คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2015/2015

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตุลาการรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยไว้ในคำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ที่ 2/2535 ลงวันที่ 22 กรกฎาคม 2535 ว่า การออก พ.ร.ก.นิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดเนื่องในการชุมนุมกันระหว่างวันที่ 17 พฤษภาคมพ.ศ. 2535 ถึงวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 พ.ศ. 2535 ซึ่งออกใช้บังคับเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2535 เป็นไปตามมาตรา 172 วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2534 แล้ว คำวินิจฉัยดังกล่าวย่อมเป็นเด็ดขาดตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2534 มาตรา 209 และมีผลผูกพันศาลยุติธรรมตามมาตรา 268
ตุลาการรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยไว้ในคำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ที่ 3/2535 ลงวันที่ 9 พฤศจิกายน 2535 ว่า ข้อความที่ว่ากิจการที่ได้เป็นไปในระหว่างที่ใช้ พ.ร.ก.นิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดฯ พ.ศ.2535 มีผลว่า นับตั้งแต่วันที่ 23 พฤษภาคม 2535 ซึ่งเป็นวันที่ พ.ร.ก. ฉบับดังกล่าวมีผลใช้บังคับ การกระทำทั้งหลายทั้งสิ้นของบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมกันระหว่างวันที่ 17 พฤษภาคม 2535 ถึงวันที่ 21 พฤษภาคม 2535 และได้กระทำในระหว่างวันดังกล่าว ถ้าการกระทำนั้นผิดกฎหมายผู้กระทำย่อมพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิงไปทันที และการพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิงนี้ย่อมมีอยู่ตลอดไปโดยไม่ถูกกระทบกระเทือนจากการที่ พ.ร.ก.ฉบับนี้ตกไปเนื่องจากสภาผู้แทนราษฎรไม่อนุมัติ เพราะ พ.ร.ก. ก็มีผลใช้บังคับเป็นกฎหมายเช่นเดียวกับพ.ร.บ.ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 172 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2534 การไม่อนุมัติพระราชกำหนดนิรโทษกรรมฉบับนี้ ไม่มีผลกระทบกระเทือนถึงผู้ซึ่ง พ.ร.ก. บัญญัติให้พ้นจากความผิดและความรับผิดไปแล้วไม่ว่าบุคคลนั้นจะถูกร้องทุกข์ ถูกกล่าวโทษ หรือถูกดำเนินคดีตามกฎหมายแล้วหรือไม่ก็ตาม คำวินิจฉัยของตุลาการรัฐธรรมนูญดังกล่าวย่อมเป็นเด็ดขาดและมีผลผูกพันศาลยุติธรรมเช่นเดียวกัน

