คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15984/2553

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีก่อน โจทก์และจำเลยที่ 1 ตกลงจะไปจดทะเบียนหย่ากันและต่างฝ่ายจะถอนฟ้องและถอนฟ้องแย้งซึ่งกันและกัน โดยศาลชั้นต้นจดข้อตกลงดังกล่าวไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาแล้ว และโจทก์จำเลยที่ 1 ได้ถอนฟ้องแล้วตามข้อตกลง แต่ต่อมาโจทก์ไม่ไปจดทะเบียนหย่า ภายหลังกลับมาฟ้องหย่าเป็นคดีนี้ ไม่ถือว่าโจทก์ฟ้องคดีนี้เป็นการฟ้องโดยใช้สิทธิโดยไม่สุจริต เพราะมีเหตุใหม่และเป็นคนละประเด็นกับคดีเดิม ปัญหาว่าโจทก์ฟ้องคดีนี้ เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตหรือไม่ เป็นปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องและเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยที่ 1 ไม่ได้ให้การต่อสู้คดีไว้ ก็มีสิทธิยกขึ้นในชั้นอุทธรณ์หรือฎีกาได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคสอง และ 249 วรรคสอง
ศาลชั้นต้นบันทึกข้อเท็จจริงหรือการกระทำใดๆ ที่เกิดขึ้นในระหว่างการนั่งพิจารณาไว้ในรายงานกระบวนพิจารณา เป็นการปฏิบัติหน้าที่ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 48 ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นบันทึกว่าโจทก์ตกลงหย่ากับจำเลยที่ 1 จึงถือไม่ได้ว่า รายงานกระบวนพิจารณาเป็นหนังสือหย่าโดยความยินยอม และผู้พิพากษาหรือผู้พิพากษาสมทบที่ลงลายมือชื่อไว้ในรายงานกระบวนพิจารณา ก็เป็นลงลายมือชื่อตามที่กฎหมายบัญญัติ ถือไม่ได้ว่าเป็นการลงลายมือชื่อในฐานะพยาน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1514 วรรคสอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าทดแทนแก่โจทก์เป็นเงิน 600,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าว นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การและฟ้องแย้งว่า ฟ้องโจทก์ในคดีนี้เป็นฟ้องซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1100/2548 ของศาลชั้นต้น โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เนื่องจากข้อพิพาทที่โจทก์นำมาฟ้องเป็นคดีนี้ได้ระงับไปตามข้อตกลงหย่าโดยความยินยอมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ตามรายงานกระบวนพิจารณา ฉบับลงวันที่ 21 มิถุนายน 2548 ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1100/2548 ของศาลชั้นต้น โจทก์มีหน้าที่ต้องไปจดทะเบียนการหย่ากับจำเลยที่ 1 ตามข้อตกลง แต่โจทก์ได้ผิดข้อตกลง ค่าทดแทนที่โจทก์เรียกร้องมาสูงเกินควร ขอให้ยกฟ้องและให้โจทก์ไปจดทะเบียนการหย่ากับจำเลยที่ 1 หากโจทก์ไม่ปฏิบัติตามขอให้ถือคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของโจทก์
จำเลยที่ 2 ให้การว่าขอให้ยกฟ้อง
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้น พิพากษาให้โจทก์กับจำเลยที่ 1 หย่ากันและให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าทดแทนแก่โจทก์เป็นเงิน 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าวนับวันถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 20 มิถุนายน 2548) เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 1,000 บาท ยกฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างจำเลยที่ 1 กับโจทก์ให้เป็นพับ
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษายืน ให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าทนายความในชั้นอุทธรณ์ 2,000 บาท แทนโจทก์
