั้น ศาลฎีกายังไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้ถูกกล่าวหาฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้ยกข้อกล่าวหา

Share