แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนพกสั้นออโตเมติกขนาด .45 ใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนดังกล่าวจึงใช้ได้แต่เฉพาะอาวุธปืนกระบอกที่ระบุไว้ในใบอนุญาตนั้นเท่านั้น จะนำไปใช้กับอาวุธปืนกระบอกอื่นไม่ได้ จำเลยจึงไม่อาจที่จะมีอาวุธปืนกระบอกอื่นและกระสุนปืนซึ่งมิใช่สำหรับใช้กับอาวุธปืนที่จำเลยได้รับอนุญาตให้มีและใช้ไว้ในความครอบครองได้ แม้ผู้อื่นจะลืมอาวุธปืนไว้ในรถของจำเลย จำเลยก็ควรจะครอบครองอาวุธปืนนั้นเพียงเพื่อไม่ให้หายเท่านั้น แต่จำเลยกลับพกอาวุธปืนดังกล่าวไว้กับตัวซึ่งแสดงให้เห็นได้ว่าจำเลยมีอาวุธปืนนั้นเพื่อใช้ มิได้มีไว้ในความครอบครองเพื่อไม่ให้หาย จำเลยจึงมีความผิดฐานมีอาวุธปืนและกระสุนปืนไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ที่จำเลยอ้างว่าปฏิบัติหน้าที่ราชการตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชานั้นไม่เป็นข้อยกเว้นให้จำเลยมีอาวุธปืนและกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนท้องที่ซึ่งเป็นบทบัญญัติของกฎหมายได้ แม้การปฏิบัติหน้าที่ราชการตามคำสั่งนั้นมีความจำเป็นที่จะต้องใช้อาวุธปืนดังที่จำเลยอ้างก็ตาม จำเลยซึ่งเป็นตำรวจพกพาอาวุธปืนกระบอกที่ไม่ได้รับใบอนุญาตให้มีติดตัว เนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ราชการตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาและถูกจับกุมในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานพาอาวุธปืนตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯพ.ศ. 2490 มาตรา 8(ทวิ) วรรคสาม (1)
ย่อยาว
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับจำเลยทั้งสามมีความผิดตามฟ้องให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3ตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 72 ซึ่งแก้ไขแล้วจำคุกคนละ 1 ปีและลงโทษจำเลยที่ 1 ที่ 3 ตามมาตรา 8 ทวิ, 72 ทวิซึ่งแก้ไขแล้วและประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 แต่ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ พ.ศ. 2490 ซึ่งเป็นบทหนักตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 และลงโทษจำเลยที่ 2 ตามมาตรา 8 ทวิ,72 ทวิ ซึ่งแก้ไขแล้ว จำคุกคนละ 6 เดือน รวมโทษจำคุกคนละ 1 ปี6 เดือน คืนของกลางในสำนวนคดีหมายเลขแดงที่ 428/2527 แก่เจ้าของริบเครื่องกระสุนปืนของกลางคดีหมายเลขแดงที่ 429/2527 และริบของกลางคดีหมายเลขแดงที่ 430/2527 จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาตามที่โจทก์ฟ้องในข้อแรกว่า จำเลยทั้งสามกระทำความผิดฐานมีอาวุธปืนและกระสุนปืนของกลางโดยไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนท้องที่หรือไม่ พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบถึงการกระทำของจำเลยที่ 1 ได้ความว่า จำเลยที่ 1มีอาวุธปืนรีวอลเวอร์ขนาด .38 หมายเลขทะเบียน พง.1/742 ของนายบุญสิน โชติสุวรรณ พร้อมกระสุนปืนจำนวน 6 นัดไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนท้องที่ และเจ้าหน้าที่ตำรวจค้นพบอาวุธปืนและกระสุนปืนดังกล่าวที่ตัวจำเลย