คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2012/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เจ้าหน้าที่ศาลส่งหมายนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ไปให้โจทก์ณ บ้านเลขที่ตามคำฟ้องโดยวิธีปิดหมายตามคำสั่งศาล แม้โจทก์จะย้ายไปรับราชการต่างจังหวัด แต่เมื่อไม่ปรากฏหลักฐานว่า โจทก์ได้ย้ายทะเบียนบ้านและครอบครัวไปด้วยดังนี้ ถือว่าโจทก์มีถิ่นที่อยู่หลายแห่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 45(เดิม) การส่งหมายนัดดังกล่าวจึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 74และมาตรา 79 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 15 แล้ว การที่โจทก์ย้ายไปรับราชการในต่างจังหวัดและมิได้อาศัยอยู่ที่บ้านเลขที่ตามฟ้อง ทำให้โจทก์ไม่ทราบวันนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์นั้น ไม่ใช่เหตุสุดวิสัยตามประมวลกฎหมาย-วิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 จำคุก 3 เดือน ปรับ 2,000 บาทโทษจำคุกให้รอไว้ 1 ปี จำเลยอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในวันที่ 13 ธันวาคม 2533 ถึงวันนัดจำเลยมาศาล โจทก์ไม่มา ศาลชั้นต้นได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ซึ่งพิพากษากลับให้ยกฟ้องให้จำเลยฟังโดยถือว่าได้อ่านให้โจทก์ฟังด้วยแล้ว
โจทก์ยื่นคำร้องฉบับลงวันที่ 29 มกราคม 2534 ว่า โจทก์ไม่ทราบกำหนดนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ขอให้ศาลชั้นต้นขยายระยะเวลายื่นฎีกา ศาลชั้นต้นยกคำร้อง ต่อมา วันที่ 1 มีนาคม 2534 โจทก์ยื่นคำร้องว่าที่โจทก์ไม่ได้มาฟังคำพิพากษาไม่ใช่ความผิดของโจทก์ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ไปโดยโจทก์ไม่ทราบวันนัดเป็นการไม่ชอบ ขอให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนการอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์และนัดอ่านใหม่ ศาลชั้นต้นยกคำร้อง
โจทก์อุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นทั้งสองคำสั่ง
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การส่งหมายนัดโดยเจ้าพนักงานศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 74 และมาตรา 79ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ให้ส่งแก่คู่ความ ณ ภูมิลำเนาของคู่ความ โจทก์อ้างว่าโจทก์ได้ย้ายไปรับราชการที่จังหวัดสิงห์บุรี โดยไม่ปรากฏหลักฐานว่าโจทก์ได้ย้ายทะเบียนบ้านและครอบครัวไปด้วยแต่อย่างใด ดังนั้นตราบใดที่โจทก์ยังมิได้แจ้งย้ายภูมิลำเนาย่อมต้องถือว่าโจทก์มีถิ่นที่อยู่หลายแห่งซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 45(เดิม) ให้ถือเอาแห่งใดแห่งหนึ่งเป็นภูมิลำเนา บ้านเลขที่ตามฟ้องจึงเป็นภูมิลำเนาแห่งหนึ่งของโจทก์ การที่พนักงานเดินหมายนำหมายนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ไปส่งแล้วพบว่าบ้านปิดใส่กุญแจ จึงได้ปิดหมายนัดไว้ ณบ้านเลขที่ตามฟ้องอันเป็นภูมิลำเนาของโจทก์ จึงเป็นการส่งหมายนัดที่ชอบด้วยบทกฎหมายดังกล่าวข้างต้น ถือได้ว่าโจทก์ได้ทราบกำหนดนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์โดยชอบแล้ว การอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ของศาลชั้นต้นจึงชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีเหตุที่ศาลชั้นต้นจะเพิกถอนการอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์และวินิจฉัยต่อไปว่า การขอขยายหรือย่นระยะเวลาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 จะทำได้ต่อเมื่อมีพฤติการณ์พิเศษ และคู่ความมีคำขอขึ้นมาก่อนสิ้นระยะเวลานั้นเว้นแต่ในกรณีที่มีเหตุสุดวิสัยคดีนี้ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2533 โจทก์มีสิทธิยื่นฎีกาได้ภายในวันที่ 13 มกราคม 2534 โจทก์ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาฎีกาเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2534 จึงเป็นคำร้องขอขยายระยะเวลาฎีกาที่ยื่นต่อศาลเมื่อสิ้นระยะเวลาฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 216 ที่โจทก์ฎีกาว่าโจทก์ได้ย้ายไปรับราชการที่จังหวัดสิงห์บุรีตั้งแต่ พ.ศ. 2532 และมิได้อาศัยอยู่บ้านเลขที่ตามฟ้องโจทก์จึงไม่ทราบวันนัด นั้น ไม่ใช่เหตุสุดวิสัยอันจะทำให้โจทก์มีสิทธิยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาฎีกาได้เมื่อสิ้นระยะเวลาฎีกาแล้วตามบทกฎหมายดังกล่าว
พิพากษายืน

Share