คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 201/2528

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยให้ลูกจ้างซึ่งมีหน้าที่เป็นนายสถานีหรือผู้ช่วยทำงานวันละ 12 ชั่วโมงมานานแล้ว โดยจำเลยจ่ายแต่เงินค่าตอบแทนพิเศษเพิ่มให้ตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเท่านั้น และลูกจ้างก็ไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลา เพราะงานที่ทำเป็นงานขบวนการจัดงานรถไฟและงานขนส่ง ดังนี้ ลูกจ้างต้องผูกพันได้รับเพียงค่าตอบแทนพิเศษดังกล่าว หามีสิทธิได้รับค่าจ้างสำหรับเวลาที่ทำเกินวันละ 8 ชั่วโมงอีกไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างประจำทำหน้าที่นายสถานีรถไฟ จำเลยได้กำหนดเวลาทำงานวันละ ๑๒ ชั่วโมง เกินเวลาทำงานปกติวันละ ๔ ชั่วโมง จำเลยต้องจ่ายค่าจ้างการทำงานเกินเวลาทำงานปกติเพิ่มเติมแก่โจทก์ ขอศาลพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าจ้างการทำงานเกินกำหนดเวลาทำงานปกติวันละ ๔ ชั่วโมงแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์ได้รับบรรจุเป็นลูกจ้างประจำอัตราค่าจ้างเหมารายเดือนในเวลาทำงานปกติวันละ ๑๒ ชั่วโมง จำเลยมีวัตถุประสงค์ในการดำเนินธุรกิจรับขนส่งคนโดยสารและสินค้าโดยทางรถไฟ จัดอยู่ในประเภทขบวนการจัดงานรถไฟและงานขนส่ง จำเลยได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมแรงงานให้ผู้ปฏิบัติงานรถไฟประเภทลูกจ้างที่ปฏิบัติงานเกี่ยวกับงานขนส่งทำงานเกินกำหนดเวลาปกติ ๘ ชั่วโมงได้ โจทก์ทำงานในตำแหน่งนายสถานีรถไฟ จำเลยจึงมีสิทธิกำหนดให้โจทก์ทำงานในเวลาทำงานปกติวันละ ๑๒ ชั่วโมงได้ ค่าจ้างที่จำเลยจ่ายแก่โจทก์เป็นค่าจ้างที่จ่ายตอบแทนการทำงานในเวลาทำงานปกติของวันทำงานในเวลา ๑๒ ชั่วโมง อย่างไรก็ตามในเวลาส่วนที่เกิน ๘ ชั่วโมงนั้น จำเลยก็ได้จ่ายสินจ้างเป็นการตอบแทนให้แก่โจทก์อีกส่วนหนึ่งแล้วตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในคำสั่งทั่วไป เรื่อง การวางระเบียบการจ่ายเงินค่าตอบแทนพิเศษ ฯ ซึ่งคำสั่งดังกล่าวเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าจ้างตามฟ้องจากจำเลยอีก ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า การที่จำเลยให้โจทก์ทำงานวันละ ๑๒ ชั่วโมง แม้จะได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมแรงงานแล้ว ก็เป็นการทำงานเกินกำหนดเวลาปกติตามที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับงานขนส่งไปวันละ ๔ ชั่วโมง เงินเดือนที่จำเลยจ่ายแก่โจทก์เป็นค่าจ้างสำหรับการทำงานไม่เกินวันละ ๘ ชั่วโมงเท่านั้นโจทก์มีสิทธิได้รับค่าจ้างสำหรับการทำงานเกินกำหนดเวลาทำงานปกติไปวันละ ๔ ชั่วโมง เป็นจำนวนตามส่วนเฉลี่ยของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำต่อวัน หักด้วยค่าตอบแทนพิเศษ ฯ ที่จำเลยจ่ายให้โจทก์ไปแล้ว พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าจ้างสำหรับการทำงานเกินเวลาทำงานปกติให้แก่โจทก์