ปัญหาข้อนี้จำเลยยอมรับว่าอาวุธปืนและกระสุนปืนของกลางนั้นอยู่ในความครอบครองของจำเลย เหตุที่จำเลยครอบครองอาวุธปืนและกระสุนปืนดังกล่าวเนื่องจากนายบุญสิน โชติสุวรรณ เจ้าของปืนและกระสุนปืนของกลางได้ลืมทิ้งไว้ในรถของจำเลย เมื่อจำเลยนำรถไปเขาปิหลายเพื่อให้ความคุ้มครองแก่นายรุ่งฤทธิ์ จำเลยจึงได้นำอาวุธปืนและกระสุนปืนของนายบุญสินติดตัวไปด้วย จำเลยได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนพกสั้นออโตเมติกขนาด .45 ตามเอกสารหมาย ล.1นั้น เห็นว่าใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนตามเอกสารหมาย ล.1ดังกล่าวใช้ได้แต่เฉพาะอาวุธปืนกระบอกที่ระบุไว้ในใบอนุญาตนั้นเท่านั้น จำเลยจะนำใบอนุญาตดังกล่าวไปใช้กับอาวุธปืนกระบอกอื่นไม่ได้ เมื่อจำเลยไม่ได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนของกลางจำเลยจึงไม่อาจที่จะมีอาวุธปืนของกลางไว้ในความครอบครองได้และกระสุนปืนขนาด .38 ของกลางจำนวน 6 นัดนั้นก็เป็นกระสุนปืนซึ่งมิใช่สำหรับใช้กับอาวุธปืนขนาด .45 ที่จำเลยได้รับอนุญาตให้มีและใช้ จำเลยจึงไม่อาจที่จะมีกระสุนปืนของกลางไว้ในความครอบครองได้ ที่จำเลยอ้างว่านายบุญสินลืมปืนของกลางไว้ในรถของจำเลย จำเลยจึงนำอาวุธปืนดังกล่าวติดตัวไปนั้น เห็นว่าถึงแม้นายบุญสินจะลืมอาวุธปืนของกลางไว้ในรถของจำเลยดังที่จำเลยกล่าวอ้างก็ตาม จำเลยก็ควรจะครอบครองอาวุธปืนของกลางนั้นเพียงเพื่อไม่ให้หายเท่านั้น แต่ตามบันทึกการจับกุมเอกสารหมาย จ.3 ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจพบจำเลยกำลังพกอาวุธปืนของกลางไว้ที่ตัว ซึ่งแสดงให้เห็นได้ว่าจำเลยมีอาวุธปืนของกลางเพื่อใช้ มิได้มีไว้ในความครอบครองเพื่อไม่ให้หาย คดีฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานมีอาวุธปืนและกระสุนปืนของกลางไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนท้องที่ดังที่โจทก์ฟ้อง
ส่วนการกระทำความผิดของจำเลยที่ 2 นั้นพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบ ได้ความว่า จำเลยที่ 2 มีอาวุธปืนพกรีวอลเวอร์ขนาด .357 ซึ่งเป็นอาวุธปืนของกลางซึ่งศาลสั่งให้ริบและอยู่ในความครอบครองของทางราชการกองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดพังงาจากพยานหลักฐานดังกล่าวฟังได้ว่าอาวุธปืนของกลางนั้นไม่ใช่อาวุธปืนของทางราชการตำรวจตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯซึ่งแก้ไขแล้วแต่เป็นอาวุธปืนตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ดังที่โจทก์ฟ้อง นอกจากนี้แล้วจำเลยยังได้มีกระสุนปืนขนาด .357 และ .38 รวม 18 นัดไว้ในความครอบครอง โดยไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนท้องที่อีกด้วย เจ้าหน้าที่ตำรวจค้นพบอาวุธปืนและกระสุนปืนดังกล่าวที่ตัวจำเลย ปัญหาข้อนี้จำเลยยอมรับว่าจำเลยได้ยืมอาวุธปืนของกลางดังกล่าวจากจ่าสิบตำรวจไสว เพชรรัตน์ ซึ่งมีหน้าที่เก็บรักษาปืนของกลางที่ศาลมีคำสั่งให้ริบแล้ว เพราะจำเลยไม่อาจนำอาวุธปืนของจำเลยซึ่งจำเลยได้รับอนุญาตให้มีและใช้ ไปใช้ในการปฏิบัติหน้าที่ราชการได้เนื่องจากภรรยาจำเลยปิดประตูใส่กุญแจบ้านไว้ จำเลยได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนรีวอลเวอร์ขนาด .38 ตามเอกสารหมาย ล.4นั้น เห็นว่า ใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนตามเอกสารหมาย ล.4ใช้ได้แต่เฉพาะอาวุธปืนกระบอกที่ระบุไว้ในใบอนุญาตนั้นเท่านั้นจำเลยจะนำใบอนุญาตดังกล่าวไปใช้กับอาวุธปืนของกลางซึ่งอยู่ในความครอบครองดูแลของทางราชการไม่ได้ จำเลยจึงไม่อาจที่จะมีอาวุธปืนของกลางไว้ในความครอบครองได้ ที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยมีกระสุนปืนขนาด .357 และ .38 รวม 18 นัดนั้น ตามฟ้องไม่ปรากฏรายละเอียดว่าเป็นกระสุนปืนขนาด .357 และ .38 อย่างละกี่นัดในทางพิจารณาก็ไม่ได้ความว่ากระสุนปืนขนาดใดมีจำนวนเท่าใดจำเลยได้รับอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนขนาด .38 กระสุนปืนของกลางที่เป็นกระสุนปืนขนาด .38 จึงเป็นกระสุนปืนที่ใช้กับอาวุธปืนที่จำเลยได้รับอนุญาตให้มี และใช้ได้ การที่จำเลยมีกระสุนปืนของกลางขนาด .38 ไว้ในความครอบครองจึงไม่เป็นความผิด ส่วนกระสุนปืนของกลางขนาด .357 เป็นกระสุนปืนซึ่งมิใช่สำหรับใช้กับอาวุธปืนที่จำเลยได้รับอนุญาตให้มีและใช้ จำเลยจึงมีความผิดในฐานมีกระสุนปืนของกลางขนาด .357 ไว้ในความครอบครอง ตามบันทึกการจับกุมเอกสารหมาย จ.2 ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจพบจำเลยกำลังพกอาวุธปืนของกลาง คดีจึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 กระทำความผิดฐานมีอาวุธปืนและกระสุนปืนขนาด .357 ของกลางไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนท้องที่ ดังที่โจทก์ฟ้อง
การกระทำความผิดของจำเลยที่ 3 ได้ความจากพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบว่า จำเลยที่ 3 ได้มีอาวุธปืนรีวอลเวอร์ขนาด .357 ซึ่งไม่มีหมายเลขทะเบียนของเจ้าพนักงานประทับ ไว้ในความครอบครอง พร้อมทั้งกระสุนปืนขนาด .357 จำนวน 4 นัด ขนาด .38 จำนวน 2 นัดปัญหาข้อนี้จำเลยยอมรับว่าได้ครอบครองอาวุธปืนและกระสุนปืนดังกล่าวเนื่องจากจำเลยไม่มีอาวุธปืนและวันนั้นเป็นวันอาทิตย์เจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งเก็บรักษาอาวุธปืนของทางราชการตำรวจไม่อยู่ จำเลยจึงไม่อาจเบิกอาวุธปืนไปใช้ได้ จึงขอยืมอาวุธปืนของกลางจากนายเอียดคนรู้จักเพื่อนำไปใช้ในการจับกุมคนร้ายนั้น เห็นว่าข้ออ้างดังกล่าวไม่เป็นเหตุให้จำเลยพ้นผิดฐานครอบครองอาวุธปืนซึ่งจำเลยไม่ได้รับอนุญาตให้มีและใช้ได้ ที่จำเลยอ้างว่าได้รับใบอนุญาตให้ซื้ออาวุธปืนตามเอกสารหมาย ล.2 นั้นก็ไม่ได้ทำให้จำเลยที่ 3 มีอาวุธปืนของกลางไว้ในความครอบครองได้
ที่จำเลยทั้งสามต่อสู้อย่างเดียวกันว่า ได้รับคำสั่งจากผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดพังงา ให้ไปคุ้มครองนายรุ่งฤทธิ์ในการให้ความคุ้มครองนั้นจำเป็นต้องมีอาวุธปืน จำเลยแต่ละคนจึงได้นำอาวุธปืนและกระสุนปืนของกลางไปใช้ในการปฏิบัติหน้าที่ราชการให้ความคุ้มครองแก่นายรุ่งฤทธิ์ นั้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยทั้งสามได้ปฏิบัติหน้าที่ราชการในการให้ความคุ้มครองแก่นายรุ่งฤทธิ์ดังที่จำเลยต่อสู้ เพราะในการนำสืบของโจทก์นั้น โจทก์ได้นำพันตำรวจเอกสุนทร