คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2022/2528

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 5 เป็นห้างหุ้นส่วนจำกัดเป็นเจ้าของและผู้ครอบครองรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุจำเลยที่ 4 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 5 จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยที่ 4 ได้ขับรถยนต์บรรทุกไปในทางการที่จ้างหรือตามคำสั่งของจำเลยที่ 4 ชนรถโจทก์เสียหายดังนี้คำฟ้องของโจทก์ย่อมมีความหมายว่า จำเลยที่ 4 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 5 เป็นเพียงผู้แทนของจำเลยที่ 5 ซึ่งเป็นนิติบุคคลเท่านั้น ซึ่งพอเข้าใจว่าจำเลยที่1เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 5 และได้ขับรถยนต์บรรทุกไปในทางการที่จ้างหรือตามคำสั่งของห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 5 โดยจำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการทำแทน จึงเป็นคำฟ้องที่ให้จำเลยที่ 5 รับผิดในฐานะนายจ้างหรือตัวการของจำเลยที่ 1ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 425 และ มาตรา 820 แล้ว
การที่จำเลยที่ 4 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 5และศาลกะประเด็นข้อพิพาทว่า การที่จำเลยที่ 1 ขับรถก่อการละเมิดในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 4 หรือไม่เป็นการกะประเด็นกว้างๆซึ่งย่อมหมายถึงจำเลยที่ 4 ในฐานะผู้แทนของห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 5 และที่กะประเด็นอีกข้อหนึ่งว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 จะต้องรับผิดต่อโจทก์ในผลแห่งการละเมิดของจำเลยที่ 1 เพียงใดหรือไม่ย่อมหมายถึงจำเลยที่ 4 ในฐานะส่วนตัว และหมายถึงจำเลยที่ 5 โดยมีจำเลยที่ 4 เป็นผู้แทน ดังนั้น ที่ศาลพิพากษาให้จำเลยที่ 5 รับผิดในฐานะที่จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างและกระทำไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 5 จึงไม่เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ เป็นลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยที่ ๒ และที่ ๔ จำเลยที่ ๒ เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ ๓ และเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดในห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ ๕ จำเลยที่ ๔ เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ ๕ จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๕ ร่วมกันเป็นเจ้าของและผู้ครอบครองรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุ โดยมีจำเลยที่ ๖ เป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุนรถยนต์บรรทุกคันดังกล่าว จำเลยที่ ๑ ขับขี่รถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุไปในทางการที่จ้างหรือตามคำสั่งของจำเลยที่ ๒ และที่ ๔ ชนรถยนต์ของโจทก์เสียหาย ขอบังคับให้จำเลยทั้งหกร่วมกันและแทนกันชำระเงิน ๑๙๒,๐๕๕.๐๑ บาท พร้อมดอกเบี้ย
โจทก์ขอถอนฟ้องจำเลยที่ ๑ ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๖ ให้การว่า จำเลยที่ ๑ ไม่ได้เป็นลูกจ้างหรือตัวแทนขับขี่รถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ ๒ และที่ ๔ แม้จะฟังว่าจำเลยที่ ๒ ที่ ๔ และที่ ๕ คนหนึ่งคนใดหรือร่วมกันเป็นเจ้าของและผู้ครอบครองรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุ จำเลยที่ ๒ ที่ ๔ และที่ ๕ ก็ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ เหตุรถชนเกิดจากความประมาทของทั้งสองฝ่าย ค่าเสียหายไม่มากเท่าที่โจทก์ฟ้อง และจำเลยที่ ๖ รับผิดไม่เกินวงเงินที่รับประกันภัยไว้ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ ๔ ที่ ๕ ร่วมกันใช้เงินจำนวน ๑๘๖,๐๙๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยถึงวันฟ้อง และดอกเบี้ยจากต้นเงิน ๑๙๒,๐๕๕.๐๑ บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ยกฟ้องจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๖
