แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยกระทงละ 1 ปี รวม 40 กระทง ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ยังคงลงโทษจำเลยแต่ละกระทงตามที่ศาลชั้นต้นกำหนด แต่เห็นว่าจำเลยกระทำความผิดเพียง 13 กระทง ถือว่าเป็นการแก้ไขเล็กน้อย จำเลยจึงฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงไม่ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง
ข้อเท็จจริงตามทางพิจารณาฟังได้ว่า จำเลยเป็นผู้ใช้ให้ผู้อื่นกระทำความผิดฐานปลอมเอกสารและปลอมเอกสารสิทธิ มิใช่เป็นตัวการดังที่โจทก์ฟ้อง เป็นการแตกต่างกันในข้อสาระสำคัญ ย่อมลงโทษจำเลยฐานเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิดไม่ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง แต่การกระทำของจำเลยถือได้ว่าเป็นความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดฐานปลอมเอกสารและปลอมเอกสารสิทธิตาม ป.อ. มาตรา 86 ศาลมีอำนาจลงโทษจำเลยฐานเป็นผู้สนับสนุนได้ ไม่จำต้องยกฟ้อง
การลงลายมือชื่อแทน แม้เจ้าของลายมือชื่อจะให้ความยินยอมก็ไม่ทำให้เป็นลายมือชื่อที่แท้จริง จึงเป็นเอกสารปลอม
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกันคือ ระหว่างวันที่ 11 ธันวาคม 2534 เวลากลางวันถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2535 เวลากลางวัน จำเลยซึ่งได้รับมอบหมายจากธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) ผู้เสียหาย ให้ทำหน้าที่เป็นผู้จัดการของผู้เสียหาย สาขาประจวบคีรีขันธ์ มีหน้าที่จัดการดูแลทรัพย์สินของผู้เสียหายซึ่งเป็นผู้มีอาชีพและธุรกิจอันย่อมเป็นที่ไว้วางใจของประชาชนได้ปลอมลายมือชื่อนางสาวทองสุข นางสาวนิภา นายบุญชัย ในคำขอกู้เงิน ช่องผู้ขอกู้ แบบรายการสำรวจหลักทรัพย์ในช่องผู้ขอกู้ ในช่องผู้นำสำรวจทรัพย์สินและผู้ถือกรรมสิทธิ์ หนังสือมอบอำนาจให้จำนองหนังสือมอบอำนาจให้ขึ้นวงเงินจำนอง หนังสือมอบอำนาจให้ซื้อดิน ในช่องผู้รับมอบอำนาจสัญญากู้เงินและบันทึกข้อตกลงต่อท้ายสัญญากู้เงินช่องผู้กู้ ใบรับเงินและแคชเชียร์เช็คในช่องผู้รับเงินอันเป็นเอกสารและเอกสารสิทธิปลอมรวม 40 ครั้ง คิดเป็นเงิน 4,500,000 บาท โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหาย นางสาวทองสุข นางสาวนิภา และนายบุญชัย และจำเลยได้กระทำขึ้นเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง จำเลยได้ใช้เอกสารที่ปลอมขึ้นดังกล่าวแสดงต่อผู้เสียหายหลายครั้ง เป็นเหตุให้ผู้เสียหายและพนักงานของผู้เสียหายหลงเชื่อแล้วจำเลยยักยอกเงินจำนวนดังกล่าวไปโดยสุจริต ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264, 265, 268, 352, 353, 354, 91 ให้จำเลยคืนหรือใช้เงิน 4,500,000 บาท แก่ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) ผู้เสียหาย
จำลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ก่อนสืบพยาน โจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอถอนคำร้องทุกข์ในข้อหายักยอกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352, 353 และ มาตรา 354 โจทก์และจำเลยแถลงไม่ค้าน ศาลชั้นต้นสั่งจำหน่ายคดีเฉพาะข้อหายักยอกเสียจากสารบบความ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 วรรคแรก, 265 ประกอบด้วยมาตรา 86, 268 วรรคแรก ประกอบด้วยมาตรา 265 เนื่องจากจำเลยเป็นผู้ปลอมเอกสารสิทธิและใช้เอกสารสิทธิปลอมนั้นเอง จึงให้ลงโทษฐานใช้เอกสารสิทธิปลอมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบด้วยมาตรา 265 ตามมาตรา 268 วรรคสอง การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำคุกกระทงละ 1 ปี รวม 40 กระทง เป็นจำคุก 40 ปี แต่กรณีความผิดดังกล่าวกฎหมายกำหนดอัตราโทษจำคุกอย่างสูงห้าปีซึ่งมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสามปีแต่ไม่เกินสิบปี จึงให้ลงโทษจำคุกเพียง 20 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (2) คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 วรรคแรก, 265 ประกอบด้วยมาตรา 84, มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 264 วรรคแรก และมาตรา 265 ให้ลงโทษจำเลยฐานเป็นผู้ใช้ให้ปลอมเอกสารสิทธิและใช้เอกสารสิทธิปลอม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 265 แต่กระทงเดียว การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำคุกกระทงละ 1 ปี รวม 13 กระทง เป็นจำคุก 13 ปี จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ร่วมทั้งหมดแล้ว อันเป็นการพยายามบรรเทาผลร้ายแห่งความผิด นับว่าเป็นเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 8 ปี 8 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยกระทงละ 1 ปี รวม 40 กระทง ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ยังคงลงโทษจำเลยแต่ละกระทงตามที่ศาลชั้นต้นกำหนด แต่เห็นว่าจำเลยกระทำความผิดเพียง 13 กระทง ถือว่าเป็นการแก้ไขเล็กน้อย จำเลยจึงฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงไม่ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยไม่ได้ใช้ให้นางสาวอุไร ปลอมลายมือชื่อนางสาวทองสุข กับ นางสาวนิภา และไม่ได้ใช้ให้นายธรรมนูญ ปลอมลายมือชื่อนายบุญชัย ในหนังสือมอบอำนาจ เอกสารการกู้ยืมเงิน และเอกสารการรับเงินกู้จากโจทก์ร่วมและฎีกาว่าจำเลยขาดเจตนาในการกระทำความผิด เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามบทบัญญัติดังกล่าว ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัย และเมื่อคดีนี้มีปัญหาแต่เฉพาะข้อกฎหมาย การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายนั้นศาลฎีกาต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ได้วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 222 ซึ่งคดีนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ฟังข้อเท็จจริงว่าตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยใช้ให้นางสาวอุไร ปลอมลายมือชื่อนางสาวทองสุข กับนางสาวนิภา และใช้ให้นายธรรมนูญ ปลอมลายมือชื่อนายบุญชัย ในหนังสือมอบอำนาจ เอกสารการกู้ยืมเงิน และเอกสารการรับเงินกู้จากโจทก์ร่วมหลายครั้งรวมเป็นเงิน 4,500,000 บาท
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกมีว่า เมื่อฟังได้ว่า จำเลยใช้ให้กระทำความผิดแตกต่างจากฟ้อง จะต้องยกฟ้องหรือไม่ เห็นว่า เมื่อฟังได้ว่าจำเลยเป็นผู้ใช้ให้นางสาวอุไร และนายธรรมนูญ กระทำความผิดฐานปลอมเอกสารและปลอมเอกสารสิทธิ มิใช่เป็นตัวการดังที่โจทก์ฟ้อง ซึ่งเป็นการแตกต่างกันในข้อสาระสำคัญ ย่อมลงโทษจำเลยฐานเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิดไม่ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสอง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ลงโทษจำเลยในข้อหาเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิดไม่ถูกต้อง แต่การกระทำความผิดของจำเลยดังกล่าวถือได้ว่าเป็นความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดฐานปลอมเอกสารและปลอมเอกสารสิทธิ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 ซึ่งศาลมีอำนาจลงโทษจำเลยฐานเป็นผู้สนับสนุนได้ ไม่จำต้องยกฟ้อง เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยและปรับบทกฎหมายให้ถูกต้องได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 86 ซึ่งศาลมีอำนาจลงโทษจำเลยฐานเป็นผู้สนับสนุนได้ ไม่จำต้องยกฟ้อง เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยและปรับบทกฎหมายให้ถูกต้องได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225……..
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการสุดท้ายมีว่า การที่นางสาวทองสุข และนางสาวนิภายอมให้นางสาวอุไรลงลายมือชื่อของนางสาวทองสุขและนางสาวนิภาแทน นายบุญชัยยอมให้นายธรรมนูญลงลายมือชื่อของนายบุญชัยแทน ทำให้เอกสารดังกล่าวตามฟ้องไม่เป็นเอกสารปลอมหรือไม่ เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่านางสาวทองสุข และนายบุญชัยไม่ได้ลงลายมือชื่อในเอกสาร แต่นางสาวอุไรและนายธรรมนูญเป็นผู้ลงลายมือชื่อแทน แม้นางสาวทองสุข นางสาวนิภา และนายบุญชัยจะให้ความยินยอมก็ไม่ทำให้ลายมือชื่อปลอมกลายเป็นลายมือชื่อจริง ดังนั้น เอกสารดังกล่าวจึงเป็นเอกสารปลอม ฎีกาของจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 วรรคแรก และมาตรา 265 ประกอบมาตรา 86, มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 264 วรรคแรก และมาตรา 265 จำเลยใช้เอกสารและเอกสารสิทธิโดยเป็นผู้สนับสนุนให้ปลอมเอกสารและเอกสารสิทธินั้นเอง ให้ลงโทษฐานใช้เอกสารและเอกสารสิทธิปลอมแต่กระทงเดียว ตามมาตรา 268 วรรคสอง ซึ่งการใช้เอกสารและเอกสารสิทธิในแต่ละครั้ง เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานใช้เอกสารสิทธิปลอมซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7