คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3975/2553

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

การฟ้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลตาม ป.พ.พ. มาตรา 237 เป็นการให้สิทธิแก่เจ้าหนี้ที่จะสงวนไว้ซึ่งกองทรัพย์สินของลูกหนี้ เพราะทรัพย์สินของลูกหนี้ย่อมเป็นหลักประกันในการชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 214 ดังนั้น เจ้าหนี้ผู้มีสิทธิร้องขอให้ศาลเพิกถอนการฉ้อฉลจึงหมายถึงเจ้าหนี้ที่มีสิทธิเรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้ของตนจากทรัพย์สินของลูกหนี้และต้องเสียเปรียบจากการที่ทรัพย์สินของลูกหนี้ลดลงไม่พอชำระหนี้อันเนื่องมาจากการทำนิติกรรมฉ้อฉลของลูกหนี้ ไม่ว่าเจ้าหนี้ดังกล่าวจะเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาหรือไม่ก็ตาม แม้เจ้าหนี้ในหนี้ที่ยังไม่ได้มีการฟ้องร้องบังคับให้ชำระหนี้ก็มีสิทธิที่จะร้องขอให้เพิกถอนได้เมื่อโจทก์แจ้งความดำเนินคดีอาญาและฟ้องเรียกเงินคืนจากจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ย่อมทราบว่าตกเป็นลูกหนี้ที่จะต้องชำระหนี้ให้แก่โจทก์ การที่จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 โดยเสน่หา และไม่มีทรัพย์สินอื่นที่จะให้โจทก์บังคับคดีได้อีกนอกจากที่ดินพิพาทจำเลยที่ 1 ย่อมรู้อยู่ว่าเป็นทางให้โจทก์เจ้าหนี้เสียเปรียบ โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมซึ่งเป็นการฉ้อฉลนั้นเสียได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนสิทธิในที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เลขที่ 2241 เลขที่ดิน 90 ระหว่างจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2
จำเลยทั้งสองให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้น พิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 12241 (ที่ถูกคือ 2241) ระหว่างจำเลยที่ 1 กับที่ 2 ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน ให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าทนายความในชั้นอุทธรณ์ 1,000 บาท แทนโจทก์
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติตามสำนวนคดีที่คู่ความขอให้นำมาผูกติดกับสำนวนคดีนี้และบรรดาเอกสารในสำนวนที่จำเลยทั้งสองไม่ฎีกาโต้แย้งว่า เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2541 โจทก์ออกเงินร่วมลงทุนกับจำเลยที่ 1 และพวกเพื่อหาผลประโยชน์จากลูกค้าธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรร่วมกัน จากการร่วมทุนดังกล่าวต่อมาเดือนธันวาคมปีเดียวกันโจทก์ได้แจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอสิชลให้ดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยที่ 1 ในข้อหาฉ้อโกงประชาชน พนักงานสอบสวนสอบสวนแล้วมีความเห็นควรสั่งฟ้องและออกหมายจับจำเลยที่ 1 จากนั้นวันที่ 4 มกราคม 2543 โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 กับพวกเป็นคดีแพ่งต่อศาลชั้นต้นเรียกเงินที่แต่ละคนรับไปคืน ผลคดีพวกจำเลยที่ 1 ทุกคนยอมคืนเงินให้แก่โจทก์ โจทก์จึงบอกกล่าวถอนฟ้องเฉพาะจำเลยที่ 1 แล้วทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับพวกของจำเลยที่ 1 ศาลพิพากษาตามยอม ต่อมาวันที่ 29 เมษายน 2545 โจทก์ฟ้องเฉพาะจำเลยที่ 1 ต่อศาลแขวงนครศรีธรรมราชให้จำเลยที่ 1 คืนเงินที่รับไปพร้อมดอกเบี้ยจำนวน 176,750 บาท แก่โจทก์ จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ ศาลพิพากษาให้โจทก์ชนะคดี แต่จำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษา โจทก์จึงขอออกหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อดำเนินการยึดหรืออายัดทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ในการสืบหาทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 โจทก์พบว่าจำเลยที่ 1 ได้โอนที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ไปให้จำเลยที่ 2 โดยเสน่หา มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองประการแรกว่า ในการรับฟังพยานเอกสารนั้นศาลล่างทั้งสองรับฟังสำเนาคำฟ้องคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 19/2543 หมายเลขแดงที่ 976/2543 ของศาลชั้นต้น ระหว่างนางแนบ โจทก์ นางลำเจียก ที่ 1 นางสาครที่ 2 นางจารีย์ที่ 3 นางจุฑาพรที่ 4 จำเลย สำเนาคำฟ้องคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 306/2545 ของศาลแขวงนครศรีธรรมราช ระหว่างนางแนบ โจทก์ นางลำเจียก จำเลย สำเนาคำพิพากษาศาลแขวงนครศรีธรรมราช คดีแพ่งหมายเลขดำที่ 306/2545 หมายเลขแดงที่ 601/2545 และสำเนาสำนวนการสอบสวนของพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอสิชล โดยโจทก์ไม่ได้ส่งสำเนาเอกสารดังกล่าวให้แก่จำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 90 เป็นการชอบหรือไม่ เห็นว่า เอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารในสำนวนคดีเรื่องอื่นที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 90 วรรคสาม (1) บัญญัติเป็นข้อยกเว้นว่า คู่ความฝ่ายที่อ้างอิงไม่ต้องยื่นสำเนาเอกสารต่อศาลและไม่ต้องส่งสำเนาเอกสารให้คู่ความฝ่ายอื่น ดังนั้นโจทก์จึงไม่จำต้องส่งสำเนาเอกสารดังกล่าวให้แก่จำเลยทั้งสองก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่าเจ็ดวันตามมาตรา 90 วรรคหนึ่ง ดังที่จำเลยทั้งสองฎีกาและไม่ต้องห้ามมิให้ศาลรับฟัง ศาลล่างทั้งสองรับฟังพยานเอกสารดังกล่าวมาชอบแล้ว
