แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ความผิดตาม พ.ร.บ. จัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528 มาตรา 91 ตรี เมื่อผู้กระทำมีเจตนาหลอกลวงผู้อื่นว่าสามารถหางานในต่างประเทศได้ และโดยการหลอกลวงนั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจากผู้ถูกหลอกลวงก็เป็นความผิดแล้วไม่จำต้องมีการส่งคนหางานไปทำงานยังต่างประเทศ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2544 ถึงวันที่ 20 ธันวาคม 2544 เวลากลางวัน ต่อเนื่องกัน วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด จำเลยกับพวกอีก 2 คน ซึ่งยังไม่ได้ตัวมาฟ้องร่วมกันจัดหางานให้แก่นางสาววารินทร์ คำพิวงษ์ ผู้เสียหายที่ 1 นางปิยะดา ผาบชุม ผู้เสียหายที่ 2 นางรัตติยา โคตะมะ ผู้เสียหายที่ 3 นายสมเกียรติ ศรีกลอง ผู้เสียหายที่ 4 นางวงเดือน ศรีกลอง ผู้เสียหายที่ 5 และนายประยูร โสภากุล ผู้เสียหายที่ 6 ซึ่งเป็นคนหางาน และประสงค์ไปทำงานในต่างประเทศ โดยจำเลยกับพวกเรียกและรับเงินค่าบริการจัดหางาน รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการเดินทางจากผู้เสียหายทั้งหกเป็นการตอบแทน อันเป็นการจัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศ โดยจำเลยกับพวกไม่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนจัดหางานกลางตามกฎหมาย และร่วมกันหลวกลวงผู้เสียหายทั้งหกด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จและปกปิดข้อความจริงอันควรบอกให้แจ้งว่า จำเลยกับพวกสามารถหางานและจัดส่งคนไปทำงานในต่างประเทศได้ โดยสามารถจัดส่งผู้เสียหายไปที่ 1 ไปทำงานที่ประเทศสาธารณรัฐเกาหลี ผู้เสียหายที่ 2 ไปทำงานที่ประเทศนิวซีแลนด์ ผู้เสียหายที่ 3 ไปทำงานที่ประเทศสาธารณรัฐเกาหลีและฝรั่งเศส และผู้เสียหายที่ 4 ถึงที่ 6 ไปทำงานที่ประเทศสาธารณรัฐเกาหลี โดยผู้เสียหายทั้งหกจะต้องเสียค่าบริการในการจัดหางาน รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการเดินทางให้แก่จำเลยกับพวกดังนี้ สำหรับผู้เสียหายที่ 1 เป็นเงิน 150,000 บาท ผู้เสียหายที่ 2 เป็นเงิน 200,000 บาท ผู้เสียหายที่ 3 เป็นเงิน 140,000 บาท ผู้เสียหายที่ 4 กับที่ 5 เป็นเงินคนละ 120,000 บาท และผู้เสียหายที่ 6 เป็นเงิน 30,000 บาท อันเป็นความเท็จความจริงแล้วจำเลยกับพวกไม่สามารถจัดส่งผู้เสียหายทั้งหกไปทำงานในต่างประเทศได้ และดดยการหลอกลวงของจำเลยกับพวกดังกล่าวทำให้ผู้เสียหายทั้งหกหลงเชื่อว่าเป็นความจริง จำเลยกับพวกจึงได้ไปซึ่งค่าบริการและค่าใช้จ่ายในการจัดหางานจากผู้เสียหายที่ 1 เป็นเงิน 110,000 บาท ผู้เสียหายที่ 2 เป็นเงิน 220,000 บาท ผู้เสียหายที่ 3 เป็นเงิน 139,500 ผู้เสียหายที่ 4 กับที่ 5 เป็นเงินคนละ 145,000 บาท และผู้เสียหายที่ 6 เป็นเงิน 30,000 บาท รวมเป็นเงินที่จำเลยกับพวกได้ไปจากผู้เสียหายทั้งหกจำนวน 789,500บาท ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 มาตรา 4, 30, 82, 91 ตรี ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83,91, 341 ให้จำเลยคืนหรือใช้เงินตามจำนวนที่รับไปจากผู้เสียหายทั้งหกรวม 789,500 บาท แก่ผู้เสียหายทั้งหก
จำเลยให้การรับสารภาพ
ในวันนัดฟังคำพิพากษาศาลชั้นต้น ผู้เสียหายที่ 6 ยื่นคำร้องขอถอนคำร้องทุกข์ในข้อหาฉ้อโกงเนื่อง
จากผู้เสียหายที่ 6 ได้รับชดใช้เงินจากจำเลยครบถ้วนแล้ว ศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดีในข้อหาฉ้อโกงเฉพาะผู้เสียหายที่ 6 ออกจากสารบบความ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528 มาตรา 4, 30, 82, 91 ตรี ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ประกอบด้วยมาตรา 83 การกระทำของจำเลยเป็นความไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานจัดหางานให้คนไปทำงานต่างประเทศโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 3 ปี ฐานฉ้อโกง 4 กระทง จำคุกกระทงละ 1 ปี เป็นจำคุก 5 ปี รวม 6 กระทง จำคุก 8 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษกึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 4 ปี ให้จำเลยคืนหรือใช้เงินตามจำนวนที่ได้รับจากผู้เสียหายที่ ถึงที่ 5 รวมทั้งสิ้น 759,500 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 5
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2528 มาตรา 91 ตรี ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ประกอบด้วยมาตรา 83 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานฉ้อโกงคนหางานเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักสุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกกระทงละ 3 ปี รวม 6 กระทง จำคุก 18 ปี ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 9 ปี ข้อหาอื่นให้ยก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยฎีกาว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้ครองคนหางาน พ.ศ.2528 มาตรา 91 ตรี นั้นจำเลยไม่เห็นพ้องด้วย เนื่องจากการกระทำที่จะเป้นความผิดตามบทบัญญัติดังกล่าวจะต้องมีการส่งคนหางานไปยังต่างประเทศแต่จำเลยเพียงแต่มีเจตนาที่จะหลอกลวงผู้เสียหายทั้งหกเท่านั้นไม่มีพฤติการณ์ที่แสดงให้เห็นว่าจะจัดผู้เสียหายทั้งหกไปทำงานที่ต่างประเทศจริง เห็นว่า พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528 มาตรา 91 ตรี บัญญัติว่า “ผู้ใดหลอกลวงผู้อื่นว่าสามารถหางาน หรือสามารถส่งไปฝึกงานในต่างประเทศได้และโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งเงินหรือทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นจากผู้ถูกหลอกลวง ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบปีหรือปรับตั้งแต่หกหมื่นบาทถึงสองแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ” จากบทบัญญัติดังกล่าวจะเห็นได้ว่า เมื่อผู้กระทำมีเจตนาหลอกลวงผู้อื่นว่าสามารถหางานในต่างประเทศได้ และโดยการหลอกลวงนั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจากผู้ถูกหลอกลวงก็เป็นความผิดตามบทบัญญัตินี้แล้ว โดยไม่จำต้องมีการส่งคนหางานไปทำงานยังต่างประเทศดังที่จำเลยฎีกาแต่อย่างใด ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาลงโทษจำเลยมานั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน