คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2012/2542

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ก่อนศาลชั้นต้นมีคำสั่งงดชี้สองสถานและงดสืบพยานโจทก์จำเลย ศาลได้สอบถามข้อเท็จจริงจากโจทก์จำเลยแล้วเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้แล้วและนัดฟังคำพิพากษาเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งก่อนศาลนั้นได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดี จึงเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226(2) และมิใช่คำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายตามมาตรา 24เพราะที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์โดยวินิจฉัยว่าสัญญาประนีประนอมยอมความคดีนี้ที่โจทก์จำเลยทำขึ้นเพื่อระงับหนี้ตามเช็คที่โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีอาญา เมื่อศาลฎีกาวินิจฉัยฟังข้อเท็จจริงว่าเช็คดังกล่าวไม่มีมูลหนี้ที่จะบังคับกันได้ตามกฎหมาย จึงไม่ก่อให้เกิดหนี้ที่จะให้จำเลย ทำสัญญาประนีประนอมยอมความเพื่อระงับข้อพิพาทตามเช็ค โจทก์จะอาศัยสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวมาฟ้อง เรียกร้องให้จำเลยรับผิดหาได้ไม่นั้น เป็นกรณีที่ศาลชั้นต้น พิพากษาคดีโดยวินิจฉัยข้อเท็จจริงตามที่ได้ความจากการ สอบถามโจทก์จำเลย มิได้วินิจฉัยชี้ขาดในปัญหาข้อกฎหมาย ที่พิพาทกันในคดี ดังนั้นเมื่อนับแต่วันที่ศาลชั้นต้น มีคำสั่งดังกล่าวจนถึงวันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเป็น เวลา 1 เดือนเศษ โจทก์ย่อมมีเวลาเพียงพอที่จะโต้แย้งคำสั่ง นั้นได้ แต่มิได้โต้แย้ง โจทก์จึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยว่าโจทก์ถมดินเนื้อที่ 54 ไร่เศษเป็นเงินค่าจ้าง 1,707,900 บาท จำเลยชำระค่าจ้างให้แก่โจทก์บางส่วนคงค้างชำระ 1,017,000 บาท จำเลยชำระด้วยเช็คหลายฉบับครั้นครบกำหนดธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินทุกฉบับ โจทก์จึงฟ้องจำเลยเป็นคดีอาญาต่อศาลจังหวัดชลบุรีและศาลแขวงชลบุรีระหว่างพิจารณา เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2527 โจทก์จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันว่า จำเลยยอมชำระเงินให้โจทก์500,000 บาท ส่วนที่เหลือจำเลยจะโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 2537ตำบลนาจอมเทียน อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ให้แก่โจทก์แต่จำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้ตามสัญญา ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน11,838,500 บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยค่าเสียหายร้อยละ 2 ต่อเดือนในต้นเงิน 200,000 บาท และค่าเสียหายร้อยละ 19.5 ต่อปีในต้นเงิน 300,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จและดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน 10,500,000 บาทนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า จำเลยมิได้ผิดสัญญา โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเรียกค่าเสียหายหากมีก็ไม่ควรเกินสัญญา ขอให้ยกฟ้อง
ในวันนัดชี้สองสถาน ศาลชั้นต้นสอบถามข้อเท็จจริงจากโจทก์จำเลยแล้ว เห็นว่า คดีพอวินิจฉัยได้โดยไม่ต้องสืบพยานต่อไปจึงให้งดชี้สองสถานและงดสืบพยานโจทก์จำเลย แล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ขอให้มีคำสั่งให้ศาลชั้นต้นชี้สองสถานและสืบพยานโจทก์จำเลยแล้วพิพากษาใหม่
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่า โจทก์ไม่มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 226(2) พิพากษายกอุทธรณ์โจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่โจทก์ฎีกาว่า คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้งดชี้สองสถานและงดสืบพยานโจทก์จำเลยแล้วนัดฟังคำพิพากษาไม่ถือว่าเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226 แต่เป็นคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายทำให้คดีเสร็จไปทั้งเรื่องตามมาตรา 24 โจทก์ชอบที่จะอุทธรณ์ฎีกาได้ตามมาตรา 227, 228 และมาตรา 247 นั้นประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226 บัญญัติเป็นใจความว่าก่อนศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดีถ้าศาลได้มีคำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่ง นอกจากที่ระบุไว้ในมาตรา 227 และ 228 ถ้าคู่ความฝ่ายใดโต้แย้งคำสั่งใดไว้ชอบที่จะอุทธรณ์คำสั่งนั้นได้ เห็นว่า คดีนี้ในวันชี้สองสถานวันที่ 5 กันยายน 2538 ก่อนศาลชั้นต้นมีคำสั่งงดชี้สองสถานและงดสืบพยานโจทก์จำเลย ศาลได้สอบถามข้อเท็จจริงจากโจทก์จำเลยแล้วเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้แล้วและนัดฟังคำพิพากษา เป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งก่อนศาลนั้นได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดี จึงเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาตามมาตรา 226(2)และมิใช่คำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายตามมาตรา 24 เพราะที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์โดยวินิจฉัยว่าสัญญาประนีประนอมยอมความคดีนี้ที่โจทก์จำเลยทำขึ้นเพื่อระงับหนี้ตามเช็คที่โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีอาญา เมื่อศาลฎีกาวินิจฉัยฟังข้อเท็จจริงว่าเช็คดังกล่าวไม่มีมูลหนี้ที่จะบังคับกันได้ตามกฎหมาย จึงไม่ก่อให้เกิดหนี้ที่จะให้จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความเพื่อระงับข้อพิพาทตามเช็คแต่อย่างใดโจทก์จะอาศัยสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวมาฟ้องเรียกร้องให้จำเลยรับผิดหาได้ไม่นั้น เป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นพิพากษาคดีโดยวินิจฉัยข้อเท็จจริงตามที่ได้ความจากการสอบถามโจทก์จำเลยมิได้วินิจฉัยชี้ขาดในปัญหาข้อกฎหมายที่พิพาทกันในคดีแต่อย่างใดดังนั้นเมื่อนับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งดังกล่าวจนถึงวันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2538 เป็นเวลา1 เดือนเศษ โจทก์ย่อมมีเวลาเพียงพอที่จะโต้แย้งคำสั่งนั้นได้แต่มิได้โต้แย้งโจทก์จึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226(2) ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้นชอบแล้ว และไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ว่าคดีนี้เป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาหรือไม่เพราะไม่เป็นสาระแก่คดีแต่อย่างใด ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share