แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่ พ.ร.บ. คณะสงฆ์บัญญัติไว้ว่า พระภิกษุซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งตามบทแห่ง พ.ร.บ.นี้ ให้ถือว่าเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายลักษณะอาญานั้น บ่งชัดถึงอำนาจและหน้าที่ กล่าวคือ เมือมีอำนาจในวัดเหมือนกับเจ้าพนักงานแล้ว หากกระทำผิดในหน้าที่ก็จะต้องเป็นผิดฐานเจ้าพนักงานกระทำความผิดด้วย
การลดโทษ ที่มีเหตุอันเข้าลักษณะทั้งกฎหมายเก่าและกฎหมายใหม่นั้น เมือได้ทำผิดขณะใช้กฎหมายเก่า ก็ควรอ้างกฎหมายเก่า คือ ก.ม. ลักษณะอาญา มาตรา 59 เป็นเหตุลดโทษ.
( ตามแบบอย่างฎีกา ที่ 1879/2500 )
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นสามสำนวน ว่าขณะเกิดเหตุจำเลยเป็นพระภิกษุได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัด พระพุทธบาท ใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ในทางทุจริต เบียดบังยักยอกเอาทรัพย์ของวัด ไปเป็นประโยชน์ส่วนตัวและรับสินบน
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยผิดตาม ก.ม. ลักษณะอาญา มาตรา ๑๓๑, ๑๓๒, ๑๓๖,๑๓๗,๑๓๘ ให้รวม กระทงลงโทษจำเลย ลดแล้วคงจำคุก ๒ ปี
ศาลอุทธรณ์ฟังว่าจำเลยไม่ได้กระทำผิด พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยทำผิดฐานรับสินบนสถานเดียว พิพากษาแก้ว่าจำเลยผิดตาม ก.ม.ลักษณะอาญามาตรา ๑๓๘ วรรคต้น ให้รวมกระทงลงโทษจำเลย ลดตาม ก.ม.ลักษณะอาญา มาตรา ๕๙ แล้วคงจำคุก ๑ ปี ส่วนที่จำเลยแก้ฎีกาโต้แย้งว่าตาม พ.ร.บ. คณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๔๘๔ มาตรา ๕๗ ซึ่งว่า “พระภิกษุซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ตามบทแห่งพระราชบัญญัตินี้ ให้ถือว่าเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายลักษณะอาญา ” นั้น เป็นการให้อำนาจไว้เพื่อควบคุมและคุ้ม ครองอย่างเดียวกับเจ้าพนักงานเท่านั้น มิได้มีผลบังคับว่าถ้าทำผิดจะต้องเป็นเรื่องเจ้าพนักงานกระทำผิด้วย โดยตรงดังที่กฎหมายลักษณะอาญาบัญญัติไว้ในเรื่องเจ้าพนักงานกระทำผิด จึงไม่ควรใช้บทกฎหมายอันเกี่ยวด้วยเจ้าพนักงานกระทำความผิดมาลงโทษจำเลยนั้นศาลฎีกาเห็นว่า คำว่า “ให้ถือว่าเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายลักษณะอาญา ” นั้น บ่งชัดถึงอำนาจและหน้าที่พร้อมมูลทั้งสองประการ กล่าวคือ เมื่อมีอำนาจในวัดเหมือนกับเจ้าพนักงานแล้ว หากกระทำผิดในหน้าที่ก็ต้องเป็นผิดฐานเจ้าพนักงานกระทำความผิดด้วย.