ปัญหาวินิจฉัยต่อไปมีว่า โจทก์มีสิทธิร้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมการให้ที่จำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 โดยเสน่หาหรือไม่ โดยจำเลยทั้งสองฎีกาว่า ในวันที่จำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2543 นั้น โจทก์ยังไม่ได้เป็นเจ้าหนี้จำเลยที่ 1 เพียงแต่ยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 กับพวกเป็นคดีแพ่งต่อศาลชั้นต้นแล้วถอนฟ้องจำเลยที่ 1 ไปก่อนเท่านั้น ส่วนคดีแพ่งซึ่งโจทก์ฟ้องเฉพาะจำเลยที่ 1 ต่อศาลแขวงนครศรีธรรมราชในภายหลังก็ยังไม่ได้ยื่นฟ้อง โจทก์จึงไม่ใช่เจ้าหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237 ซึ่งจะร้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมการให้ระหว่างจำเลยทั้งสองได้ เห็นว่า การฟ้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลตามบทบัญญัติดังกล่าวเป็นการให้สิทธิแก่เจ้าหนี้ที่จะสงวนไว้ซึ่งกองทรัพย์สินของลูกหนี้เพราะทรัพย์สินของลูกหนี้ย่อมเป็นหลักประกันในการชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 214 ดังนั้นเจ้าหนี้ผู้มีสิทธิร้องขอให้ศาลเพิกถอนการฉ้อฉลจึงหมายถึงเจ้าหนี้ที่มีสิทธิเรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้ของตนจากทรัพย์สินของลูกหนี้และต้องเสียเปรียบจากการที่ทรัพย์สินของลูกหนี้ลดลงไม่พอชำระหนี้อันเนื่องมาจากการทำนิติกรรมฉ้อฉลของลูกหนี้ ทั้งนี้ไม่ว่าเจ้าหนี้ดังกล่าวจะเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาหรือไม่ก็ตาม แม้เจ้าหนี้ในหนี้ที่ยังไม่ได้มีการฟ้องร้องบังคับให้ชำระหนี้ก็มีสิทธิที่จะร้องขอให้เพิกถอนได้ ข้อเท็จจริงคดีนี้จากสำเนาสำนวนการสอบสวนของพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอสิชล ที่เป็นหลักฐานว่า โจทก์ได้แจ้งความดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยที่ 1 ในข้อหาฉ้อโกงประชาชนเมื่อปี 2542 และคำฟ้องคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 19/2543 หมายเลขแดงที่ 976/2543 ของศาลชั้นต้น ลงวันที่ 4 มกราคม 2543 ที่โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 1 กับพวกคืนเงินที่ฉ้อโกงไปนั้น ถือได้ว่าโจทก์อยู่ในฐานะเป็นเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 ในอันที่จะเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ลูกหนี้ชำระหนี้จากทรัพย์สินของตนแล้ว ตามสารบัญจดทะเบียนด้านหลังสำเนาหนังสือรับรองการทำประโยชน์ จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ในวันที่ 18 สิงหาคม 2543 ซึ่งเป็นระยะเวลาหลังจากโจทก์แจ้งความดำเนินคดีอาญาและฟ้องเรียกเงินคืนจากจำเลยที่ 1 ข้อเท็จจริงย่อมฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ทราบแล้วว่าตนตกเป็นลูกหนี้ที่จะต้องชำระหนี้ให้แก่โจทก์ เมื่อโจทก์เบิกความถึงทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 ไม่มีทรัพย์สินอื่นที่จะให้โจทก์บังคับคดีได้อีก จำเลยทั้งสองก็ไม่ถามค้านหรือนำสืบพยานหลักฐานในประเด็นนี้ให้ฟังได้เป็นอย่างอื่น กรณีจึงต้องฟังว่า นอกจากที่ดินพิพาทซึ่งจำเลยที่ 1 โอนให้จำเลยที่ 2 แล้ว จำเลยที่ 1 ไม่มีทรัพย์สินอื่นใดที่พอจะให้โจทก์บังคับชำระหนี้เอาได้อีก การที่จำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 โดยเสน่หา จำเลยที่ 1 ย่อมรู้อยู่ว่าเป็นทางให้โจทก์เจ้าหนี้เสียเปรียบ โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมซึ่งเป็นการฉ้อฉลนั้นเสียได้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยทั้งสองมานั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง คดีนี้เป็นคดีฟ้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลระหว่างจำเลยทั้งสอง อันเป็นการทำให้โจทก์เสียเปรียบไม่ได้รับชำระหนี้จากจำเลยที่ 1 มิได้ฟ้องขอบังคับชำระหนี้โดยตรงจากที่ดินพิพาท จึงเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ ที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าทนายความแทนโจทก์เป็นเงิน 5,000 บาท จึงเกินกว่าอัตราที่กำหนดไว้ในตาราง 6 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งเป็นการไม่ชอบ แม้จำเลยทั้งสองมิได้อุทธรณ์และศาลอุทธรณ์ภาค 8 ก็มิได้แก้ไข แต่ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5)”
พิพากษายืน ให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าทนายความในชั้นศาลชั้นต้น 3,000 บาท และค่าทนายความในชั้นฎีกา 1,500 บาท แทนโจทก์

Share