แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
แถบป้ายเครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วมที่จดทะเบียนไว้แล้วใช้ผ้าพื้นสีกรมท่าตัวอักษรคำว่า KIKADA สีเหลือง แต่ที่จำเลยทำขึ้นใช้ผ้าพื้นสีขาว ตัวอักษรคำว่า KIKDA สีดำ ซึ่งต่างกันแต่เพียงสีของแถบป้ายกับสีของตัวอักษรและลีลาการเขียนอักษรเท่านั้นแต่ชื่อที่เรียกขานเป็นอย่างเดียวกัน เครื่องหมายการค้าของจำเลยจึงคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วม ซึ่งเมื่อนำมาใช้กับสินค้าประเภทเดียวกันแล้ว อาจทำให้ผู้ซื้อหลงผิดได้ การกระทำของจำเลยจึงเป็นการเลียนแบบเครื่องหมายการค้าของผู้อื่นซึ่งได้จดทะเบียนแล้ว เพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นเครื่องหมายการค้าของผู้อื่นนั้น ในความรับผิดทางอาญานั้น หากนิติบุคคลกระทำความผิดนอกจากนิติบุคคลนั้นจะต้องรับผิดแล้ว ผู้ที่มีส่วนในการกระทำความผิดนั้นย่อมต้องรับผิดด้วย โดยไม่คำนึงถึงว่าผู้นั้นจะเป็นกรรมการของนิติบุคคลนั้นหรือไม่ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยเป็นผู้ดำเนินการเกี่ยวกับกิจการของบริษัท ก. ที่กระทำความผิดฐานเลียนเครื่องหมายการค้าของผู้อื่น จำเลยจึงมีความผิดด้วย แม้จำเลยจะมีหนังสือรับรองการจดทะเบียนมาแสดงว่าจำเลยมิใช่กรรมการของบริษัทก. ก็ตาม
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า ผู้เสียหายได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้า คำว่า”KIKADA” สำหรับสินค้าจำพวกป้ายคอเสื้อไว้ในราชอาณาจักรเมื่อปี 2529 โดยกำหนดรูปแบบพื้นสีน้ำเงินและตัวอักษรสีทอง วันที่18 มีนาคม 2534 จำเลยได้เลียนแบบเครื่องหมายการค้าดังกล่าวของผู้เสียหายสำหรับสินค้าจำพวกป้ายคอเสื้อ โดยทำเป็นเนื้อผ้าต่วนพื้นสีขาว ตัวอักษรสีดำเพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นเครื่องหมายการค้าของผู้เสียหาย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 274, 33และริบของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง แต่ของกลางให้ริบ
โจทก์และโจทก์ร่วมอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับเป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 274 ให้ลงโทษจำคุก 2 เดือน ปรับ 1,000 บาทจำเลยไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อนจึงให้รอการลงโทษจำคุกไว้ 1 ปีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับจัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ริบของกลาง
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าโจทก์ร่วมมีอาชีพค้าขายเสื้อผ้าสำเร็จรูป ภายใต้เครื่องหมายการค้าว่าคิคาด้า (KIKADA) ซึ่งเป็นแถบป้ายติดไว้ที่คอเสื้อผ้าและได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวไว้แล้ว โจทก์ร่วมว่าจ้างให้บริษัทแกมม่าสไตล์ จำกัด หรือร้านแกมม่าสไตล์เป็นผู้จัดทำแถบป้ายเครื่องหมายดังกล่าวตลอดมาหลายครั้ง ต่อมามีลูกค้า แจ้งให้โจทก์ร่วมทราบว่ามีผู้ปลอมแปลงสินค้าของโจทก์ร่วมโดยใช้แถบป้ายเครื่องหมายการค้าปลอมที่มีข้อความยี่ห้อ เดียวกับโจทก์ร่วมส่งไปขายยังต่างประเทศ โจทก์ร่วมสืบเสาะทราบว่าที่ร้านแกมม่าสไตล์ได้ทำแถบป้ายเครื่องหมายการค้ามีข้อความว่าคิคาด้า (KIKADA)เช่นเดียวกับของโจทก์ร่วม แต่ต่างกันเฉพาะพื้นผ้ากับสีเท่านั้นจึงแจ้งความดำเนินคดีแก่จำเลย เจ้าพนักงานตำรวจตรวจค้นร้านแกมม่าสไตล์พบแถบป้ายเครื่องหมายการค้าซึ่งมีข้อความว่าคิคาด้า(KIKADA) จำนวน 41 ม้วน