คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2025/2535

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ท.ด.และต. พยานโจทก์ทั้งสามปากต่างยืนยันว่าจำกระบือของโจทก์ร่วมได้ เพราะมีตำหนิพิเศษคือเดินขาหลังข้างขวาเป๋แต่ไม่ปรากฏว่าพยานทั้งสามได้รีบบอกเรื่องที่เห็นจำเลยจูงกระบือดังกล่าวไปให้โจทก์ร่วม หรือ น. ซึ่งเป็นผู้รับฝากกระบือของโจทก์ร่วมไว้ทราบ หากแต่บอกเมื่อเวลาล่วงเลยหลังเกิดเหตุแล้วหลายเดือน และข้อเท็จจริงปรากฏว่า ท. พยานโจทก์อยู่บ้านใกล้กับน. ข้ออ้างของ ท. ว่าเหตุที่ไม่แจ้งให้ น. ทราบในวันเกิดเหตุเพราะกลัวมีภัยนั้นไม่สมเหตุผล สำหรับ ด.และต. พยานโจทก์ก็ไม่เคยให้การไว้ในชั้นสอบสวน ทำให้มีเหตุระแวงว่าจะเห็นจำเลยจริงหรือไม่ อีกทั้งชั้นจับกุมและสอบสวนจำเลยให้การปฏิเสธตลอดมาพยานโจทก์ไม่มั่นคงพอที่จะฟังลงโทษจำเลย ต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 227 วรรคสอง.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ได้มีคนร้ายหลายคนเข้าไปในบริเวณบ้านพักอาศัยของนายน้อย พรโพนทอง แล้วลักเอากระบือ 1 ตัว ซึ่งเป็นสัตว์ที่มีไว้ประกอบกสิกรรมทำนาของนายอนงค์ เทพทองพูน ผู้เสียหายผู้มีอาชีพกสิกรรมทำนาไป และตามวันเวลาดังกล่าวภายหลังจากทรัพย์หายแล้ว มีผู้พบเห็นจำเลยกับพวกที่ยังไม่ได้ตัวมาฟ้องได้ร่วมกันครอบครองกระบือของผู้เสียหายที่ถูกคนร้ายลักไป ทั้งนี้จำเลยกับพวกที่ยังไม่ได้ตัวมาฟ้องได้ร่วมกันลักเอากระบือของผู้เสียหายไปหรือมิฉะนั้นจำเลยกับพวกได้ร่วมกันรับเอาไว้และช่วยพาเอาไปเสียซึ่งกระบือ 1 ตัว ของผู้เสียหายที่ถูกคนร้ายลักไปโดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำผิดฐานลักทรัพย์ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335, 357, 83 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2525 มาตรา 11 และให้จำเลยคืนกระบือจำนวน 1 ตัว หรือใช้ราคาทรัพย์จำนวน 6,500 บาทแก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นายอนงค์ เทพทองพูน ผู้เสียหายขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 357 จำคุก 3 ปี และให้จำเลยคืนกระบือ 1 ตัว หรือใช้ราคา6,500 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ โจทก์ร่วมฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2530 เวลาประมาณ 2 นาฬิกา มีคนร้ายลักกระบือ 1 ตัว ของโจทก์ร่วมที่ฝากนายน้อย พรโพนทอง เลี้ยงไปจากคอกนายน้อยได้ออกติดตามแต่ไม่พบ จึงแจ้งความต่อผู้ใหญ่บ้านและบอกให้โจทก์ร่วมทราบ มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์และโจทก์ร่วมว่าจำเลยกระทำความผิดฐานรับของโจรหรือไม่ โจทก์และโจทก์ร่วมมีพยานที่เบิกความว่าเห็นจำเลยนำกระบือของโจทก์ร่วมไปในคืนวันเกิดเหตุรวม 3 ปาก คือ นายทองม้วน อุดมลาภ ว่า คืนเกิดเหตุเวลาประมาณ 3 นาฬิกา พยานนอนเฝ้าบ่อปลาได้ยินเสียงสุนัขเห่าได้ฉายไฟฉายดูเห็นจำเลยกับพวก 1 คน จูงกระบือของโจทก์ร่วมผ่านข้างบ่อปลาห่างประมาณ 15 เมตร ต่อมาวันที่ 13 ตุลาคม 2530พยานได้บอกให้โจทก์ร่วมทราบ นายดอนโพธิ์ชัย สีกองคาม และนายเตือน บัวทอง เบิกความว่า คืนเกิดเหตุเวลาประมาณ 5 นาฬิกานายดอนโพธิ์ชัยและนายเตือนกำลังขับรถยนต์ได้ชะลอรถให้จำเลยกับพวก 1 คน จูงกระบือของโจทก์ร่วมข้ามถนนไป นายเตือนได้สอบถามจำเลยว่าเอากระบือมาจากไหนแต่เช้า จำเลยตอบว่าซื้อมาจากบ้านเก่าต่อมาเดือนพฤศจิกายน 2530 นายดอนโพธิ์ชัยและนายเตือนไปเก็บค่าลูกเป็ดจากนายน้อยและทราบว่ากระบือหายไปจึงเล่าเรื่องที่เห็นจำเลยจูงกระบือให้นายน้อยทราบ เห็นว่า พยานโจทก์ทั้งสามปากต่างยืนยันว่าจำกระบือของโจทก์ร่วมได้เพราะมีตำหนิพิเศษคือขาหลังข้างขวาเป๋ แต่ไม่ปรากฏว่าพยานทั้งสามได้รีบบอกเรื่องที่เห็นให้โจทก์ร่วมหรือนายน้อยทราบ หากแต่บอกเมื่อเวลาล่วงเลยหลังเกิดเหตุแล้วถึง 3 และ 4 เดือน ตามลำดับ และข้อเท็จจริงปรากฏว่านายทองม้วนอยู่บ้านเรือนใกล้กับนายน้อย ข้ออ้างของนายทองม้วนว่าเหตุที่ไม่แจ้งให้นายน้อยทราบในวันเกิดเหตุเพราะกลัวมีภัยนั้น ไม่สมเหตุผล สำหรับนายดอนโพธิ์ชัยและนายเตือนก็มิได้เคยให้การชั้นสอบสวนไว้แต่อย่างใด ทำให้มีเหตุระแวงว่าจะเห็นจำเลยจริงหรือไม่ ชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนจำเลยให้การปฏิเสธตลอดมา พยานหลักฐานโจทก์ไม่มั่นคงที่จะฟังลงโทษจำเลย ต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 227 วรรคสอง…”
พิพากษายืน.

Share