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่าในคดีนี้ โจทก์ตกลงจะไปหย่ากับจำเลยที่ 1 ต่อมาภายหลังโจทก์ไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงที่จะไปจดทะเบียนการหย่า แสดงให้เห็นถึงเจตนาที่แท้จริงของโจทก์ว่าจะไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงนั้นตั้งแต่ต้นเพียงต้องการให้จำเลยที่ 1 ถอนฟ้องในคดีดังกล่าวเท่านั้น จึงทำให้จำเลยที่ 1หลงเชื่อถอนฟ้องในคดีดังกล่าว เป็นการแสดงเจตนาไม่สุจริต เห็นว่า ปัญหาว่าเรื่องการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตเป็นปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องและเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนแม้จำเลยทั้งสองจะมิได้ให้การต่อสู้คดีไว้ จำเลยทั้งสองก็มีสิทธิยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคสอง และมาตรา 249 วรรคสอง ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยให้เป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาเห็นควรวินิจฉัยไปโดยไม่ต้องส่งสำนวนคืนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243 (1) ประกอบมาตรา 247 เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ตามรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ 21 มิถุนายน 2548 ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1100/2548 ของศาลชั้นต้น แม้จะมีบันทึกไว้ว่า โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องเนื่องจากได้ตกลงกับจำเลยแล้วว่าจะไปจดทะเบียนหย่าขาดกันในวันนี้และทนายจำเลยยื่นคำร้องขอถอนฟ้องแย้งโดยแต่ละฝ่ายไม่คัดค้านที่อีกฝ่ายขอถอนฟ้องต่อมาโจทก์ก็ไม่ได้ไป แต่โจทก์กลับมาฟ้องคดีนี้ก็หาใช่เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตไม่ เพราะมีเหตุใหม่และเป็นคนละประเด็นกัน โจทก์จึงฟ้องหย่าจำเลยที่ 1 ได้ หาใช่เรื่องโจทก์จะไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงเพียงเพื่อต้องการให้จำเลยที่ 1 ถอนฟ้องตามที่ฎีกา ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองในข้อต่อมามีว่า จำเลยที่ 1 มีอำนาจฟ้องแย้งให้โจทก์ไปจดทะเบียนการหย่าหรือไม่ ในปัญหานี้ จำเลยทั้งสองฎีกาอ้างว่า ตามรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ 21 มิถุนายน 2548 ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1100/2548 ของศาลชั้นต้น ที่มีบันทึกว่าโจทก์ตกลงจะไปหย่ากับจำเลยที่ 1 ถือว่าเป็นการหย่าโดยความยินยอมที่ได้ทำเป็นหนังสือและมีพยานลงลายมือชื่ออย่างน้อยสองคนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1514วรรคสองแล้ว เพราะไม่มีกฎหมายกำหนดว่า ผู้จะเป็นพยานในหนังสือจะต้องอยู่ในสถานะใด ดังนั้น ผู้พิพากษาสมทบของศาลชั้นต้นที่ลงลายมือชื่อในรายงานกระบวนพิจารณาฉบับดังกล่าว จึงถือว่าเป็นพยานในหนังสือหย่าโดยความยินยอมแล้ว จำเลยที่ 1 มีอำนาจฟ้องแย้งให้โจทก์ไปจดทะเบียนการหย่าได้นั้น เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 48 บัญญัติให้เป็นหน้าที่ของศาลต้องจดแจ้งรายงานการนั่งพิจารณาหรือกระบวนพิจารณาอื่น ๆ ของศาลไว้ทุกครั้ง และรายงานนั้นต้องมีข้อความโดยย่อเกี่ยวด้วยเรื่องที่กระทำและรายการข้อสำคัญอื่น ๆ และลงลายมือชื่อผู้พิพากษาไว้ด้วย ทั้งตามมาตรา 50 บัญญัติด้วยว่า ถ้าคู่ความฝ่ายใดจะต้องลงลายมือชื่อ หากเป็นการลงลายมือพิมพ์นิ้วมือ แกงได หรือเครื่องหมายอย่างอื่นที่ได้ทำต่อหน้าศาลนั้น ไม่จำต้องมีลายมือชื่อของพยานสองคนรับรอง ดังเช่นที่ได้บัญญัติไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 9 ซึ่งเห็นได้ชัดว่า รายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นเป็นเรื่องศาลชั้นต้นจะต้องทำตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ ที่ต้องลงลายมือชื่อผู้พิพากษาและรวมถึงลายมือชื่อผู้พิพากษาสมทบในคดีศาลคดีเยาวชนและครอบครัวด้วย การที่ผู้พิพากษาสมทบลงลายมือชื่อในรายงานกระบวนพิจารณาฉบับที่จำเลยทั้งสองอ้าง จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการลงลายมือชื่อเป็นพยานในหนังสือให้มีการหย่าโดยความยินยอมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1514 วรรคสองแต่อย่างใด จำเลยที่ 1 จึงไม่มีอำนาจฟ้องแย้งบังคับให้โจทก์ไปจดทะเบียนการหย่าได้ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยปัญหานี้มาชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน โจทก์ไม่แก้ฎีกา จึงไม่กำหนดค่าทนายความชั้นฎีกาให้

Share