คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1857/2554

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

แม้รถจักรยานยนต์ของกลางเป็นยานพาหนะที่ได้ใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ ซึ่งตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 102 บัญญัติให้ริบเสียทั้งสิ้นก็ตาม แต่รถจักรยานยนต์ของกลางไม่ใช่ทรัพย์สินที่กฎหมายบัญญัติไว้ว่าผู้ใดทำหรือมีไว้เป็นความผิดดังที่บัญญัติไว้ใน ป.อ. มาตรา 32 ดังนั้น เมื่อโจทก์มิได้มีคำขอให้ริบรถจักรยานยนต์ของกลาง ศาลย่อมไม่อาจสั่งริบให้ เพราะจะเป็นการพิพากษาหรือสั่งเกินคำขอ ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

คดีนี้ เดิมศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกับคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1657/2550 โดยให้เรียกจำเลยในคดีนี้ว่าจำเลยที่ 1 และเรียกจำเลยในคดีดังกล่าวว่าจำเลยที่ 2 แต่คดีสำหรับจำเลยที่ 2 ยุติไปแล้วตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น คงขึ้นมาสู่ศาลฎีกาเฉพาะคดีนี้
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 100/1, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง และวรรคสาม (2) (ที่ถูก มาตรา 15 วรรคหนึ่ง), 66 วรรคสอง, 100/1 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 จำคุก 12 ปี และปรับ 500,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 กรณีกักขังแทนค่าปรับให้กักขังเป็นเวลาไม่เกิน 2 ปี ยกฟ้องจำเลยที่ 2
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน แต่ให้ริบรถจักรยานยนต์ของกลาง
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้ร่วมจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนกับนายปัญญา คำเบิกความของพยานโจทก์ผู้ร่วมจับกุมจำเลยที่ 1 ขัดแย้งกับพยานเอกสารและความเป็นจริง ทำให้สงสัยได้ว่าจำเลยที่ 1 มีส่วนร่วมกับนายปัญญาหรือไม่ และการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนคดีนี้ยังไม่สำเร็จบริบูรณ์เพราะยังไม่ได้มีการชำระเงินค่าซื้อเมทแอมเฟตามีนของกลาง กับขอให้ลงโทษสถานเบานั้น เห็นว่า เป็นฎีกาที่เมื่อพิจารณาฎีกาทั้งฉบับแล้วกรณีไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงผลตามคำวินิจฉัยของศาลล่างทั้งสอง ฎีกาของจำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นสาระอันควรแก่การพิจารณาศาลฎีกาไม่รับคดีไว้พิจารณาพิพากษา ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 219 วรรคสอง และพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 23 วรรคหนึ่ง
อนึ่ง แม้รถจักรยานยนต์ของกลางเป็นยานพาหนะที่ได้ใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ ซึ่งตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 102 บัญญัติให้ริบเสียทั้งสิ้นก็ตาม แต่รถจักรยานยนต์ของกลางไม่ใช่ทรัพย์สินที่กฎหมายบัญญัติไว้ว่าผู้ใดทำหรือมีไว้เป็นความผิด ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32 ดังนั้น เมื่อโจทก์มิได้มีคำขอให้ริบรถจักรยานยนต์ของกลาง ศาลย่อมไม่อาจสั่งริบให้ เพราะจะเป็นการพิพากษาหรือสั่งเกินคำขอ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้ริบรถจักรยานยนต์ของกลางจึงไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้คู่ความมิได้ฎีกาศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นอ้างได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ที่ให้ริบรถจักรยานยนต์ของกลาง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1

Share