จำเลยที่ ๔ และที่ ๕ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า เฉพาะดอกเบี้ยให้จำเลยชำระจากต้นเงิน๑๘๖,๐๙๐ บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ ๔ และที่ ๕ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยที่ ๔ และที่ ๕ ฎีกาว่า โจทก์บรรยายฟ้องให้จำเลยที่ ๔ รับผิดต่อโจทก์ในฐานะจำเลยที่ ๔ เป็นนายจ้างหรือตัวการของจำเลยที่ ๑ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๒๕ และมาตรา ๘๒๐ และให้จำเลยที่ ๕ รับผิดในฐานะเป็นเจ้าของและผู้ครอบครองรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๓๗ จึงไม่เป็นการบรรยายฟ้องที่ให้จำเลยที่ ๕ รับผิดในฐานะนายจ้างหรือตัวการของจำเลยที่ ๑ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๒๕ และมาตรา ๘๒๐ และเมื่อโจทก์บรรยายฟ้องให้จำเลยที่ ๕ รับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๓๗ ในฐานะเป็นเจ้าของผู้ครอบครองรถยนต์บรรทุก โดยไม่บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ ๑ เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ ๕ และขับรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุไปชนกับรถของโจทก์ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ ๕ แล้วจำเลยที่ ๕ ก็ไม่ต้องรับผิดนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ ๕ เป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด เป็นเจ้าของและผู้ครอบครองรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุ จำเลยที่ ๔ เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ ๕ จำเลยที่ ๑ เป็นลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยที่ ๔ ได้ขับรถยนต์บรรทุกไปในทางการที่จ้างหรือตามคำสั่งของจำเลยที่ ๔ ชนรถโจทก์เสียหาย ดังนี้ คำฟ้องของโจทก์ย่อมมีความหมายว่า จำเลยที่ ๔ ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ ๕ เป็นเพียงผู้แทนของจำเลยที่ ๕ ซึ่งเป็นนิติบุคคลเท่านั้น ซึ่งพอเข้าใจว่าจำเลยที่ ๑ เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ ๕ และได้ขับรถยนต์บรรทุกไปในทางการที่จ้างหรือตามคำสั่งของห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ ๕ โดยจำเลยที่ ๔ ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการทำแทน จึงเป็นคำฟ้องที่ให้จำเลยที่ ๕ รับผิดในฐานะนายจ้างหรือตัวการของจำเลยที่ ๑ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๒๕ และมาตรา ๘๒๐ แล้ว
ที่จำเลยที่ ๔ และที่ ๕ ฎีกาอีกข้อหนึ่งว่า ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อหนึ่งว่าจำเลยที่ ๑ ขับรถก่อการละเมิดในทางการที่จ้างของจำเลยที่ ๒ และที่ ๔ หรือไม่และกำหนดประเด็นอีกข้อหนึ่งว่า จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๖ จะต้องรับผิดต่อโจทก์ในผลแห่งการละเมิดของจำเลยที่ ๑ เพียงใดหรือไม่ การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ ๕ รับผิดในฐานะที่จำเลยที่ ๑ เป็นลูกจ้างและกระทำไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ ๕ จึงเป็นการวินิจฉัยนอกคำฟ้องนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยที่ ๔ และที่ ๕ มิได้ให้การปฏิเสธว่า จำเลยที่ ๔ ไม่ได้เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ ๕ การที่ศาลกะประเด็นว่า การที่จำเลยที่ ๑ ขับรถก่อการละเมิดในทางการที่จ้างของจำเลยที่ ๔ หรือไม่ เป็นการกะประเด็นกว้าง ๆ ซึ่งย่อมหมายถึงจำเลยที่ ๔ ในฐานะผู้แทนของห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ ๕ และที่กะประเด็นว่า จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๖ จะต้องรับผิดต่อโจทก์ในผลแห่งการละเมิดของจำเลยที่ ๑ เพียงใดหรือไม่ย่อมหมายถึงจำเลยที่ ๔ ในฐานะส่วนตัว และหมายถึงจำเลยที่ ๕ โดยที่จำเลยที่ ๔ เป็นผู้แทน การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ ๕ รับผิดในฐานะที่จำเลยที่ ๑ เป็นลูกจ้างและกระทำไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ ๕ จึงไม่เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น
สำหรับค่าเสื่อมราคาของโจทก์นั้น รถของโจทก์ใช้มา ๓ ปีเศษ และได้ทำการซ่อมอย่างดีเยี่ยม กับเปลี่ยนอะไหล่ถึง ๔๗ รายการ ความเสียหายจากการเสื่อมราคาจึงไม่มากดังที่ศาลอุทธรณ์กำหนด เห็นสมควรกำหนดเสียใหม่
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ ๔ และที่ ๕ ร่วมกันใช้ค่าเสียหายให้โจทก์รวม ๑๓๖,๐๙๐ บาท พร้อมดอกเบี้ย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share