แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
การที่ อ. ได้ทำหนังสือเจตนาสละสิทธิครอบครองที่พิพาทซึ่งเป็นที่ดินไม่มีหนังสือสำคัญสำหรับที่ดินไว้ล่วงหน้าว่า เมื่ออ. ตายแล้ว ให้ที่พิพาทเป็นสิทธิแก่จำเลยเจ้าหนี้แทนการชำระหนี้เมื่อจำเลยยินยอมตามนี้โดยได้ครอบครองเพื่อตนตั้งแต่ อ. ตายก็เป็นสิทธิที่คู่กรณีกระทำได้โดยชอบ ไม่เป็นการขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 656 วรรคสองและวรรคสุดท้ายการครอบครองที่ดินของ อ.จึงเป็นอันสิ้นสุดลงเมื่ออ. ตายนับแต่นั้นมาจำเลยหาได้ครอบครองที่พิพาทแทน อ. หรือโจทก์ผู้เป็นทายาท อ. ไม่ จำเลยจึงไม่ตกอยู่ในฐานะเป็นผู้ยึดถือแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1381 ไม่จำต้องบอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะการครอบครองไปยังโจทก์ จำเลยย่อมได้สิทธิครอบครองที่พิพาทโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเอาที่พิพาทคืน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาว่า ที่ดินหมายเลข 1, 4 ในแผนที่พิพาทเป็นของโจทก์ ห้ามจำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้อง ให้จำเลยแบ่งแยกน.ส.3 ก. เลขที่ 453, 454 สำหรับส่วนที่เป็นของโจทก์คืนให้แก่โจทก์ จำเลยให้การว่า ที่ดินพิพาทเป็นของจำเลย คดีโจทก์ขาดอายุความขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยคืนที่ดินบางส่วนของที่พิพาทหมายเลข 1กับที่ดินหมายเลข 4 ตามแผนที่สังเขป ซึ่งเป็นที่ดินบางส่วนตามน.ส.3 เลขที่ 453, 454 ให้แก่โจทก์ จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาวินิจฉัยเบื้องแรกว่า ข้อตกลงเกี่ยวกับที่พิพาทที่ทำกันไว้ระหว่างนายอ่อนสาบิดาโจทก์กับจำเลยดังกล่าวมีผลผูกพันบังคับได้เพียงใดหรือไม่ ในปัญหานี้ปรากฏตามข้อตกลงในเอกสารดังกล่าวข้อ 4 และข้อ 5 ดังนี้
ฯลฯ
4. ที่ดินรายนี้ถ้าข้าพเจ้าไม่ตายมีชีวิตอยู่จะนำเงินจำนวน3,000 บาท (ซึ่งระบุไว้ข้างต้นว่าเป็นเงินค่าที่นำมาจำนองไว้)มาชำระเอาที่ดินคืน
5. ถ้าข้าพเจ้าตายและไม่มีชีวิต ที่ดินรายจำนองนี้ข้าพเจ้าขอมอบให้นายเขียน ศรีเล็ก พี่เขยถือเป็นกรรมสิทธิ์ต่อไป
ฯลฯ
ศาลฎีกาเห็นว่า ข้อความที่ปรากฏในเอกสารหมาย ล.1 อันเป็นหลักฐานการกู้ยืมเงินข้างต้นบ่งแสดงเจตนาของนายอ่อนสา ศรีเนตรผู้ทำหลักฐานดังกล่าวให้ไว้แก่จำเลยเป็น 2 กรณี กล่าวคือ ในกรณีที่นายอ่อนสาสามารถนำเงินจำนวน 3,000 บาท มาชำระคืนแก่จำเลยได้ในระหว่างที่ยังมีชีวิตอยู่ ก็จะขอให้จำเลยส่งคืนที่พิพาทที่ได้มอบให้ครอบครองแทนในระหว่างที่ยังเป็นหนี้กรณีหนึ่ง แต่ถ้านายอ่อนสาถึงแก่ความตายโดยยังมิได้ชำระหนี้และรับมอบที่พิพาทคืนตามสัญญาข้อ 4 ก็ให้ที่พิพาทตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยโดยปราศจากเงื่อนไขใด ๆ อีกกรณีหนึ่ง ซึ่งกรณีหลังนี้เป็นเรื่องนายอ่อนสาได้ทำหนังสือเจตนาสละสิทธิครอบครองที่พิพาทซึ่งเป็นที่ดินไม่มีหนังสือสำคัญสำหรับที่ดินไว้ล่วงหน้าว่า เมื่อนายอ่อนสาตายแล้วให้ที่พิพาทเป็นสิทธิแก่จำเลยเจ้าหนี้แทนการชำระหนี้ เมื่อจำเลยยินยอมตามนี้โดยได้ครอบครองเพื่อตนตั้งแต่นายอ่อนสาตาย ก็เป็นสิทธิที่คู่กรณีกระทำได้โดยชอบ ไม่เป็นการขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 656 วรรคสอง และวรรคสุดท้าย ดังนั้นการครอบครองที่ดินของนายอ่อนสาจึงเป็นอันสิ้นสุดลงเมื่อนายอ่อนสาตาย นับแต่นั้นมาจำเลยหาได้ครอบครองที่พิพาทแทนนายอ่อนสาหรือโจทก์ผู้เป็นทายาทนายอ่อนสาไม่ จำเลยจึงไม่ตกอยู่ในฐานะเป็นผู้ยึดถือแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1381 ไม่จำต้องบอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะการครอบครองไปยังโจทก์จำเลยย่อมได้สิทธิครอบครองที่พิพาท โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเอาที่พิพาทคืนได้ คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาจำเลยฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์