คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2019/2515

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การเล่นแชร์ เป็นสัญญาชนิดหนึ่ง ผู้เล่นมีสิทธิเลิกสัญญาได้
สัญญาแชร์เลิกกันเพราะวงแชร์เลิกล้มเสียก่อนที่จะมีการประมูลครั้งต่อไป ผู้เล่นแชร์ที่ยังไม่ได้ประมูล มีสิทธิฟ้องผู้เล่นอื่นซึ่งประมูลไปแล้วให้คืนเงินนั้นได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 ได้ร่วมกันตั้งแชร์ขึ้น โดยให้จำเลยที่ 1 เป็นนายวงแชร์ จำเลยที่ 3 ถึงที่ 10 และโจทก์กับบุคคลซึ่งมีชื่อตามเอกสารหน้า 12 ท้ายฟ้องได้ร่วมเล่นแชร์ด้วยโดยตกลงกันให้จำเลยที่ 1 เก็บเงินจากผู้เล่นไปใช้เป็นคนแรกโดยไม่ต้องประมูลและให้จำเลยที่ 1 มีหน้าที่เก็บเงินจากลูกขาจนครบทุกมือมาประมูลในครั้งถัดไป ผู้ประมูลไปแล้วรวมทั้งนายวงแชร์ที่เอาเงินไปแล้วต้องส่งใช้เงินคืน 3 วันต่อครั้ง ครั้งละ 300 บาท ต่อ 1 มือ จนครบจำนวนมือที่ยังไม่ได้ประมูล ลูกขาคนใดไม่ส่งใช้เงินคืนตามจำนวนที่ตกลงกัน ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ร่วมรับผิดใช้แทนจนครบ

เริ่มเล่นแชร์กันรวม 20 ครั้ง จำเลยที่ 1 และที่ 2 และจำเลยอื่น ๆ ที่ประมูลไปแล้วไม่ส่งเงินใช้คืน จำเลยที่ 1 ทำสัญญาประนีประนอมยอมความว่าจะยอมเก็บเงินจากลูกขาที่ประมูลไปแล้วมาทำการประมูลต่อจนครบ ถ้าเก็บเงินไม่ได้จะยอมรับผิดร่วมกับลูกขาที่ประมูลไปแล้วชดใช้เงินคืนให้แก่ลูกขาที่ยังไม่ได้ประมูลแต่แล้วจำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความ และลูกขาที่ประมูลเงินไปแล้วก็ปฏิเสธใช้เงินคืน แชร์จึงต้องเลิกกัน

ขอให้ศาลบังคับจำเลยใช้เงินคืน 48,000 บาท หากจำเลยอื่นไม่ชำระหรือชำระไม่ครบ ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ร่วมกันใช้แทน

จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ที่ 6 ที่ 7 ที่ 8 ที่ 9 และที่ 10 ยื่นคำให้การต่อสู้คดี

จำเลยที่ 5 ขาดนัดยื่นคำให้การ และขาดนัดพิจารณา

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทุกคนเว้นจำเลยที่ 2 ชำระเงินคืนให้แก่โจทก์ 44,400 บาท โดยให้โจทก์ที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 ได้รับคนละ 6,000 บาทโจทก์ที่ 3 ได้ 2,400 บาท โจทก์ที่ 4 และที่ 6 ได้คนละ 12,000 บาท ทั้งนี้ให้บังคับเอาจากจำเลยที่ 1 ไม่เกิน 14,400 บาท จากจำเลยที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 ที่ 6 และที่ 7 คนละไม่เกิน 7,200 บาท จากจำเลยที่ 8 ที่ 9 และที่ 10 คนละไม่เกิน 3,600 บาท

จำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 ที่ 6 ที่ 7 ที่ 8 ที่ 9 และที่ 10 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้น เป็นให้จำเลยใช้เงินแก่โจทก์ดังนี้ จำเลยที่ 1 เป็นเงิน 8,880 บาท จำเลยที่ 3 ที่ 4 ที่ 6 และที่ 7 คนละ 4,400 บาท จำเลยที่ 8 ที่ 9 และที่ 10 คนละ 2,220 บาท ให้โจทก์ที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 ได้รับคนละ 5,442.86 บาท โจทก์ที่ 4 และที่ 6 ได้รับคนละ 10,885.71 บาท นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 ที่ 6 ที่ 7 ที่ 8 ที่ 9 และที่ 10 ฎีกาว่าการบอกเลิกเล่นแชร์ เป็นสิทธิของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนายวงแชร์ จำเลยที่ 1 ยังไม่ได้บอกเลิกสัญญา การเล่นแชร์ย่อมดำเนินอยู่ โจทก์ไม่มีอำนาจนำคดีมาฟ้อง อำนาจที่จะนำคดีมาฟ้องเป็นสิทธิของนายวงแชร์ผู้เดียว โจทก์ซึ่งเป็นลูกขาไม่มีอำนาจฟ้อง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การเล่นแชร์เป็นสัญญาชนิดหนึ่ง คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งมีสิทธิเลิกสัญญาได้ การบอกเลิกสัญญาหาเป็นสิทธิของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดโดยเฉพาะไม่

ที่จำเลยฎีกาว่า นายวงแชร์ผู้เดียวมีสิทธิที่จะฟ้องลูกขาที่ผิดสัญญาโจทก์ซึ่งเป็นลูกขาไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยซึ่งเป็นลูกขาด้วยกัน นั้น พิเคราะห์แล้วความรับผิดในการเล่นแชร์นั้น ย่อมแล้วแต่ผู้เข้าเล่นจะตกลงกัน คดีนี้ โจทก์จำเลยนำสืบว่าสัญญาแชร์มีข้อความตกลงกันว่า มือที่เปีย (ประมูล) ไปแล้วมีหน้าที่ชำระเงินเมื่อมืออื่นที่เปียได้ไม่ใช้ นายวงต้องรับผิดชอบ จำเลยซึ่งเป็นผู้ประมูลแชร์ไปแล้ว จึงมีหน้าที่ผูกพันตามข้อตกลง ต้องส่งเงินคืนแก่ผู้ที่ยังไม่ได้ประมูล โจทก์เป็นผู้ที่ยังไม่ได้ประมูล แต่สัญญาแชร์ได้เลิกกันเพราะวงแชร์เลิกล้มเสียก่อนที่จะมีการประมูลกันในครั้งต่อไป คู่กรณีจึงกลับคืนสู่ฐานะเดิม จำเลยต้องส่งเงินที่รับไปจากโจทก์ คืนต่อโจทก์ เมื่อจำเลยไม่ยอมคืนโจทก์จึงมีสิทธิฟ้องจำเลยให้คืนเงินนั้น

พิพากษายืน

Share