แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 ถึง ที่ 4 ให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนว่าได้ ร่วมวางแผนกับนาย บ และสั่งให้จำเลยที่ 5 ไปยิงโจทก์ร่วมคำ ของ จำเลยที่ 1 ถึง ที่ 4 จึงเป็นคำซัดทอดของผู้ต้องหาด้วย กันมีน้ำหนักน้อยยังรับฟังเป็นความจริงไม่ได้ ส่วนคำเบิกความของนาย บที่ว่ารู้เห็นเกี่ยวกับจำเลยทั้งห้าวางแผนที่ศาลา วัดศิริมงคล และร้านอาหารตวงเพชรในการที่จะเอาอาวุธจรวด ไปยิงโจทก์ร่วม ก็ปรากฏจากคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 ถึง ที่ 4 ว่านาย บได้ ร่วมวางแผนเป็นผู้ควบคุมดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องนี้ และพนักงานสอบสวนได้ จับกุมนาย บ มาดำเนินคดีเช่นกัน แต่ ต่อมาได้ กันไว้เป็นพยาน นับว่ามีพฤติการณ์เป็นผู้ร่วมกระทำผิดด้วยถือ ว่าเป็นคำซัดทอดของผู้กระทำผิดด้วย กัน มีน้ำหนักน้อย ยังรับฟังลงโทษจำเลยไม่ได้.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งห้าตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา288, 289, 80, 83, 91, 32, 33 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2526 มาตรา 4 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 4, 6, 7, 55, 72, 78 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 6, 8 คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 44 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2519 ข้อ 6กฎกระทรวง ฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2522) ออกตามความในพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 ลงวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2522 ข้อ 2, 3 ริบลูกจรวดและเครื่องยิงจรวดของกลาง คืนรถยนต์ทั้งสองคันแก่เจ้าของ
จำเลยทั้งห้าให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา ศาลชั้นต้นอนุญาตให้นายวิรัตน์ ภัทรประสิทธิ์ผู้เสียหายเข้าเป็นโจทก์ร่วม
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งห้ามีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289, 80 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2526 มาตรา 4 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 78 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน (ฉบับที่ 7)พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 6, 8 คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินฉบับที่ 44 ลงวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ข้อ 6 กฎกระทรวงฉบับที่11 (พ.ศ. 2522) ออกตามความในพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนวัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 ลงวันที่1 กรกฎาคม 2522 ข้อ 2, 3 ให้ลงโทษจำคุกพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนแก่จำเลยทั้งห้าคนละตลอดชีวิต และความผิดฐานมีอาวุธปืนซึ่งนายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ได้จำคุก 10 ปี แต่จำเลยทั้งห้านั้นศาลได้ลงโทษจำคุกตลอดชีวิต จึงไม่นำโทษจำคุก 30 ปี (ที่ถูกน่าจะเป็น 10 ปี) มารวมอีกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91(3) แม้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 จะให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวน แต่เมื่อได้พิจารณาถึงพฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งการกระทำความผิดแล้ว เห็นว่าไม่มีเหตุอันควรที่จะลดโทษให้แต่อย่างใด ลูกจรวดและเครื่องยิงจรวดของกลางเป็นทรัพย์ที่ใช้และมีไว้เป็นความผิด จึงให้ริบเสีย