ย่อยาว

คดีทั้งห้าสำนวนนี้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้พิจารณาและพิพากษารวมกันโดยให้เรียกโจทก์ที่ ๑ ถึงที่ ๑๕ ในสำนวนแรกเป็นโจทก์ที่ ๑ ถึงที่ ๑๕ คงเดิม เรียกโจทก์ที่ ๑ ถึงที่ ๑๑ ในสำนวนที่สองเป็นโจทก์ที่ ๑๖ ถึงที่ ๒๖ ตามลำดับ เรียกโจทก์ที่ ๑ ถึงที่ ๕ ในสำนวนที่สามเป็นโจทก์ที่ ๒๗ ถึงที่ ๓๑ ตามลำดับ เรียกโจทก์ที่ ๑ ถึงที่ ๗ ในสำนวนที่สี่เป็นโจทก์ที่ ๓๒ ถึงที่ ๓๘ ตามลำดับ และเรียกโจทก์ในสำนวนที่ห้าเป็นโจทก์ที่ ๓๙
โจทก์ทั้งห้าสำนวนฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ เป็นหน่วยงานสังกัดกระทรวงกลาโหม จำเลยที่ ๒ เป็นกรมสังกัดกระทรวงมหาดไทย ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ ๓ มีตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี จำเลยที่ ๔ เป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด และจำเลยที่ ๕ เป็นผู้บัญชาการทหารบก เมื่อระหว่างวันที่ ๑๗ ถึงวันที่ ๒๑ พฤษภาคม ๒๕๓๕เวลากลางวัน และกลางคืนติดต่อกัน มีประชาชนจำนวนมากได้ร่วมชุมนุมกันด้วยความสงบ โดยปราศจากอาวุธ ณ บริเวณท้องสนามหลวง ถนนราชดำเนินกลางหน้ารัฐสภาและบริเวณใกล้เคียงในเขตกรุงเทพมหานคร เพื่อเรียกร้องรัฐบาลให้ใช้การปกครองตามระบอบประชาธิปไตย ซึ่งประชาชนมีสิทธิกระทำได้ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จำเลยทั้งห้าร่วมกันสั่งกองกำลังทหารและตำรวจติดอาวุธร้ายแรงเข้าปราบปรามเข่นฆ่าประชาชน และหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ในการกำกับดูแลให้กองกำลังทหารและตำรวจอยู่ในระเบียบวินัย เป็นเหตุให้กองกำลังทหารและตำรวจใช้อาวุธปืนยิงและทุบตีประชาชนโดยไม่มีความจำเป็นที่จะต้องกระทำ อันเป็นการละเมิดต่อกฎหมาย ขอให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันหรือแทนกันใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ทั้งสามสิบเก้าเป็นเงิน ๑๗,๖๕๒,๓๙๐ บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยทั้งห้าสำนวนให้การว่า หลังเกิดเหตุมีพระราชกำหนดนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดเนื่องในการชุมนุมกันระหว่างวันที่ ๑๗ พฤษภาคมพ.ศ. ๒๕๓๕ ถึงวันที่ ๒๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๕ พ.ศ. ๒๕๓๕ แล้ว แม้การกระทำของจำเลยจะเป็นละเมิดต่อผู้อื่น กฎหมายก็บัญญัติให้พ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง โดยผลของกฎหมายดังกล่าวโจทก์ทั้งสามสิบเก้าจึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ยกฟ้อง
จำเลยทั้งห้ายื่นคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดในปัญหาข้อกฎหมายเบื้องต้นว่า เมื่อมีกฎหมายนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดแล้ว โจทก์ทั้งสามสิบเก้าจึงไม่มีอำนาจฟ้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า คดีพอวินิจฉัยได้จึงให้งดชี้สองสถานและงดสืบพยานโจทก์จำเลยแล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสามสิบเก้าอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ทั้งสามสิบเก้าฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า เมื่อระหว่างวันที่ ๑๗ถึงวันที่ ๒๑ พฤษภาคม ๒๕๓๕ ได้มีประชาชนจำนวนมากชุมนุมกันในเขตกรุงเทพมหานครบริเวณท้องสนามหลวงและถนนราชดำเนินกลาง เพื่อเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเหตุการณ์ได้ลุกลามจนมีการเผาสถานที่ราชการหลายแห่ง และมีการปะทะกันระหว่างผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ เป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่ร่างกายและชีวิตของบุคคลจำนวนมาก ต่อมาหลังเหตุการณ์ดังกล่าวได้มีการออกพระราชกำหนดนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดเนื่องในการชุมนุมกันระหว่างวันที่ ๑๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๕ ถึงวันที่ ๒๑พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๕ พ.ศ. ๒๕๓๕ แต่สภาผู้แทนราษฎรไม่อนุมัติพระราชกำหนดดังกล่าวในภายหลัง
มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ โจทก์ทั้งสามสิบเก้าฎีกาข้อแรกว่า การออกพระราชกำหนดนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดเนื่องในการชุมนุมกันระหว่างวันที่ ๑๗ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๓๕ ถึงวันที่ ๒๑ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๓๕พ.ศ.๒๕๓๕ ซึ่งออกใช้บังคับเมื่อวันที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๓๕ ไม่ชอบเพราะขัดต่อรัฐธรรมนูญ ข้อนี้ ปรากฏว่าตุลาการรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยไว้ในคำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ที่ ๒/๒๕๓๕ ลงวันที่ ๒๒ กรกฎาคม ๒๕๓๕ ว่า การออกพระราชกำหนดดังกล่าวเป็นไปตามมาตรา ๑๗๒ วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช ๒๕๓๔ แล้ว คำวินิจฉัยดังกล่าวย่อมเป็นเด็ดขาดตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๓๔ มาตรา ๒๐๙ และมีผลผูกพันศาลยุติธรรมตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ มาตรา ๒๖๘ โจทก์ทั้งสามสิบเก้าฎีกาข้อสุดท้ายว่า ข้อความที่ว่า “ไม่กระทบกระเทือนกิจการที่ได้เป็นไปในระหว่างที่ใช้พระราชกำหนดนั้น” ตามมาตรา ๑๗๒ วรรคสาม ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช ๒๕๓๔ ไม่หมายความรวมถึงความรับผิดของจำเลยในคดีนี้ ข้อนี้ ตุลาการรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยไว้ในคำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ที่ ๓/๒๕๓๕ ลงวันที่๙ พฤศจิกายน ๒๕๓๕ ว่า ข้อความที่ว่ากิจการที่ได้เป็นไปในระหว่างที่ใช้พระราชกำหนดนั้นมีผลว่า นับตั้งแต่วันที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๓๕ ซึ่งเป็นวันที่พระราชกำหนดฉบับดังกล่าวมีผลใช้บังคับ การกระทำทั้งหลายทั้งสิ้นของบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมกัน ระหว่างวันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๓๕ ถึงวันที่ ๒๑ พฤษภาคม ๒๕๓๕ และได้กระทำในระหว่างวันดังกล่าว ถ้าการกระทำนั้นผิดกฎหมายผู้กระทำย่อมพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิงไปทันที และการพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิงนี้ย่อมมีอยู่ตลอดไปโดยไม่ถูกกระทบกระเทือนจากการที่พระราชกำหนดฉบับนี้ตกไปเนื่องจากสภาผู้แทนราษฎรไม่อนุมัติ เพราะพระราชกำหนดก็มีผลใช้บังคับเป็นกฎหมายเช่นเดียวกับพระราชบัญญัติดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๗๒ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๓๔การไม่อนุมัติพระราชกำหนดนิรโทษกรรมฉบับนี้ ไม่มีผลกระทบกระเทือนถึงผู้ซึ่งพระราชกำหนดบัญญัติให้พ้นจากความผิดและความรับผิดไปแล้ว ไม่ว่าบุคคลนั้นจะถูกร้องทุกข์ถูกกล่าวโทษ หรือถูกดำเนินคดีตามกฎหมายแล้วหรือไม่ก็ตาม คำวินิจฉัยดังกล่าวย่อมเป็นเด็ดขาดตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๓๔ มาตรา ๒๐๙ และมีผลผูกพันศาลยุติธรรมตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ มาตรา๒๖๘ เช่นเดียวกัน โจทก์ทั้งสามสิบเก้าจึงไม่มีอำนาจฟ้อง
พิพากษายืน.

Share