ซ้ายขวัญ ผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดพังงา ผู้ออกคำสั่งให้จำเลยทั้งสามไปคุ้มครองให้ความปลอดภัยแก่นายรุ่งฤทธิ์มาเบิกความต่อศาลว่าได้สั่งให้จำเลยทั้งสามปฏิบัติหน้าที่ราชการดังกล่าวจริง เมื่อการนำสืบของโจทก์เจือสมกับข้อต่อสู้ของจำเลยจึงไม่มีเหตุที่จะไม่เชื่อว่าผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดพังงาไม่ได้ออกคำสั่งดังที่จำเลยทั้งสามต่อสู้คดีตามที่ศาลอุทธรณ์ยกขึ้นมาวินิจฉัย แต่การปฏิบัติหน้าที่ราชการตามคำสั่งของผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดพังงานั้นไม่เป็นข้อยกเว้นให้จำเลยทั้งสามมีอาวุธปืนและกระสุนปืนไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนท้องที่ ซึ่งเป็นบทบัญญัติของกฎหมายได้ แม้การปฏิบัติหน้าที่ราชการตามคำสั่งนั้นมีความจำเป็นที่จะต้องใช้อาวุธปืนดังที่จำเลยทั้งสามต่อสู้คดีก็ตาม แต่จำเลยทั้งสามก็อาจจะมีและใช้อาวุธปืนโดยชอบด้วยกฎหมายในการปฏิบัติหน้าที่ราชการได้โดยเบิกอาวุธปืนของทางราชการตำรวจตามระเบียบแบบแผนของทางราชการ หรือมิฉะนั้นก็นำอาวุธปืนของจำเลยซึ่งได้รับอนุญาตให้มีและใช้จากนายทะเบียนท้องที่ไปใช้ในการปฏิบัติหน้าที่ราชการนั้น ข้อต่อสู้ของจำเลยทั้งสามในการมีอาวุธปืนและกระสุนปืนของกลางจึงฟังไม่ขึ้น
ปัญหาข้อต่อไปที่ว่า จำเลยทั้งสามได้กระทำความผิดฐานพาอาวุธปืนและกระสุนปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน และทางสาธารณะหรือไม่นั้น ข้อเท็จจริงได้ความตามที่โจทก์นำสืบว่าพันตำรวจเอกสุนทร ซ้ายขวัญ ผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดพังงา ได้สั่งให้จำเลยทั้งสามไปคุ้มกันและส่งนายรุ่งฤทธิ์จากจังหวัดพังงาไปจนถึงบ้านนายรุ่งฤทธิ์ที่บริเวณเขาปิหลาย เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจไปทำการตรวจค้นบ้านนายรุ่งฤทธิ์ และพบจำเลยทั้งสามพกอาวุธปืนที่บ้านดังกล่าวในวันเดียวกับวันที่จำเลยทั้งสามได้รับคำสั่งจากผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดพังงาดังกล่าวแล้ว จึงเห็นได้ว่าจำเลยทั้งสามพกพาอาวุธปืนเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ราชการตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา และถูกจับกุมในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่การกระทำของจำเลยทั้งสามจึงไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ พ.ศ. 2490 มาตรา 8 ทวิ วรรคสาม (1) ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสามในความผิดฐานนี้ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสามฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องในความผิดฐานพาอาวุธปืนตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ พ.ศ. 2490 มาตรา 8 ทวิ, 72 ทวิ ที่แก้ไขแล้วไม่ริบกระสุนปืนขนาด .38 ของกลาง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ แต่เห็นว่าจำเลยทั้งสามกระทำความผิดเพราะมีความประสงค์ที่จะปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาและไม่ปรากฏว่าได้รับโทษจำคุกมาก่อน จึงให้รอการลงโทษไว้ 1 ปี