จำเลยทั้งห้าอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง ลูกจรวดและเครื่องยิงจรวดของกลางเป็นทรัพย์ที่ใช้และมีไว้เป็นความผิดจึงให้ริบ ส่วนรถยนต์ของกลางทั้งสองคันคืนเจ้าของ
โจทก์และโจทก์ร่วมฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ได้ความว่า ในวันเกิดเหตุตามฟ้องโจทก์เวลา 23.30 นาฬิกา ได้มีคนร้ายใช้อาวุธจรวดยิงถูกบริเวณชั้น 3 ด้านข้างของอาคารที่ทำการบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เจ้าพระยา จำกัด สาขาพิจิตร ซึ่งนายวิรัตน์ ภัทรประสิทธิ์ โจทก์ร่วมและนางวิไลลักษณ์ภริยาโจทก์ร่วมพักอาศัยอยู่ คดีมีปัญหาจะต้องวินิจฉัยว่าจำเลยทั้งห้าได้ร่วมกระทำความผิดตามฟ้องโจทก์หรือไม่ที่โจทก์และโจทก์ร่วมฎีกาว่า คำเบิกความของนายบุญเรือง ชอบใช้ซึ่งเห็นจำเลยทั้งห้าและนายบุญส่ง สิทธิน้อย ได้ร่วมวงดื่มสุรากันก่อนเกิดเหตุ และได้ยินนายบุญส่งพูดว่าให้จำเลยที่ 5 เป็นคนยิงนั้นเป็นพยานหลักฐานมั่นคงว่าจำเลยทั้งห้าและนายบุญส่ง สิทธิน้อยร่วมกันกระทำความผิดคดีนี้ ซึ่งสอดคล้องกับคำเบิกความนายประสิทธิอินทรโอภาส และนางสาวสุกัญญา อรรถวิเวก พยานโจทก์ นอกจากนี้มีนายสมพงษ์ ลีบาง จำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 ได้ว่า ได้นั่งรถคันสีแดงผ่านไปยังบริเวณที่เกิดเหตุก่อนจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 จะถูกจับกุมที่ด่านปลวกสูง จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ก็พยายามจะหลบหนี และในชั้นสอบสวนจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ได้ให้การรับสารภาพนั้น ในข้อนี้นายสมพงษ์ ลีบาง พยานโจทก์ซึ่งอ้างว่าเห็นเหตุการณ์ขณะเกิดเหตุเบิกความว่า ก่อนเกิดเหตุพยานกลับจากเที่ยวซ่องโสเภณี ขณะเกิดเหตุเป็นเวลา 23.30 นาฬิกา มีแสงสว่างจากร้านค้าและเสาไฟฟ้าเปิดอยู่ข้างถนน เห็นชายคนนั่งท้ายรถกะบะสีแดงยกวัตถุกลมยาวประมาณ 2 ฟุตขึ้นพาดบ่าเล็งไปทางบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เจ้าพระยา จำกัด สาขาพิจิตร แล้วมีเสียงดังตูมคล้ายระเบิด พยานยืนดูอยู่ห่างประมาณ 20เมตร และตอบถามค้านว่าเห็นในรถเนื่องจากขณะที่พยานเดินนั้นมีแสงไฟส่องจากรถมาที่ตัวพยานเป็นเวลานาน พยานจึงหันไปมองดู ตอนหันไปดูไฟรถได้ส่องหน้าพยาน พยานไม่เห็นคนนั่งท้าย เห็นว่า พยานอยู่ห่างประมาณ 20 เมตร และถูกแสงไฟส่องหน้าด้วย พยานไม่รู้จักคนทั้งสามที่นั่งอยู่บนรถนั้นมาก่อน ไม่น่าเชื่อว่าจะจำคนร้ายได้ และเชื่อว่าในบริเวณที่เกิดเหตุไม่มีแสงไฟจากร้านค้าสว่างเพียงพอ เพราะเป็นเวลาดึกที่อาคารร้านค้าต่าง ๆ ซึ่งอยู่ใกล้ที่เกิดเหตุต้องปิดร้านหมดแล้ว ส่วนแสงไฟอยู่บนถนนก็เชื่อว่าไม่สว่างพอที่จะทำให้นายสมพงษ์จำคนร้ายได้ ทั้งได้ความจากพันตำรวจตรีไพศาล