จึงยึดเป็นของกลาง คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า จำเลยได้กระทำความผิดดังโจทก์ฟ้องหรือไม่ จำเลยฎีกาว่าจำเลยมิใช่กรรมการผู้จัดการบริษัทแกมม่าสไตล์ จำกัด จำเลยเป็นเพียงลูกจ้างของบริษัทดังกล่าว ไม่มีส่วนรู้เห็นในการทำแถบป้ายเครื่องหมายการค้าของกลางนั้น เห็นว่าโจทก์และโจทก์ร่วมมีตัวโจทก์ร่วมเบิกความยืนยันว่า พยานได้ติดต่อว่าจ้างจำเลยซึ่งเป็นผู้จัดการของร้านแกมม่าสไตล์เป็นผู้จัดทำแถบป้ายเครื่องหมายการค้าคำว่าคิคาด้า (KIKADA) ซึ่งพยานได้ติดต่อกับจำเลยให้ทำแถบป้ายเครื่องหมายการค้าดังกล่าวมาหลายครั้งแล้ว ทั้งยังได้ความจากโจทก์ร่วมอีกว่า ร้านของโจทก์ร่วมและจำเลยอยู่ในบริเวณศูนย์การค้าอินทราด้วยกัน ห่างกันประมาณ 100 เมตร ซึ่งจำเลยเบิกความรับว่ารู้จักโจทก์ร่วมมาประมาณ 7 ปีแล้ว ดังนั้นจึงเชื่อว่าโจทก์ร่วมย่อมรู้ดีว่าร้านดังกล่าวใครเป็นผู้ดำเนินการ นอกจากนี้ตามคำของร้อยตำรวจเอกชาติชาย เทียมฉัตร พยานโจทก์ผู้ตรวจค้นและจับกุมจำเลยก็ได้ความว่า เมื่อพยานแสดงหมายค้น จำเลยยินยอมและเป็นผู้นำค้นร้านแกมม่าสไตล์จนยึดได้ของกลาง เมื่อพยานสอบถามจำเลยก็ทราบจากจำเลยว่าจำเลยเป็นเจ้าของร้านแกมม่าสไตล์ จึงแจ้งข้อหาแก่จำเลยและจับกุมมาดำเนินคดีตามบันทึกการตรวจค้นและจับกุมเอกสารหมาย จ.6 ยิ่งไปกว่านั้นตามคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยเอกสารหมาย จ.8 จำเลยก็หาได้ให้การปฏิเสธว่าจำเลยมิใช่เจ้าของร้านที่ค้นพบเครื่องหมายการค้าของกลางไม่ กลับให้การว่าจำเลยนำค้นพบของกลางวางอยู่ที่ตู้โชว์หน้าร้านของจำเลย พยานหลักฐานโจทก์ดังกล่าวจึงรับฟังได้อย่างปราศจากสงสัยว่าจำเลยเป็นผู้ดำเนินการบริษัทแกมม่าสไตล์ จำกัด หรือร้านแกมม่าสไตล์ที่รับทำแถบป้ายเครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วม และถือโอกาสทำเลียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวขึ้นมาจำหน่ายแก่ผู้ที่นำไปติดปลอมสินค้าของโจทก์ร่วมกล่าวคือ แถบป้ายเครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วมที่จดทะเบียนไว้แล้วใช้ผ้าพื้นสีกรมท่า ตัวอักษรคำว่า KIKADA สีเหลือง แต่ที่จำเลยทำขึ้นใช้ผ้าพื้นสีขาว ตัวอักษรคำว่า KIKADA สีดำ ซึ่งต่างกันแต่เพียงสีของแถบป้ายกับสีของตัวอักษรและลีลาการเขียนตัวอักษรเท่านั้น แต่ชื่อที่เรียกขานเป็นชื่ออย่างเดียวกัน เครื่องหมายการค้าของจำเลยจึงคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วม ซึ่งเมื่อนำมาใช้กับสินค้าประเภทเดียวกันแล้วอาจทำให้ผู้ซื้อหลงผิดได้การกระทำของจำเลยจึงเป็นการเลียนเครื่องหมายการค้าของผู้อื่นซึ่งได้จดทะเบียนแล้ว เพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นเครื่องหมายการค้าของผู้อื่นนั้น จำเลยจึงต้องมีความผิดดังโจทก์ฟ้อง ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยมีหนังสือรับรองการจดทะเบียนมาแสดงว่าจำเลยมิใช่กรรมการของบริษัทแกมม่าสไตล์ จำกัด จึงน่าเชื่อยิ่งกว่าคำพยานโจทก์นั้น เห็นว่า ในความรับผิดทางอาญานั้น หากนิติบุคคลกระทำความผิดนอกจากนิติบุคคลนั้นจะต้องรับผิดแล้ว ผู้ที่มีส่วนในการกระทำความผิดนั้นย่อมต้องรับผิดด้วย โดยไม่คำนึงว่าผู้นั้นจะเป็นกรรมการของนิติบุคคลนั้นหรือไม่ ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยเป็นผู้ดำเนินการเกี่ยวกับกิจการของบริษัทแกมม่าสไตล์ จำกัด ที่ยึดได้เครื่องหมายการค้าที่เลียนแบบเป็นของกลาง จำเลยจึงต้องมีความผิด ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยชอบแล้ว”
พิพากษายืน