ผู้พิพากษาสมทบฝ่ายลูกจ้างทำความเห็นแย้งว่า ควรต้องคิดค่าจ้างให้โจทก์สำหรับการทำงานเกินเวลาทำงานปกติไปวันละ ๔ ชั่วโมง ตามส่วนเฉลี่ยของเงินเดือนและค่าครองชีพที่โจทก์ได้รับ มิใช่คิดตามอัตราค่าจ้างขั้นต่ำตามประกาศกระทรวงมหาดไทย
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า เดิมเมื่อครั้งจำเลยยังเป็นกรมรถไฟ จำเลยให้นายสถานีหรือผู้ช่วยนายสถานีทำงานวันละ ๘ ชั่วโมงบ้าง ๑๒ ชั่วโมงบ้าง โดยไม่ได้ให้ค่าตอบแทนอื่นนอกเหนือจากเงินเดือน ต่อมาจำเลยออกระเบียบให้พนักงานที่ทำงานตอนกลางคืนซึ่งมีขบวนรถด่วนหยุดที่สถานีได้รับเบี้ยเลี้ยงรับรถด่วนน ได้มีการปรับปรุงเบี้ยเลี้ยงนี้มาตามลำดับ เมื่อมีประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ฯ ออกใช้บังคับ จำเลยได้ขออนุญาตต่ออธิบดีกรมแรงงานให้พนักงานทำงานเกินวันละ ๘ ชั่วโมง อธิบดีกรมแรงงานอนุญาตแล้ว ต่อมาจำเลยได้เปลี่ยนจากจ่ายเบี้ยเลี้ยงรับรถด่วนมาเป็นจ่ายเงินค่าตอบแทนพิเศษจ่ายให้แก่พนักงานที่ทำงานเกินวันละ ๘ ชั่วโมงตามอัตราที่กำหนด ครั้นสหภาพแรงงานการรถไฟแห่งประเทศไทยได้ยื่นข้อเรียกร้องต่อจำเลยหลายข้อ ข้อเรียกร้องข้อหนึ่งตกลงกันได้โดยจำเลยตกลงว่าข้อบังคับ ระเบียบและคำสั่งของการรถไฟแห่งประเทศไทยทุกฉบับที่เกี่ยวกับสภาพการจ้าง ถือว่าเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง โจทก์ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยนายสถานีและนายสถานี ทำงานวันละ ๑๒ ชั่วโมงตลอดมา งานที่โจทก์ทำเป็นงานขบวนการจัดงานงานรถไฟและงานขนส่งตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ฯ ข้อ ๓ และ ๓๖(๒) โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลา มีปัญหาตามอุทธรณ์ของจำเลยว่าโจทก์มีสิทธิได้รับค่าจ้างสำหรับเวลาทำงานเกินวันละ ๘ ชั่วโมงไปอีก ๔ ชั่วโมง นอกเหนือจากค่าตอบแทนพิเศษซึ่งโจทก์ได้รับไปแล้วหรือไม่ เห็นว่า เมื่อนายสถานีหรือผู้ช่วยนายสถานีต้องทำงานวันละ ๑๒ ชั่วโมงโดยนอกจากเงินเดือนได้รับเพียงเบี้ยเลี้ยงรับรถด่วนมาตั้งแต่ก่อนโจทก์เข้าทำงานแล้ว การที่โจทก์ยอมเข้าทำงานจึงถือได้ว่าเป็นการตกลงเข้าทำงานตามสภาพเช่นนั้น ส่วนที่ต่อมาจำเลยได้เปลี่ยนการจ่ายเบี้ยเลี้ยงรับรถด่วนเป็นจ่ายเงินค่าตอบแทนพิเศษ ก็ปรากฏว่าทำให้โจทก์ได้รับเงินมากกว่าเดิม นับว่าเป็นคุณแก่โจทก์ยิ่งกว่า ทั้งปรากฏว่าสหภาพแรงงานการรถไฟแห่งประเทศไทยก็ได้ตกลงกับจำเลยให้ถือว่าคำสั่งเรื่องค่าตอบแทนพิเศษเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างแล้ว โจทก์จึงต้องผูกพันได้รับเพียงค่าตอบแทนพิเศษตามคำสั่งของจำเลยเท่านั้น หามีสิทธิได้รับค่าจ้างสำหรับเวลาที่ทำงานเกินวันละ ๘ ชั่วโมงอีกไม่ ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ว่าการคิดค่าจ้างต้องคิดจากส่วนเฉลี่ยของเงินเดือนและค่าครองชีพที่โจทก์ได้รับ มิใช่คิดจากอัตราค่าจ้างขั้นต่ำนั้น เมื่อได้วินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีสิทธิ์ได้รับค่าจ้างสำหรับเวลาที่ทำงานเกินวันละ ๘ ชั่วโมงแล้ว จึงไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาที่โจทก์อุทธรณ์ต่อไป
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์.

Share