คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2762-2765/2528

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลแรงงานกลางกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า โจทก์มีสิทธิเรียกค่าทำงานในวันหยุดจากจำเลย (คุรุสภา) หรือไม่ เพียงใดเมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้เบื้องต้นว่า องค์การค้าของคุรุสภา และสำนักงานเลขาธิการคุรุสภาเป็นหน่วยงานของคุรุสภาองค์การค้าของคุรุสภาเป็นหน่วยงานที่หารายได้ส่วนสำนักงานเลขาธิการคุรุสภาที่โจทก์เป็นเจ้าหน้าที่ประจำอยู่นั้น มีหน้าที่เกี่ยวกับการดำเนินงานในหน้าที่ของคุรุสภาการที่ศาลแรงงานกลางกำหนดปัญหาวินิจฉัยว่า’สำนักงานเลขาธิการคุรุสภาอยู่ในบังคับของกฎหมายคุ้มครองแรงงานหรือไม่ โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของสำนักงานเลขาธิการคุรุสภาจะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานหรือไม่’ จึงเป็นการพิจารณาเพื่อจะนำไปสู่ประเด็นข้อพิพาทที่ได้กำหนดไว้
ตามพระราชบัญญัติครู พ.ศ.2488 อำนาจหน้าที่ของคุรุสภา ซึ่งดำเนินงานโดยสำนักงานเลขาธิการคุรุสภาไม่มีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับองค์การค้าของคุรุสภาที่มีการบริหารงานแยกไปต่างหาก จากสำนักงานเลขาธิการพนักงานเจ้าหน้าที่ก็เป็นคนละส่วน กันผู้บังคับบัญชาในการบริหารของหน่วยงานทั้งสองเป็น คนละคนระเบียบข้อบังคับที่ใช้ในแต่ละหน่วยก็แยกต่างหากจากกัน เมื่อสำนักงานเลขาธิการคุรุสภามิได้มีการ ดำเนินงานเพื่อหารายได้มาแบ่งปันกันระหว่างพนักงานแสดงว่า จำเลยไม่มีวัตถุประสงค์ในการแสวงหากำไรทางเศรษฐกิจจำเลยหาต้องอยู่ในบังคับของกฎหมายคุ้มครองแรงงานไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างประจำ โดยสังกัดสำนักงานเลขาธิการคุรุสภามีหน้าที่เกี่ยวกับการดำเนินงานของคุรุสภาทั้งในด้านการปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ในมาตรา ๖ และการหารายได้ทุก ๆ อย่างตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติครูพุทธศักราช ๒๔๘๘ รวมทั้งกิจการหารายได้ขององค์การค้าคุรุสภา เมื่อวันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๕๒๗ ซึ่งเป็นวันแรงงานแห่งชาติ ตามประกาศกระทรวงมหาดไทยกำหนดให้เป็นวันหยุดพิเศษ แต่จำเลยให้โจทก์ทำงานโดยไม่จ่ายค่าทำงานในวันหยุด ขอให้บังคับจำเลยให้จ่ายค่าทำงานในวันหยุดแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยเป็นสภาในกระทรวงศึกษาธิการ มีฐานะเป็นนิติบุคคลตั้งขึ้นโดยมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติครู พุทธศักราช ๒๔๘๘ สำนักงานเลขาธิการคุรุสภาจัดตั้งขึ้นตามมาตรา ๘ ทวิ แห่งพระราชบัญญัติครู พุทธศักราช ๒๔๘๘ มีเลขาธิการคุรุสภาเป็นผู้บังคับบัญชีเจ้าหน้าที่ของสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา และบริหารกิจการของสำนักงานเลขาธิการคุรุสภาขึ้นตรงต่อประธานกรรมการอำนวยการคุรุสภา สำนักงานเลขาธิการคุรุสภามีหน้าที่เป็นเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับการดำเนินงานของคุรุสภา ประสานงานและดำเนินการในเรื่องของครูกับหน่วยราชการหรือหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องกับครูประสานงานและดำเนินการเกี่ยวกับกิจการอื่นที่คุรุสภามอบหมาย และจัดทำรายงานประจำปีเกี่ยวกับครูเสนอต่อคุรุสภา ส่วนองค์การค้าของคุรุสภาเป็นหน่วยงานหาผลประโยชน์ของคุรุสภา ตั้งขึ้นตามมติของกรรมการอำนวยการคุรุสภา โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา ๕ (๓) แห่งพระราชบัญญัติครู พุทธศักราช ๒๔๘๘ มีผู้อำนวยการองค์การค้าของคุรุสภาเป็นผู้บังคับบัญชา มีคณะกรรมการองค์การค้าของคุรุสภาเป็นกรรมการบริหาร สำนักงานเลขาธิการคุรุสภาและองค์การค้าของคุรุสภาก่อตั้งขึ้นคนละคราว มีกิจการแยกต่างหากจากกัน นอกจากจะมีผู้บังคับบัญชาคนละคนแล้วการบริหารงานภายในยังมีระเบียบและข้อบังคับที่กฎหมายให้อำนาจส่วนของตนโดยเอกเทศ คือการบริหารงานของสำนักงานเลขาธิการคุรุสภาถือปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการโดยอนุโลม เป็นงานที่ต้องปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ของคุรุสภาตามมาตรา ๖ (๑) ถึง (๕) ซึ่งไม่มีวัตถุประสงค์ในการแสวงหากำไรในทางเศรษฐกิจส่วนการบริหารงานขององค์การค้าของคุรุสภาเป็นไปตามระเบียบคุรุสภาว่าด้วยการบริหารองค์การค้าของคุรุสภา พุทธศักราช ๒๕๐๓ การแบ่งแยก การจัดองค์กรก็เป็นอิสระแตกต่างจากกันไม่ขึ้นแก่กัน ดังนั้นไม่ว่าองค์การค้าของคุรุสภาจะเป็นกิจการที่แสวงหากำไรทางเศรษฐกิจอันเป็นผลให้ต้องอยู่ในบังคับแห่งประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ ๑๐๓ เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ก็หามีผลกระทบหรือครอบคลุมถึงสถานะของสำนักงานเลขาธิการคุรุสภาไม่ ตามอำนาจหน้าที่ของสำนักงานเลขาธิการคุรุสภาดังกล่าวแล้ว เห็นได้ว่า สำนักงานเลขาธิการคุรุสภามิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไรในทางเศรษฐกิจ จึงเป็นกิจการอื่นที่กระทรวงมหาดไทยได้กำหนดมิให้ใช้บังคับประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ ๑๐๓ ข้อ ๒ และ ๑๔ ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานลงวันที่ ๑๖ เมษายน ๒๕๑๕ ข้อ ๑ (๔) ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดกิจการที่มิให้ใช้บังคับตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ ๑๖ เมษายน ๒๕๑๕ ข้อ ๒ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า คดีนี้ ศาลแรงงานกลางได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า โจทก์มีสิทธิเรียกค่าทำงานในวันหยุดจากจำเลยหรือไม่เพียงใดและทางพิจารณาของศาลแรงงานกลางปรากฏข้อเท็จจริงรับฟังได้เบื้องต้นว่าองค์การค้าของคุรุสภาและสำนักงานเลขาธิการคุรุสภาเป็นหน่วยงานของคุรุสภาองค์การค้าของคุรุสภาเป็นหน่วยงานที่หารายได้ ส่วนสำนักงานเลขาธิการคุรุสภาที่โจทก์ทั้งสี่เป็นเจ้าหน้าที่ประจำอยู่นั้น มีหน้าที่เกี่ยวกับการดำเนินงานในหน้าที่ของคุรุสภา ฉะนั้นการที่ศาลแรงงานกลางกำหนดปัญหาวินิจฉัยดังกล่าว จึงเป็นการพิจารณาเพื่อจะนำไปสู่ประเด็นข้อพิพาทที่ได้กำหนดไว้ และปรากฏว่าสำนักงานเลขาธิการคุรุสภามิได้มีการดำเนินงานเพื่อหารายได้มาแบ่งปันกันระหว่างพนักงาน แสดงว่าจำเลยไม่มีวัตถุประสงค์ในการแสวงหากำไรในทางเศรษฐกิจจำเลยหาต้องอยู่ในบังคับของกฎหมายคุ้มครองแรงงานไม่
ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า พระราชบัญญัติครู พ.ศ. ๒๔๘๘ มาตรา ๘ ทวิ (๑) บัญญัติให้สำนักงานเลขาธิการคุรุสภามีหน้าที่เป็นเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับการดำเนินงานของคุรุสภาองค์การค้าของคุรุสภา เป็นองค์การจัดหาผลประโยชน์ของจำเลยซึ่งเป็นงานส่วนหนึ่งของจำเลย ดังนั้น องค์การค้าของคุรุสภาจึงย่อมตกอยู่ในหน้าที่ของสำนักงานเลขาธิการคุรุสภาที่จะเป็นผู้ดำเนินงานนั้น เห็นว่าพระราชบัญญัติครู พ.ศ. ๒๔๘๘ มาตรา ๘ ทวิ (๑) บัญญัติให้สำนักงานเลขาธิการคุรุสภามีหน้าที่เป็นเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับการดำเนินงานของคุรุสภา และอำนาจหน้าที่ของคุรุสภาได้บัญญัติไว้ในมาตรา ๖ ว่า “คุรุสภามีอำนาจและหน้าที่ดังต่อไปนี้
(๑) ให้ความเห็นแก่กระทรวงศึกษาธิการในเรื่องการจัดการศึกษาโดยทั่วไปหลักสูตร แบบเรียน อุปกรณ์ประกอบการเรียน การสอน การฝึกอบรม การวัดผลและประเมินผลการศึกษา การนิเทศการศึกษา และเรื่องอื่นที่เกี่ยวเนื่องโดยตรงกับการจัดการศึกษา
(๒) ควบคุมและสอดส่องจรรยา มรรยาท และวินัยของครู พิจารณาโทษครูผู้ประพฤติผิด และพิจารณาคำร้องทุกข์ของครู
(๓) พิทักษ์สิทธิของครูภายในขอบเขตที่กฎหมายกำหนด
(๔) ส่งเสริมให้ครูได้รับสวัสดิการต่าง ๆ ตามสมควร
(๕) พัฒนาความรู้ ความสามารถ คุณภาพ และประสิทธิภาพของครู”
จากบทบัญญัติดังกล่าว จะเห็นได้ว่าอำนาจหน้าที่ของคุรุสภาซึ่งดำเนินงานโดยสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา ไม่มีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับองค์การค้าของคุรุสภาสำหรับกิจการขององค์การค้าคุรุสภามีการบริหารงานแยกไปต่างหากจากสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา พนักงานเจ้าหน้าที่ก็เป็นคนละส่วนกัน ผู้บังคับบัญชาในการบริหารงานของหน่วยงานทั้งสองเป็นคนละคน โดยองค์การค้าของคุรุสภามีผู้อำนวยการองค์การค้าของคุรุสภาเป็นผู้ดำเนินงาน ส่วนสำนักงานเลขาธิการคุรุสภามีเลขาธิการคุรุสภาเป็นผู้บริหารงาน ระเบียบข้อบังคับที่ใช้ในแต่ละหน่วยงานก็แยกต่างหากจากกัน สำนักงานเลขาธิการคุรุสภาจึงไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับองค์การค้าของคุรุสภาแต่อย่างใด
พิพากษายืน

Share