คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2029/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำให้การซัดทอดของผู้ต้องหาด้วยกันก็ดี คำเบิกความซัดทอดของผู้ที่มีพฤติการณ์เป็นผู้ร่วมกระทำความผิดแต่ พนักงานสอบสวนได้ กันไว้เป็นพยานก็ดีต่าง มีน้ำหนักน้อย เมื่อโจทก์ไม่มีพยานประกอบที่พิสูจน์ให้ฟังได้ว่าจำเลยได้กระทำผิดตามฟ้อง พยานหลักฐานโจทก์ก็ยังไม่เพียงพอให้รับฟังลงโทษจำเลยได้.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288, 289, 80, 83, 91, 32, 33 พระราชบัญญัติอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืนพ.ศ. 2490 มาตรา 4, 6, 7, 55, 72, 78 ริบลูกจรวดและเครื่องยิงจรวดของกลาง คืนรถยนต์ทั้งสองคันแก่เจ้าของ
จำเลยทั้งห้าให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา ศาลชั้นต้นอนุญาตให้นายวิรัตน์ ภัทรประสิทธิ์ผู้เสียหายเข้าเป็นโจทก์ร่วม
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งห้ามีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289, 80 พระราชบัญญัติอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืนพ.ศ. 2490 มาตรา 78 ให้ลงโทษจำคุกฐานพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนแก่จำเลยทั้งห้าคนละตลอดชีวิต และความผิดฐานมีอาวุธปืนซึ่งนายทะเบียน ไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ได้จำคุก10 ปี แต่จำเลยทั้งห้านั้นศาลได้ลงโทษจำคุกตลอดชีวิต จึงไม่นำโทษจำคุก 30 ปี (ที่ถูกน่าจะเป็น 10 ปี) มารวมอีกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91(3) แม้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 จะให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวน แต่เมื่อได้พิจารณาถึงพฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งการกระทำความผิดแล้ว เห็นว่าไม่มีเหตุอันควรที่จะลดโทษให้แต่อย่างใด ลูกจรวดและเครื่องยิงจรวดของกลางเป็นทรัพย์ที่ใช้และมีไว้เป็นความผิด จึงให้ริบเสีย
จำเลยทั้งห้าอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง ลูกจรวดและเครื่องยิงจรวดของกลางเป็นทรัพย์ที่ใช้และมีไว้เป็นความผิดจึงให้ริบส่วนรถยนต์ของกลางทั้งสองค้นคืนเจ้าของ
โจทก์และโจทก์ร่วมฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่ร้อยตำรวจตรีสุธีร์ ตรุโนภาส และพันตำรวจตรีไพศาล ยุวนิช พยานโจทก์เบิกความว่าได้ทราบจากจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ว่าจำเลยที่ 5 เป็นผู้ยิงนั้น คำขอจำเลยที่ถึงที่ 4 ก็เป็นคำซัดทอดของผู้ต้องหาด้วยกันมีน้ำหนักน้อยยังรับฟังเป็นความจริงมิได้ ส่วนคำเบิกความนายบุญเรือง ชอบใช้ ที่ว่ารู้เห็นเกี่ยวกับการที่จำเลยทั้งห้าวางแผนที่ศาลาวัดศิริมงคลหรือวัดหนองขาว และที่ร้านอาหารตวงเพชรในการที่จะเอาอาวุธจรวดไปยิงนั้น ก็ปรากฏจากคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4ว่า นายบุญเรืองได้ร่วมวางแผนเป็นผู้ควบคุมดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องนี้ด้วย และพนักงานสอบสวนได้จับกุมนายบุญเรืองมาดำเนินคดีเช่นกัน แต่ต่อมาได้กันไว้เป็นพยาน นับว่ามีพฤติการณ์เป็นผู้ร่วมกระทำความผิดด้วยจึงถือว่าเป็นคำซัดทอดของผู้ที่กระทำความผิดด้วยกันมีน้ำหนักน้อยยังรับฟังลงโทษจำเลยไม่ได้ ส่วนที่ปรากฏตามคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 2 และที่ 4 ว่าหลังเกิดเหตุจำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 ได้ขับรถไปที่สะพานขาว แล้วเอาอาวุธปืนโยนลงแม่น้ำและร้อยตำรวจตรีสุธีร์ ตรุโนภาส พยานโจทก์ว่าค้นพบชิ้นส่วนของอาวุธปืนซึ่งเป็นตัวอาวุธปืนในแม่น้ำน่าน ห่างสะพานขาวข้ามแม่น้ำน่านประมาณ 150 เมตร วัตถุที่ค้นพบเป็นท่อยิงจรวดจำเลยที่ 2 และที่ 4 เป็นผู้นำชี้ ได้ให้จำเลยที่รับสารภาพลงลายมือชื่อรับรองในบันทึกแผนที่แสดงการโยนอาวุธปืนลงแม่น้ำไว้ด้วยตามเอกสารหมาย จ.42 นั้น ก็ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 และที่ 4ได้นำสืบปฏิเสธความข้อนี้ว่าได้ลงชื่อในเอกสารต่าง ๆ และแสดงท่าให้ถ่ายภาพโดยถูกบังคับ ประกอบกับนายบุญส่ง ศรีคชชา พยานโจทก์ที่เบิกความว่าเห็นคนทิ้งของลงไปในแม่น้ำ ไม่ได้เบิกความยืนยันว่าพยานเห็นจำเลยคนใดเป็นผู้โยนของลงแม่น้ำดังกล่าว จึงยังรับฟังไม่ได้ว่ากรณีเป็นเช่นนั้นจริง และโดยเฉพาะจำเลยที่ 5 ก็ปรากฏว่าไม่ได้รับสารภาพในชั้นสอบสวน ภาพแสดงท่าจำเลยที่ 5 ยิงจรวด จำเลยที่ 5ก็ไม่ได้แสดงเอง แต่สิบตำรวจโทวิรัชเป็นผู้แสดงแทนจึงยังรับฟังไม่ได้มั่นคงว่าจำเลยที่ 5 เป็นผู้ยิงและร่วมกระทำผิดด้วย ส่วนที่โจทก์และโจทก์ร่วมฎีกาว่า พฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ที่ไม่ยอมหยุดรถให้ตำรวจสายตรวจบ้านไร่ตรวจจนกระทั่งทางสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองพิจิตรได้วิทยุแจ้งให้ตำรวจสายตรวจที่สี่แยกปลวกสูง อำเภอสามง่าม สกัดรถที่จำเลยทั้งสี่ขับมา และใช้อาวุธปืนจี้จับจำเลยทั้งสี่ไว้ได้ จึงน่าเชื่อว่าเป็นคนร้ายนั้นเห็นว่า ลำพังแต่มีพฤติการณ์ดังกล่าวยังไม่พอให้รับฟังเป็นความจริงว่าจำเลยทั้งสี่เป็นคนร้ายรายนี้ เมื่อกล่าวโดยสรุปแล้วศาลฎีกาเห็นว่า พยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมยังไม่มั่นคงพอให้ฟังได้ว่าจำเลยทั้งห้าได้กระทำผิดตามฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาโจทก์และโจทก์ร่วมฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.

Share