ยุวนิช พนักงานสอบสวนพยานโจทก์ว่า สายสืบซึ่งเป็นชาวบ้านเป็นผู้ติดต่อให้นายสมพงษ์มาพบจึงทำให้เป็นข้อเคลือบแคลงสงสัย ไม่เชื่อว่านายสมพงษ์จะได้เห็นเหตุการณ์ตอนคนร้ายยิงจริง ที่ร้อยตำรวจตรีสุธีร์ ตรุโนภาสและพันตำรวจตรีไพศาล ยุวนิช พยานโจทก์เบิกความว่า ได้ทราบจากจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ว่าจำเลยที่ 5 เป็นผู้ยิงนั้น คำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ก็เป็นคำซัดทอดของผู้ต้องหาด้วยกันมีน้ำหนักน้อยยังรับฟังเป็นความจริงมิได้ ส่วนคำเบิกความนายเรือง ชอบใช้ ที่ว่ารู้เห็นเกี่ยวกับการที่จำเลยทั้งห้าวางแผนที่ศาลาวัดศิริมงคลหรือวัดหนองขาวและที่ร้านอาหารตวงเพชรในการที่จะเอาอาวุธจรวดไปยิงนั้น ก็ปรากฏจากคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ว่า นายบุญเรืองได้ร่วมวางแผนเป็นผู้ควบคุมดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องนี้ด้วย และพนักงานสอบสวนได้จับกุมนายบุญเรืองมาดำเนินคดีเช่นกันแต่ต่อมาได้กันไว้เป็นพยาน นับว่ามีพฤติการณ์เป็นผู้ร่วมกระทำความผิดด้วยจึงถือว่าเป็นคำซัดทอดของผู้ที่กระทำความผิดด้วยกันมีน้ำหนักน้อยยังรับฟังลงโทษจำเลยไม่ได้ ส่วนที่ปรากฏตามคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 2 และที่ 4 ว่าหลังเกิดเหตุจำเลยที่ 2 และที่ 4 และที่5 ได้ขับรถไปที่สะพานขาว แล้วเอาอาวุธปืนโยนลงแม่น้ำ และร้อยตำรวจตรีสุธีร์ ตรุโนภาส พยานโจทก์ว่าค้นพบชิ้นส่วนของอาวุธปืนซึ่งเป็นตัวอาวุธปืนในแม่น้ำน่าน ห่างสะพานขาวข้ามแม่น้ำน่านประมาณ150 เมตร วัตถุที่ค้นพบเป็นท่อยิงจรวด จำเลยที่ 2 และที่ 4 เป็นผู้นำชี้ ได้ให้จำเลยที่รับสารภาพลงลายมือชื่อรับรองในบันทึกแผนที่แสดงการโยนอาวุธปืนลงแม่น้ำไว้ด้วยตามเอกสารหมาย จ.42 นั้นก็ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 และที่ 4 ได้นำสืบปฏิเสธความข้อนี้ ได้ลงชื่อในเอกสารต่าง ๆ และแสดงท่าให้ถ่ายภาพโดยถูกบังคับ ประกอบกับนายบุญส่ง ศรีคชชา พยานโจทก์ที่เบิกความว่าเห็นคนทิ้งของลงในแม่น้ำไม่ได้เบิกความยืนยันว่าพยานเห็นจำเลยคนใดเป็นผู้โยนของลงแม่น้ำดังกล่าว จึงยังรับฟังไม่ได้ว่ากรณีเป็นเช่นนั้นจริง และโดยเฉพาะจำเลยที่ 5 ก็ปรากฏว่าไม่ได้รับสารภาพในชั้นสอบสวน ภาพแสดงท่าจำเลยที่ 5 ยิงจรวด จำเลยที่ 5 ก็ไม่ได้แสดงเอง แต่สิบตำรวจโทวิรัชเป็นผู้แสดงแทน จึงยังรับฟังไม่ได้มั่นคงว่าจำเลยที่ 5 เป็นผู้ยิงและร่วมกระทำผิดด้วย ส่วนที่โจทก์และโจทก์ร่วมฎีกาว่าพฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ที่ไม่ยอมหยุดรถให้ตำรวจสายตรวจบ้านไร่ตรวจจนกระทั่งทางสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองพิจิตรได้วิทยุแจ้งให้ตำรวจสายตรวจที่สี่แยกปลวกสูง อำเภอสามง่าม สกัดรถที่จำเลยทั้งสี่ขับมา และใช้อาวุธปืนจี้จับจำเลยทั้งสี่ไว้ได้ จึงน่าเชื่อว่าเป็นคนร้ายนั้นเห็นว่า ลำพังแต่มีพฤติการณ์ดังกล่าวยังไม่พอให้รับฟังเป็นความจริงว่าจำเลยทั้งสี่เป็นคนร้ายรายนี้ เมื่อกล่าวโดยสรุปแล้ว ศาลฎีกาเห็นว่า พยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมยังไม่มั่นคงพอให้ฟังได้ว่าจำเลยทั้งห้าได้กระทำผิดตามฟ้อง…”
พิพากษายืน.